“ประยุทธ์” เคาะมาตรา 44 ต่อลมหายใจผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ยืดระยะเวลาจ่ายค่าประมูลใบอนุญาตจากเหลือ 3 งวด เป็น 6 งวด ทยอยแบ่งจ่ายได้ แถมยังไม่เรียกคืน 500 คลื่นวิทยุ ที่จะครบกำหนด เม.ย.2560 ไปอีก 5 ปี ด้านเอกชนออกหน้ายินดี แต่ก็ยังไม่การันตีว่าปีหน้าจะไม่มีเจ๊ง เปิดโครงสร้างค่างวดใหม่ ลดภาระค่าใช้จ่ายได้กว่าครึ่ง
จากกรณีที่มีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มผู้ประกอบการสื่อทีวีดิจิทัล ขอให้ยืดเวลาจ่ายค่าประมูลใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการสื่อทีวีดิจิทัล ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เรียกประชุม คสช. พร้อมกับใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ปัญหาดังกล่าว
เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 20 ธ.ค.2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวภายหลังการประชุม ครม.ถึงการประชุม คสช.ก่อนการประชุม ครม.ว่า วันนี้มีวาระสำคัญ 3-4 เรื่อง เกี่ยวกับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ปัญหาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน รวมถึงการแก้ไขปัญหาในอดีต โดยจะออกมาตรา 44 3 เรื่อง ประมาณ 3-4 ฉบับ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้เดือดร้อน และขออย่าสร้างปัญหาให้ตนอีกก็แล้วกัน
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) เสนอ
...
โดยมีสาระสำคัญ การส่งเสริมและช่วยดูแลให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสามารถดำเนินงานต่อไปได้โดยไม่เจ๊งไปตั้งแต่ต้นมือ เนื่องจากเห็นว่ามีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีส่วนช่วยส่งเสริมในแง่ของการศึกษาและการขับเคลื่อนประเทศ จึงเปิดทางให้ผู้ประกอบการที่สุจริต แต่ไม่อาจชำระค่าประมูลใบอนุญาตได้ทันภายในเวลาที่กำหนด สามารถแบ่งจ่ายเงินค่าใบอนุญาตในงวดที่ 4 (กำหนดจ่ายในเดือน พ.ค.2560) ออกเป็น 2 งวดได้ และแบ่งระยะเวลาการจ่ายเป็นงวดละ 1 ปี อย่างไรก็ตามงวดที่ยืดระยะเวลาออกไปจะต้องเสียดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี และยังให้ขยายการจ่ายเงินค่าประมูลจากเดิมให้แบ่งจ่ายเป็น 6 งวด มีการจ่ายมาแล้ว 3 งวดยังค้างอีก 3 งวด แบ่งจ่ายใน 3 ปี เป็นให้จ่ายได้ 6 งวด ใน 6 ปี และในส่วนที่ยืดระยะเวลาให้มีดอกเบี้ย 1.5%ต่อปี
ทั้งนี้ การชำระค่าใบอนุญาตดังกล่าวไม่ให้นำมาใช้บังคับกับผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นในระบบดิจิทัล ที่ขอยกเลิกการประกอบกิจการหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ไม่ชำระค่าธรรมเนียมให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องชำระเงินเพิ่มทวีคูณ รวมดอกเบี้ย และอาจถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้
คำสั่งหัวหน้า คสช. ยังมีเนื้อหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการของวิทยุกระจายเสียง ที่สำนักงาน กสทช. จะยังไม่เรียกคืนคลื่นความถี่วิทยุ 500 คลื่นความถี่ ตามที่กำหนดไว้ในเดือน เม.ย.2560 ตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ.2555 และจะให้มีสิทธิ์ในการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและถือครองคลื่นความถี่ได้ตามขอบเขตและสิทธิ์เดิมไปอีก 5 ปี ตลอดจนให้คณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายดาวเทียมตามประกาศมัสต์ แครี่ (Must Carry) เป็นเวลา 3 ปี ปีละ 875 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 2,625 ล้านบาท เพราะปัจจุบันช่องทีวีดิจิทัลมีภาระต้องจ่ายค่าออกอากาศบนโครงข่ายดาวเทียมด้วย
