สำนักนายกฯ ส่งหนังสือถึง สนช. แจ้งเรื่องสถาปนาแต่งตั้งองค์รัชทายาท ขึ้นเป็น พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 29 พ.ย.59 หลังจากการประชุม สนช.นัดพิเศษเสร็จสิ้น บรรดากองทัพสื่อมวลชนทุกแขนง ที่มารอรายงานการประชุม ได้มารอแถลงที่โถงชั้นล่าง อาคารรัฐสภา 1 แต่ไม่มีประธาน หรือรองประธาน สนช. ลงมาแถลง มีเพียงเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติแจกเอกสาร เป็นหนังสือของสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ประทับตรา "ด่วนที่สุด" ที่ นร.0503/44549 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 ถึงสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงเลขรับที่ 12237 เวลา 10.08 นาฬิกา วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 เรื่อง แจ้งเรื่องการสถาปนาแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้แล้ว ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 กราบเรียนประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามที่ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 นั้น ถือว่าเป็นกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงและจำเป็นต้องมีการดำเนินการเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติต่อไปเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ในเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับขั้นตอนดังกล่าวในส่วนของรัฐบาลไว้ก่อนเพื่อสนองพระราชดำริในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารที่ว่า ยังไม่สมควรดำเนินการใดที่แสดงถึงการที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ในระหว่างที่ประชาชนอยู่ในภาวะทุกข์โศกและยากจะทำใจ พระองค์เองก็ทรงขอเวลาร่วมทุกข์และทำใจเช่นเดียวกับประชาชนจนกว่าพระราชพิธีพระบรมศพจะผ่านพ้นไประยะหนึ่ง ซึ่งมีพระราชดำริว่า เมื่อการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานผ่านพ้นจนถึงปัญญาสมวาร (ครบ 50 วัน) คือวันที่ 1 ธันวาคม 2559 แล้ว จึงค่อยพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งในระหว่างเวลานั้นรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อนอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีข้อขัดข้องใดๆ ในราชการบ้านเมือง

...

บัดนี้การพระราชพิธีพระบรมศพได้ล่วงเลยเวลาบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทานจนเข้าเขตปัญญาสมวาร (50 วัน) ทั้งประชาชนก็มีโอกาสเข้าถวายบังคมพระบรมศพแล้ว ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม ถึงบัดนี้ ประมาณ 1 เดือน มีจำนวนประมาณหนึ่งล้านคน รัฐบาลจึงนำความกราบบังคมทูลว่า นับเป็นกาลอันควรดำเนินการต่อไปเพื่อให้เป็นไปตามราชประเพณีและรัฐธรรมนูญ อันจะยังความปลื้มปีติ และสร้างขวัญกำลังใจแก่พสกนิกร ซึ่งทรงทราบฝ่าละอองพระบาทแล้ว

โดยที่การสืบราชสมบัติต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ซึ่งมาตรา 2 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ กำหนดให้นำบทบัญญัติในหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาใช้บังคับ โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 ดังนั้น การสืบราชสมบัติ จึงต้องเป็นไปตามความในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งมาตรา 23 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญดังกล่าวบัญญัติว่า

“ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ”

คณะรัฐมนตรีจึงขอแจ้งมาเพื่อทราบว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ท่ามกลางมหาสมาคม ประกอบด้วย พระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต ข้าราชการ ทหาร พลเรือน และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่อมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ตรัสถวายสัตย์ปฏิญาณสาบานในการพระราชพิธี ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยแล้ว

ประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ วันที่ 28 ธันวาคม 2515 เล่ม 89 ตอนที่ 200 มีความตอนหนึ่งว่า

"ก็โดยราชนีติอันมีมาในแผ่นดินนั้น เมื่อสมเด็จพระบรมราชโอรส ซึ่งจะทรงรับรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ ทรงพระเจริญวัยสมควรแล้ว ย่อมโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เฉลิมพระอิสริยยศตั้งแต่งไว้ในตำแหน่ง สมเด็จพระยุพราชมกุฎราชกุมารในกาลปัจจุบันนี้ ประชาชนทั้งหลายตลอดถึงชาวต่างประเทศทั่วไปในโลก ย่อมพากันนิยมยกย่องว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงอยู่ในฐานะที่จะรับราชสมบัติปกครองราชอาณาจักรสืบสนองพระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น เล่าก็ทรงพระเจริญพระชนมายุบรรลุนิติภาวะ ทรงพระวีรยภาพ ควรทรงอนุวัตรให้เป็นไปตามธรรมนิยม และขัตติยราชประเพณี ตามความเห็นชอบเห็นดีของมหาชน และผู้บริหารประเทศทุกฝ่ายเฉลิมพระเกียรติยศขึ้นให้สมบูรณ์ตามตำแหน่งทุกประการ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร"

อนึ่ง ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า "พระรัชทายาท" คือ เจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์ พระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สมมติขึ้น เพื่อเป็นผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อมา และมาตรา 4 (2) บัญญัติว่า "สมเด็จพระยุพราช" คือ พระรัชทายาทที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้น เป็นตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช โดยพระราชยุพราชาภิเษก หรือ โดยพิธีอย่างอื่น สุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในวันที่ 28 ธันวาคม 2515 นั้น เป็นตำแหน่งเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกของไทย เมื่อ พ.ศ. 2429 และสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ที่สอง เมื่อ พ.ศ.2437 ซึ่งต่อมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงรับราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร จึงเป็นตำแหน่งพระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลดังกล่าว และตามที่รัฐธรรมนูญระบุ

ถึงดังนั้น เมื่อได้พิจารณาตามประวัติศาสตร์ ข้อกฎหมาย ประกาศพระบรมราชโองการสถาปนา และโบราณราชนิติประเพณีแล้ว โดยเฉพาะข้อกฎหมายที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญบรรดาที่มีมาทุกฉบับ นับแต่ พ.ศ. 2534 จนกระทั่งถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ เห็นด้วยว่าล้วนแต่วางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ไว้เป็นแบบแผนเดียวกัน คณะรัฐมนตรีจึงแจ้งมายังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานรัฐสภา เพื่อทราบว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นพระรัชทายาทที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งไว้แล้ว ตามความในมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และทรงสถิตอยู่ในที่พระรัชทายาทสืบมาจนถึงปัจจุบัน

จึงกราบเรียนมาเพื่อทราบ และโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี