หนาวมา เกษตรกรริมโขงที่นครพนมยิ้มออก ลุยปลูกพืชผักสวนครัวไร้สารเคมี ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ยิ่งใกล้ปีใหม่-ตรุษจีน ผักแพง โกยเดือนละแสน ตลาดออเดอร์ไม่อั้น เก็บผลผลิตขายไม่ทัน...
วันที่ 6 ธันวาคม 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม หลังจากสภาพอากาศหนาวเย็นต่อเนื่อง อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดที่ประมาณ 14-15 องศาเซลเซียส บวกกับน้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นผลดีต่อเกษตรกรริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตพื้นที่ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ซึ่งพลิกผืนดินริมแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่การเกษตร ปลูกพืชผักสวนครัวตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9
โดยในช่วงฤดูหนาวทุกปี พื้นที่ ต.น้ำก่ำ เกษตรกรริมโขงจะน้อมนำเอาแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เน้นทำการเกษตรปลูกพืชผักสวนครัว ปีละหลาย 1,000 ไร่ อาทิ ผักกาด กะหล่ำ ต้นหอม ผักสลัด คะน้า มะเขือเทศ เพื่อนำผลผลิตส่งขายทั่วภาคอีสาน ยิ่งในช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่ยาวไปถึงตรุษจีน จะมีพ่อค้า แม่ค้า มาสั่งจองจนเก็บผลผลิตไม่ทัน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1 แสนบาทต่อครอบครัว ถือเป็นพื้นที่ทำเลทองที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างดี ที่สำคัญพื้นที่ริมโขงส่วนใหญ่จะเป็นดินตะกอนแม่น้ำโขงที่ไหลมาทับถมช่วงหน้าฝน ทำให้ปลูกพืชผักสวนครัวได้ผลผลิตดี เจริญเติบโตเร็ว และไม่ต้องใส่ปุ๋ย หรือสารเคมี
นายพัฒนากร บุตรวร อายุ 34 ปี เกษตรกรชาวบ้าน ต.น้ำก่ำ เปิดเผยว่า ทุกปีในช่วงฤดูหนาว หลังน้ำโขงลด จะมีพื้นที่สันดอนทราย รวมถึงพื้นที่ริมแม่น้ำโขง เป็นโอกาสดีของเกษตรกรในพื้นที่ ได้ปรับพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัว ถือเป็นอาชีพเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางของในหลวง รัชกาลที่ 9 ไม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น เน้นการปลูกพืชผักสวนครัวทั่วไปที่ขายตามท้องตลาด อาทิ ผักบุ้ง ผักกาด กะหล่ำ ต้นหอม คะน้า มะเขือเทศ เพราะสามารถขายได้ง่าย มีตลาดรองรับไม่อั้น ยิ่งในปีนี้ราคาผักแพง เพราะปัญหาภัยแล้ง หลายพื้นที่ปลูกยาก แต่พื้นที่ริมโขงได้เปรียบทั้งเรื่องดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ไม่ต้องใส่ปุ๋ยหรือสารเคมี พืชผักโตเร็ว และมีน้ำโขงรดผักได้ตลอดช่วงหน้าแล้ง ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการเกษตรหน้าหนาวเป็นอย่างดี
...
นายพัฒนากร เผยต่อว่า ส่วนใหญ่เกษตรกรจะทำแบบพอเพียงใช้แรงงานในครอบครัว ไม่ต้องว่าจ้างแรงงาน ลดต้นทุน ปีนี้ยอมรับพืชผักราคาแพง โดยเฉพาะผักสลัด คะน้า ราคากิโลกรัมละ 30-40 บาท ส่วนต้นหอมมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 60-70 บาท ยิ่งใกล้ปีใหม่จะแพงมากขึ้น บางรายขยันขายผักมีรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท ไม่ต้องเป็นหนี้สิน ทำแบบพอเพียง ใช้เวลาปลูกแค่ 3-4 เดือน เก็บผลผลิตได้ หลังจากนั้นเมื่อน้ำโขงเพิ่มจะไปทำนาตามปกติ หมุนเวียนตามฤดูกาล ที่สำคัญผักสวนครัวพื้นที่ริมโขง จะเป็นผักที่สะอาด ปลอดภัย ไร้สารพิษ ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด ยิ่งปีไหนอากาศหนาวยิ่งทำให้พืชผักโตเร็ว ทุกปีทำให้มีเงินสะพัดจากการปลูกผักของชาวบ้านในพื้นที่ปีละหลาย 10 ล้านบาท.