หลายท่านอาจเคยได้รับข้อมูลทางโลกโซเชียลว่า คลอรีนในน้ำประปาก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง
เมื่อนำน้ำประปามาหุงข้าว คลอรีนในน้ำประปาจะทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ในข้าว เกิดเป็น สารไตรฮาโลมีเทน ที่เป็นอันตรายถึงขั้นทำให้เป็นมะเร็งได้นั้น วันนี้ “มันมากับอาหาร” มีข้อเท็จจริงมาฝาก
ปกติการผลิตน้ำประปาจะเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนอยู่ในถังเก็บและระบบท่อจ่ายน้ำ และน้ำดิบที่นำมาผลิตน้ำประปาจะมีสารอินทรีย์ที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตปะปนอยู่ตามธรรมชาติ
เมื่อเติมคลอรีนลงไปในระหว่างกระบวนการฆ่าเชื้อโรค คลอรีน จะทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ ทำให้เกิดเป็นไตรฮาโลมีเทน ซึ่งเป็นสารอันตรายที่องค์กรระหว่างประเทศด้านการวิจัยมะเร็ง (IARC) จัดให้อยู่ในกลุ่มสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในคน
แล้วการบริโภคน้ำประปาจะทำให้เป็นมะเร็งหรือไม่?
ปกติการผลิตน้ำประปา จะมีขั้นตอนการปรับปรุงคุณภาพน้ำดิบ การตกตะกอน และการกรองทั้ง 3 ขั้นตอนนี้จะทำให้ปริมาณสารอินทรีย์ในน้ำลดลงไปมาก ส่วนที่จะเหลือมาทำปฏิกิริยากับคลอรีนในขั้นตอนการฆ่าเชื้อจนเกิดเป็น สารไตรฮาโลมีเทน ได้นั้นจึงมีปริมาณไม่มาก นั่นหมายถึงว่า ปริมาณ ไตรฮาโลมีเทน ที่มีในน้ำประปาจะมีอยู่ในระดับต่ำ ไม่เสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรคมะเร็ง
วันนี้ มันมากับอาหาร ได้ทดลองเก็บตัวอย่างน้ำประปาจากปลายท่อจ่ายน้ำที่สถาบันอาหาร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตบางพลัด จำนวน 2 ตัวอย่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ ไตรฮาโลมีเทน รวม (Total Trihalomethanes)
ผลวิเคราะห์พบว่าทั้ง 2 ตัวอย่าง มีปริมาณ ไตรฮาโลมีเทน รวมอยู่ที่ 70 และ 73 ไมโครกรัมต่อลิตร ตามมาตรฐานน้ำดื่มของประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดให้ในน้ำดื่มมีปริมาณ ไตรฮาโลมีเทน รวมสูงสุด ได้ไม่เกิน 80 ไมโครกรัมต่อลิตร ส่วนญี่ปุ่น กำหนดให้มีปริมาณไตรฮาโลมีเทน รวมสูงสุดในน้ำดื่มได้ไม่เกิน 100 ไมโครกรัมต่อลิตร
...
เห็นอย่างนี้แล้ว สบายใจกันได้เปลาะหนึ่ง สัปดาห์หน้ามาดูกันว่า เมื่อนำ น้ำประปามาหุงข้าวแล้วจะมีปริมาณ ไตรฮาโลมีเทน รวมเหลืออยู่ปริมาณเท่าใด.
