หลังจากที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ก่อสร้างบิ๊กโปรเจกต์โฮปเวลล์ไปในตอนที่แล้วนั้น (มหากาพย์ 'โฮปเวลล์' EP.1 ย้อนรอย 26 ปี อนุสรณ์แห่งความอัปยศ) วันนี้ ทีมข่าวฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจตามแนวโฮปเวลล์บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 โดยยังคงพบเสาตอม่อโฮปเวลล์อยู่ริมถนนวิภาวดีมากกว่าร้อยเสา ซึ่งแต่ละเสาล้วนแล้วแต่มีอายุมากกว่า 20 ปี ยังคงตั้งตระหง่านเป็นแลนด์มาร์กให้เด็กๆ ที่ไม่รู้เรื่องราวได้ซักถามพ่อแม่อยู่บ่อยๆ ว่า “มันคืออะไร?”
จาก ‘โฮปเวลล์’ สู่ ‘โฮปเฟล’ วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
ผู้ค้าขาย บริเวณชุมชนสวนผัก ถนนกำแพงเพชร 6 ซึ่งอาศัยอยู่มาตั้งแต่ยังไม่สร้างโฮปเวลล์ เผยกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้เป็นชุมชนริมทางรถไฟ มีทั้งคนพักอาศัยและค้าขาย ต่อมาทางการรถไฟฯ ได้เวนคืนที่บริเวณนี้ เพื่อสร้างโฮปเวลล์ แต่ก็ทิ้งร้างไว้สร้างไม่เสร็จสักที จนกระทั่งล่าสุด เมื่อมีโครงการสร้างรถไฟฟ้าก็ได้รื้อตอม่อเก่าออกเพื่อสร้างรถไฟฟ้า
“ชาวบ้านแถวนี้เดือดร้อนนะ เพราะฝุ่นเยอะ เขาก็อยากให้สร้างเสร็จเร็วๆ ในโครงการบอกปี 60 ก็ไม่รู้จะเสร็จตามกำหนดหรือเปล่า เพราะบางวันคนงานก็มานอนเล่นอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร คนงานเล่าให้ฟังว่า อุปกรณ์ไม่ครบทำงานไม่ได้ก็มี” ผู้ค้าขาย กล่าว
...
ผู้สื่อข่าว ได้เดินทางไปยังจุดก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต สถานีบางเขน และสอบถามวิศวกรหนุ่มจาก บ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) โดยเผยว่า ทางบริษัทได้รื้อเสาตอม่อโฮปเวลล์เก่าทิ้งไป เพื่อลงเสาใหม่ เพราะเสาเก่าไม่สามารถใช้งานต่อได้ แต่ก็ไม่ได้รื้อจนหมดยังเหลือตอม่อไว้บางส่วนที่ไม่ได้ขวางแนวการสร้างรถไฟฟ้า โดยวิธีการรื้อจะตัดออกเป็นท่อนๆ แล้วใช้รถเครนขนาด 130 ตัน ยกออกไปทิ้งที่ จ.สระบุรี
ส่วนสถานีบางเขนจุดนี้ เพิ่งจะรื้อเสาโฮปเวลล์เก่าริมถนนวิภาวดีทิ้งไปบางเสา เนื่องจากกีดขวางการสร้างสะพานคนข้ามไปยังฝั่ง ม.เกษตรฯ ถ้าไม่กีดขวางก็จะไม่รื้อ เพราะต้องใช้งบประมาณรื้อและขนย้ายไปทิ้งอีก และก็ไม่ทราบว่าตอม่อที่เหลืออยู่จะเอาไปใช้ทำประโยชน์อะไรได้บ้าง เพราะประเมินดูแล้วเสาค่อนข้างเก่าน่าจะต้องรื้อออกทำใหม่
ถัดจาก ม.เกษตรฯ ไปไม่ไกล ช่วงโรงแรมรามาการ์เด้นส์ จะพบสวนผักที่อยู่ใต้ตอม่อริมทางรถไฟ ซึ่งดูๆ แล้วออกจะคอนทราสต์กับสภาพแวดล้อมที่เห็นพอสมควร ผู้สื่อข่าวไม่รอช้า เดินเข้าไปสำรวจทันที จนได้พบกับ นางวรรณี มะลิทอง อายุ 48 ปี พนักงานดูแลปลูกผัก สำนักงานเขตหลักสี่ ให้ข้อมูลเรื่องสวนผักที่เห็นว่า โครงการนี้เป็น ‘โครงการหลักสี่ ที่ว่างริมทาง(รถไฟ)กินได้’ โดยเป็นโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยให้นำที่ว่างเปล่ามาปลูกผัก ซึ่งเขตหลักสี่ ได้รับความอนุเคราะห์พื้นที่จากการรถไฟฯ เพื่อพัฒนาเป็นแปลงปลูกผักสวนครัว เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างทัศนียภาพริมทางรถไฟให้สวยงาม แก้ปัญหาการลักลอบทิ้งขยะในที่ว่างริมทาง ทั้งนี้ผักสวนครัวที่นำมาปลูกเป็นผักที่ปลูกง่าย มีประโยชน์ ได้ผลผลิตเร็ว ประกอบด้วย ข้าวโพด ดอกกะหล่ำ ถั่วฝักยาว และฟัก รวมพื้นที่ประมาณ 1 ไร่
สำหรับโครงการนี้ เพิ่งเริ่มทำเมื่อต้นเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการเบิกงบของกองกลางหมวดสวน มาลงทุน จากนั้น เมื่อผลผลิตออกก็จะนำไปขายที่หน้าสำนักงานเขตหลักสี่ ซึ่งจะมีประชาชนและเจ้าหน้าที่คอยอุดหนุนอยู่เป็นประจำ
...
