เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง และเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างก็ได้เร่งแก้ปัญหาเพื่อให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ติดยาเสพติดจำนวนไม่น้อย ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือผู้เสพยาเสพติดแนวใหม่ ภายใต้กรอบความคิด 'ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย' ที่จะต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง โดยแพทย์และพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ และหลังจากที่ผู้เสพได้รับการบำบัดรักษาแล้ว ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข โดยรัฐบาลจะให้การติดตามช่วยเหลือส่งเสริมการประกอบอาชีพ เพื่อให้ผู้เสพได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ “เปลี่ยนเพื่อครอบครัว เพื่ออนาคตที่ดีกว่า”
โดยแบ่งผู้เสพออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ "ผู้ใช้" คือใช้ยาเสพติดเป็นครั้งคราว, ระดับ "ผู้เสพ" คือติดใจในการเสพ มีความสุขเมื่อเสพ และมีแนวโน้มเสพบ่อยขึ้น และระดับ "ผู้ติด" ที่หมกมุ่นในการเสพ มีอาการเมายา ส่งผลต่อการเรียนหรือการทำงาน แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ใช้ยาเสพติดในระดับไหน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการตระหนักรู้ถึงพิษภัย ผลกระทบต่อตนเองและครอบครัว และการพยายามเปลี่ยนชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น ในทางที่ถูกต้องทั้งกฎหมายและศีลธรรม
ภาครัฐได้เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยยาเสพติดสามารถเข้าบำบัดรักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสพเพราะสามารถเข้ารับการบำบัดได้ที่โรงพยาบาลรัฐใกล้บ้านทุกแห่งทุกประเทศ ภายใต้การดูแลอย่างเอาใจใส่โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ มีการตรวจติดตามหลังการบำบัดรักษา พร้อมการพัฒนาฝึกวิชาชีพเพื่อให้นำไปเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต และประการสำคัญที่สุดคือ ผู้เสพที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลรัฐ จะสามารถสมัครงานได้โดยไม่เสียประวัติไม่โดนลงบันทึกอาชญากรรม
เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ผู้เสพหลายคนอาจจะคิดอยากเปลี่ยนเป็นคนใหม่ ด้วยการเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลของรัฐในฐานะ "ผู้ป่วย" และการเตรียมตัวเพื่อการบำบัดรักษาจะต้องทำอย่างไร มีกระบวนการอยู่ 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. เตรียมตัวเข้ารักษา (Pre-Admission) จะมีการตรวจร่างกาย เอกซเรย์ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และมีการสอบถาม ซักประวัติ สัมภาษณ์ กระตุ้นให้ผู้ติดยามีความตั้งใจในการรักษา
2. ขั้นถอนพิษยา (Detoxification) เป็นการบำบัดอาการทางกาย มีการให้ยาทดแทน เช่น เมธาโดน ยาสมุนไพร หรือให้เลิกทันที ที่เรียกว่า หักดิบ มีการดูแลสุขภาพด้านอื่นๆ และการป้องกันโรคแทรกซ้อน
3. ขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitation) เป็นการปรับสภาพร่างกายและจิตใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้อยู่ในสังคมได้ตามปกติ มีกิจกรรมอื่นๆ เช่น อบรมธรรมะ สันทนาการ ฝึกอาชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยนำความรู้ไปประกอบอาชีพหลังเสร็จสิ้นการรักษา
4. ขั้นการติดตามดูแล (After-Care) เป็นการติดตามดูแลผู้เลิกยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดรักษา ทั้ง 3 ขั้นตอน เพื่อให้คำแนะนำปรึกษา ให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือเพื่อไม่ให้หวนกลับไปเสพยาซ้ำอีก โดยดำเนินการเยี่ยมเยียน โทรศัพท์ นัดพบ ใช้แบบสอบถามและการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด

พึงระลึกเสมอว่า หากผ่าน 4 ขั้นตอนนี้ไป ชีวิตใหม่ที่สดใส อันแวดล้อมไปด้วยคนที่คุณรักและคนที่รักคุณยังคงรออยู่ เสมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพียงแค่เริ่มต้นยอมรับความจริง เข้าใจสถานะ การเสพยาเสพติดว่าเป็นอาการเจ็บป่วย ยอมรับตนเองว่าเป็นผู้ป่วย และหาทางเข้ารับการบำบัดรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลรัฐใกล้บ้านทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะรักษาและดูแลไปจนจบกระบวนการ รวมทั้งเติมเต็มประสบการณ์ด้านอาชีพด้วยการพัฒนาอาชีพเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อการกลับสู่สังคมอย่างมีความหวังอีกด้วย อย่าสิ้นหวังและท้อแท้กับสภาพการเป็นผู้เสพยา เพราะโอกาสในการเปลี่ยนเป็นคนใหม่ รอให้คุณคว้าอยู่ไม่ไกล "เปลี่ยนเพื่อครอบครัว เพื่ออนาคตที่ดีกว่า"