นอกจากนี้ จะไม่มีการแต่งตั้งกรรมการ กสทช. เพิ่มเติม ตามที่มีกรรมการท่านหนึ่งอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ เนื่องจาก คสช.เห็นว่า กรรมการที่เหลืออยู่ 9 คน สามารถทำงานต่อไปได้ จะให้สรรหาเพิ่มก็ต่อ เมื่อเหลือกรรมการไม่ถึง 6 คน หรือจนกว่า พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการวิทยุกระจาย เสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ. กสทช.) ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะแล้วเสร็จก่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในวันที่ 28 ธ.ค.นี้ จะมีการประชุมบอร์ด กสทช. ถือเป็นนัดครั้งสุดท้ายของปี 2559 โดยจะนำเรื่องการออกมาตรการส่งเสริมทีวีดิจิทัล ตามคำสั่งมาตรา 44 มาหารือในที่ประชุมด้วย สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้วยการขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลจาก 6 งวด เป็น 9 งวด เริ่มตั้งแต่งวดที่ 4 เป็นต้นไป และการชำระเงินในงวดที่ 4 นั้น จะทำให้วงเงินที่ชำระลดลงราว 50% แต่หากผู้ประกอบการรายใดชำระล่าช้ากว่ากำหนด ก็ต้องจ่ายค่าปรับตามหลักเกณฑ์เดิมในอัตรา 7.5% ต่อปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการชำระเงินค่าประมูลของทีวีดิจิทัล 24 ช่องนั้น จะครบกำหนดชำระในเดือน พ.ค.ของทุกปี หากทุกรายยินยอมรับเกณฑ์ใหม่ตามคำสั่งมาตรา 44 การชำระค่าประมูลรวมทุกช่องงวดที่ 4 ประจำปี 2560 และปี 2561 จะชำระปีละ 4,291 ล้านบาท ส่วนปี 2562-2565 จะชำระปีละ 3,496 ล้านบาท จากเดิมจะต้องชำระในปี 2560 วงเงินรวม 8,582 ล้านบาท ส่วนปี 2561-2562 ชำระค่าประมูลปีละ 6,992 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากแยกเป็นค่าประมูลรายช่องที่จะต้องชำระค่าประมูลในงวดที่ 4 เดือน พ.ค.2560 ยกตัวอย่าง บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด เจ้าของทีวีดิจิทัล 3 ช่อง คือ (13, 28 และ 33) จากเดิมจะต้องชำระ 1,091.20 ล้านบาท แต่หากยอมรับเงื่อนไขขยายระยะเวลาออกไป งวดที่ 4 จะชำระเพียง 554.6 ล้านบาท บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์– วิทยุ จำกัด หรือช่อง 7 (35 เอชดี) เดิมชำระ 523 ล้านบาท ก็จะชำระเพียง 261.5 ล้านบาท บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด ช่อง 25 และบริษัทจีเอ็มเอ็ม วันทีวี จำกัด ช่อง 31 ในเครือแกรมมี่ เดิมชำระ 933 ล้านบาท ก็จะชำระ 466.50 ล้านบาท กลุ่มเนชั่นมี 2 ช่อง เดิมจะต้องชำระ 647.60 ล้านบาท เหลือ 323.8 ล้านบาท และไทยรัฐทีวี เดิมชำระ 521 ล้านบาท ก็จะชำระเพียง 260.50 ล้านบาท
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ในฐานะนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ เปิดเผยว่า นับเป็น เรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลเริ่มเข้าใจในปัญหาของช่องทีวีดิจิทัล การให้เลื่อนชำระค่าประมูลออกไปนั้น จะช่วยยืดอายุและผ่อนคลายเงื่อนไขด้านการเงินให้แก่ช่องดิจิทัลที่ยังเหลืออยู่พอสมควร อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ไม่ได้การันตีว่าทุกช่องจะอยู่รอดได้ในปีต่อไป “เรายังบอกไม่ได้ว่าจะไปรอดทั้งหมด เพราะการผ่อนชำระค่างวดเป็นเพียงปัจจัยเดียว การจะอยู่รอดหรือไม่ ต้องอาศัยอีกหลายปัจจัยประกอบ โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจ”
นายเขมทัตต์กล่าวว่า การตัดสินใจของรัฐบาลดังกล่าว น่าจะมาปัจจัยลบหลายอย่างประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจซบเซา, กรณีศาลปกครองที่เพิ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้ กสทช.บังคับธนาคารกรุงเทพจ่ายหนี้ค่างวดประมูลแทนช่องไทยทีวีของนางพันธุ์ทิพา ศุกนต์ไชย หรือ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” รวมทั้งการถูกเข้าซื้อกิจการของช่องทีวีดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสิริวัฒนภักดีที่เข้าไปซื้ออมรินทร์ทีวี และล่าสุดกลุ่มปราสาททองโอสถซึ่งเข้าไปซื้อช่อง One 31 เป็นต้น ส่วนกรณีของพีพีทีวีและช่องอื่นๆ ได้แก่ ช่องวัน, จีเอ็มเอ็ม 25, ไทยรัฐทีวี, ไบรท์ทีวี, สปริงนิวส์, เนชั่นทีวี และช่องนาว (Now) ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ กสทช.ช่วยยืดระยะเวลาการชำระเงินค่างวดประมูล ออกไปโดยไม่มีดอกเบี้ย รวมทั้งขอเยียวยาเรื่องอื่นๆนั้น คงต้องหารือกันว่าจะต้องถอนฟ้องหรือไม่อย่างไร หลังมีคำสั่งมาตรา 44