ตอม่อโฮปเวลล์เก่า ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง?
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ อดีตผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2555 ว่า จะมีการนำโครงสร้างบางส่วนของโครงการโฮปเวลล์ มาใช้ประโยชน์ในโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ประมาณ 50% และจะนำมาใช้เป็นส่วนต่อขยายโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ตลิงก์) ส่วนต่อขยายจากพญาไท บางซื่อ ดอนเมือง ประมาณ 60% นอกจากนี้ คาดว่า จะมีการทุบตอม่อทิ้ง และสร้างเป็นรูปแบบที่ทันสมัย โดยคาดว่าน่าจะดำเนินการแล้วเสร็จก่อนปี 2557
...
ขณะที่ปัจจุบันก็ได้รื้อเสาตอม่อโฮปเวลล์เก่า เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงแล้ว แต่ก็ยังมีตอม่อบางส่วนริมถนนวิภาวดีที่ยังไม่ได้รื้อ ผู้สื่อข่าว จึงได้สอบถามไปยัง ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ในฐานะนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ในประเด็นการนำเสาตอม่อโฮปเวลล์เก่าไปใช้ต่อได้หรือไม่นั้น
ศ.ดร.สุชัชวีร์ วิเคราะห์ว่า การใช้ต่อได้หรือไม่นั้น มองที่สายตาไม่ได้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวสร้างทิ้งไว้นาน และคอนกรีตกับเหล็กอาจจะรับกำลังได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น จึงต้องมีการทดสอบก่อนว่า เสาที่มีอยู่แต่ละต้นรับกำลังได้แค่ไหน เหมาะกับงานที่จะใช้หรือไม่ โดยการลองใช้น้ำหนักมากๆ ทดสอบ หรือใช้คลื่นไฟฟ้าส่งลงไปแล้วรับออกมาว่ามีกำลังเท่าไหร่
...
