ประเทศไทยของเราได้ ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ นับตั้งแต่ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทร เทพยวรางกูร” เสด็จขึ้นทรง ราชย์เป็นพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ใหม่ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ท่ามกลางความปลื้มปีติยินดีของพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ

ตามที่มีการเล่าขานกันว่า รัชกาลที่ 1 โปรดทหาร...รัชกาลที่ 2 โปรดกวีและศิลปิน...รัชกาลที่ 3 โปรดช่างก่อสร้าง (วัด)...รัชกาลที่ 4 เป็นยุคสนิทธรรม...รัชกาลที่ 5 โปรดการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าเทียบเท่าอารยชน...รัชกาลที่ 9 โปรดราษฎร และคนที่เข้าเฝ้าฯได้ใกล้ชิดที่สุดเสมอไปก็คือราษฎร

หลายทศวรรษที่ผ่านมา “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไปทรงงานในหลากหลายด้าน เพื่อแบ่งเบาพระราชภารกิจอันหนักอึ้ง พร้อมกันนี้ ยังทรงน้อมนำพระราชจริยวัตรและพระราชดำริของบูรพกษัตริย์แห่งราช จักรีวงศ์ทุกพระองค์ มาเป็นแบบอย่างใน การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อชาติบ้าน เมืองและประชาชนชาวไทย ดังที่พระองค์ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา ให้ขึ้นดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรม โอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร”

...

“ข้าพระพุทธเจ้าขอ พระราชทานกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานต่อประเทศ ชาติและประชาชนชาวไทย เฉพาะพระพุทธ พระ ธรรม พระสงฆ์ เฉพาะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ท่ามกลางสันนิบาตนี้ว่า ข้าพเจ้าผู้เป็นสยามมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระ กรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานไว้ด้วยชีวิต จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญสงบสุขและความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่”

ความดังกล่าวนี้ นับเป็น “พระราชสัจจะ” ที่ได้พระราชทานไว้ และทรงยึดมั่นใน “พระราชสัจจะนี้” เสมอมา ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย โดยเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทบูรพกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์

ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติ “พระราชกรณียกิจด้านการศาสนา” เพื่อความวัฒนาสถาพรแห่งพระพุทธศาสนา โดย ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา ผ่านการตั้งเปรียญธรรมพระราชทานแก่พระภิกษุสามเณรที่สอบไล่ได้เปรียญธรรม 6 ประโยค และเปรียญธรรม 9 ประโยค ในช่วงเทศกาลวิสาขบูชา เป็นประจำทุกปี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เสด็จฯแทนพระองค์ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ขณะที่ “วัดเทวราชกุญชร” เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ก็เปรียบเสมือนบุญญานุสรณ์ของพระองค์ เนื่องจากทรงพระกรุณาพระราชทานพระพุทธรูปสำคัญและสิ่งของต่างๆ ตลอดจนเสด็จฯมายังวัดเทวราชกุญชร อยู่หลายครั้ง สร้างความปลื้มปีติให้บังเกิดแก่พุทธศาสนิกชนอย่างล้นพ้น

ส่วน “พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา” ทรงสนพระราชหฤทัยในการจัดการศึกษาให้แก่เยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลความเจริญ เพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสรับการศึกษา ขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมที่สุด ด้วยพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนไทยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรม โอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อปี พ.ศ.2553 และทรงพระ กรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชวโรกาส ให้นักเรียนทุนเข้าเฝ้าฯรับพระราชทานทุนการศึกษามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณในการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนไทยที่เรียนดี มีความขยันหมั่นเพียร แต่ฐานะยากจนให้ได้มีโอกาสศึกษาไปจนจบระดับปริญญา โดยไม่มีภาระผูกพันต้องใช้ทุนคืน นอกจากทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง ยังจะเป็น กำลังคนที่มีคุณค่าของประเทศชาติต่อไป

สำหรับ “พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข” มีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณ– ภาพชีวิตของราษฎร เนื่องจากทรงเห็นว่าการรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย เป็นปัจจัยสำคัญต่อความมั่นคงของชาติและเศรษฐกิจ เพราะผู้ที่มีสุขภาพอนามัยดี สามารถ ที่จะประกอบอาชีพได้อย่างเต็มกำลัง แต่ราษฎรที่อาศัยในชนบทห่างไกลความเจริญส่วนใหญ่มีฐานะความเป็นอยู่ยากจน เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยไม่มีแพทย์ให้การดูแลรักษา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้าง “โรง พยาบาลสมเด็จพระยุพราช” รวม 21 แห่งทั่วประเทศ เพื่อช่วยให้ราษฎรผู้ยากไร้ ได้มีสุขภาพอนามัยที่ดี พร้อมกันนี้ ยังเสด็จฯไปพระราชทานความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่ประสบภัยทั่วทุกภูมิภาคของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน เพื่อให้บริการรักษาแก่ผู้ประสบภัยที่เจ็บป่วย

...

อีกหนึ่งพระราชกรณียกิจสำคัญที่ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างมากคือ “พระราชกรณียกิจด้านการทหารและความมั่นคง” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยด้านการทหารมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และมีพระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ชัด ทั้งในกิจการของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ตลอดจนกิจการของตำรวจตระเวนชายแดน ทรงส่งเสริมให้กิจการทหารเจริญรุดหน้า อีกทั้งทรงเป็นมิ่งขวัญและกำลังใจสำคัญของเหล่าทหารหาญมาโดยตลอด

ในช่วงเกิดเหตุการณ์คุกคามความสงบและความมั่นคงของประเทศไทย ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการทหารอย่างแน่วแน่ โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ รวมทั้งคุ้มกันพื้นที่บริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชาที่เขาล้าน จังหวัดตราด แม้จะต้องทรงเสี่ยงภยันตราย แต่ด้วยความที่ทรงเป็นชายชาติทหาร และเพื่อความผาสุกของพสกนิกร จึงทรงปฏิบัติพระราชภารกิจดังกล่าวอย่างเต็มพระกำลัง ขณะเดียวกัน ก็ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะรัชทายาท ถวายความปลอดภัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างตามเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกแห่ง ตลอดจนบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆแทนพระองค์ ทั้งในกิจการในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแบ่งเบาพระราชภารกิจอันหนักอึ้ง

สมดังสัตย์ปฏิญาณที่ทรงให้คำมั่นไว้ว่า จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่าง โดยเต็ม กำลังสติปัญญาความสามารถ และโดยความ เสียสละ เพื่อความเจริญสงบสุขและความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย.

ทีมข่าวสตรีไทยรัฐ