และหากพบว่าไม่เหมาะสมอาจจะทุบทำลาย หรืออาจจะเสริมแรง ซึ่งการเสริมแรงจะต้องใช้เทคโนโลยีที่มีมูลค่า ราคาสูง ถ้าลงทุนแล้วคุ้มค่าก็สามารถทำได้ แต่หากไม่คุ้มก็ต้องใช้วิธีทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ หรือหากเสาต้นนั้นจำเป็นต้องสร้างสถานีรถไฟฟ้าอาจจะต้องทุบแล้วทำใหม่ เนื่องจากว่าสถานีจะใช้น้ำหนักเยอะ การรับน้ำหนักของตอม่อโฮปเวลล์อาจจะรับไม่ไหว
“ถามว่าโครงสร้างเหล็กจะเสื่อมสภาพหรือไม่นั้น ถ้าเกิดว่าปูนไม่แตก ไม่เสื่อม น้ำไม่เข้า อากาศไม่เข้าก็ไม่เสื่อม แต่เหล็กที่โผล่มาปลายๆ บางส่วน มันเสื่อมแน่นอน ต้องตัดทิ้งแล้วต่อใหม่ ถ้าข้างในไม่ผุไม่ได้ใช้งานก็ไม่น่าจะเป็นอะไร แต่ต่อให้สภาพภายนอกสวยเนี้ยบ ถ้าเกิดโครงสร้างมาใหม่เป็นสถานีตัวนี้ไม่ได้ออกแบบมารับน้ำหนักมหาศาลขนาดนั้นก็ใช้งานไม่ได้อยู่ดี” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า สามารถประเมินมูลค่าในการรื้อถอนได้หรือไม่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ตอบว่า “ไม่สามารถประเมินได้ โดยถ้ารื้อออกค่าตัดราคาสูงอาจจะเป็นแสน การขนย้าย น้ำหนักต้องจ้างรถเครนเท่าไหร่ เสาเข็มขวางไหม ถ้าไม่ขวางก็ทิ้งไว้เฉยๆ ถ้าเกิดขวางเสาต้นใหม่ต้องมีการถ่ายน้ำหนักรับเสาเข็มก็อีกราคาหนึ่ง เพราะฉะนั้น มันมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะ ขึ้นอยู่กับกระบวนการ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ถือว่าเป็นงานใหญ่ แต่เป็นงานต้องมีมูลค่าและมีกระบวนการไม่น้อยทีเดียว ซึ่งส่วนใหญ่งบรื้อก็จะผูกไว้ในงบก่อสร้าง เพื่อให้ผู้รับเหมามารื้อ ส่วนคำถามที่ว่า เสาตอม่อเก่าเหล่านี้มีโอกาสจะพังถล่มลงมาไหมนั้น ผมคิดว่าไม่ถล่มลงมาแน่นอน เพราะเสามันเตี้ย”
ตอม่อ 319 ต้นที่เหลือ ร.ฟ.ท.จ่อรื้อถอน สร้างรถไฟฟ้า
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟฯ กล่าวว่า สำหรับการรื้อถอนโครงสร้างเสาโฮปเวลล์นั้น มีจำนวนทั้งหมด 1,109 ต้น ได้มีการรื้อถอนในโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ไปแล้วจำนวน 790 ต้น คงเหลือส่วนที่ยังไม่ได้รื้อถอน จำนวน 319 ต้น และการรถไฟฯ จะดำเนินการรื้อถอนในโครงการที่จะก่อสร้างในระยะต่อไป ดังนี้
1. ช่วงสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงสายสีแดงเข้ม
บางซื่อ-หัวลำโพง
งานรื้อถอนโครงสร้างเสาโฮปเวลล์ในโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง จำนวน 31 ต้น งบประมาณในการรื้อถอน เป็นเงินทั้งสิ้น 7,038,850 บาท
2. ช่วงต่อขยายโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ระยะที่ 2) ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง
งานรื้อถอนโครงสร้างเสาโฮปเวลล์ในโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) ส่วนต่อขยาย (ระยะที่ 2) ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง จำนวน 288 ต้น งบประมาณในการรื้อถอน เป็นเงินทั้งสิ้น 175,022,287 บาท
ทั้งนี้ เสาในโครงการโฮปเวลล์ จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- งานรื้อถอนโครงสร้างเสาโฮปเวลล์ Case 1 เป็นโครงสร้างคร่อมรางรถไฟแบบคาน 2 ชั้น จำนวน 166 ต้น ราคาค่ารื้อถอน 101,837,115 บาท
- งานรื้อถอนโครงสร้างเสาโฮปเวลล์ Case 2 เป็นโครงสร้างแบบเสาเดี่ยวจำนวน 82 ต้น ราคาค่ารื้อถอน 553,092 บาท
- งานรื้อถอนโครงสร้างเสาโฮปเวลล์ Case 3 เป็นโครงสร้างค่อมรางรถไฟแบบคาน 1 ชั้น จำนวน 40 ต้น ราคาคารื้อถอน 695,789 บาท
อย่างไรก็ตาม ราคาดังกล่าวนั้น เป็นเพียงราคากลาง ซึ่งประเมินโดยบริษัทที่ปรึกษา
ท้ายที่สุดนี้ คงต้องรอดูกันต่อไปว่า 'เสาตอม่อโฮปเวลล์' มรดกตกทอดจากบิ๊กโปรเจกต์ที่เหลืออยู่นี้ จะพัฒนาตามแผนของการรถไฟฯ ได้หรือไม่ หรือจะทิ้งไว้ต่อไป เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ลูกหลานได้เห็นถึงความอัปยศของโครงการ 8 หมื่นล้านในอดีต.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านเพิ่ม
- สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