คุณเคยไหม? สิ้นเดือนมา บิลค่าน้ำ ค่าไฟ สูงปรี๊ด!!! มันช่างปวดเศียรเวียนเกล้าเสียจริงสำหรับชาวหอพักอย่างเราๆ ลำพังค่าหอก็หลายพัน แถมยังเจอค่าน้ำค่าไฟสุดแสนจะแพงอีก แต่ด้วยทำเลที่ตั้ง ห้องพัก ระบบรักษาความปลอดภัย ทำให้ต้องยอมเสียค่าน้ำไฟแพงกว่าปกติไม่กี่บาท (แต่รวมๆ แล้วแต่ละเดือนก็ถือว่าแพงอยู่!)
ส่วนทางผู้ประกอบการหอพัก อพาร์ตเมนต์ ก็ขอความเห็นใจให้กับพวกเขาด้วยว่า มีค่าต้นทุนสูง ไม่ว่าจะเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย กล้องวงจรปิด ค่าไฟส่วนกลาง ทำเลที่ตั้ง ฯลฯ หากจะคิดค่าเช่าห้องแพงไปก็กลัวจะไม่มีคนเช่า จึงต้องบวกเพิ่มจากราคาค่าน้ำไฟแทน
สรุปแล้วหอพักคิดราคาค่าน้ำ ค่าไฟ แพงมหาโหดแบบนี้ ผิดกฎหมายไหม ร้องเรียนได้ไหม?
และราคาตรงกลางที่เหมาะสม ทั้งผู้เช่าและผู้ประกอบการ ควรอยู่ที่เท่าไร?
ส่องราคาค่าไฟ-ค่าน้ำ อพาร์ตเมนต์ในกรุงเทพฯ
จากการสำรวจหอพัก อพาร์ตเมนต์ ต่างๆ (ไม่รวมคอนโด) ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า มีอัตราค่าไฟ อยู่ที่ประมาณ 6-9 บาท/หน่วย ส่วนค่าน้ำ อยู่ที่ประมาณ 15-20 บาท/หน่วย ดังต่อไปนี้
...
อพาร์ตเมนต์ ย่านอนุสาวรีย์ฯ ค่าไฟ 7 บาท ค่าน้ำ 17 บาท
อพาร์ตเมนต์ ย่านวิภาวดี ค่าไฟ 7-9 บาท ค่าน้ำ 17-18 บาท
อพาร์ตเมนต์ ย่านลาดพร้าว ค่าไฟ 7-8 บาท ค่าน้ำ 17-18 บาท
อพาร์ตเมนต์ ย่าน ม.เกษตรฯ ค่าไฟ 7 บาท ค่าน้ำ 15 บาท
อพาร์ตเมนต์ ย่านสะพานใหม่ ค่าไฟ 6-7 บาท ค่าน้ำ 17-19 บาท
อพาร์ตเมนต์ ย่านแจ้งวัฒนะ ค่าไฟ 6-8 บาท ค่าน้ำ 17-20 บาท
อพาร์ตเมนต์ ย่านอินทามระ ค่าไฟ 8 บาท ค่าน้ำ 18 บาท
อพาร์ตเมนต์ ย่านรัชดาภิเษก ค่าไฟ 7 บาท ค่าน้ำ 17 บาท
อพาร์ตเมนต์ ย่านประดิพัทธ์ ค่าไฟ 7 บาท ค่าน้ำ 17 บาท
อพาร์ตเมนต์ ย่านทองหล่อ ค่าไฟ 7 บาท ค่าน้ำ 18 บาท
อพาร์ตเมนต์ ย่านรามคำแหง ค่าไฟ 7-8 บาท ค่าน้ำ 18-20 บาท
อพาร์ตเมนต์ ย่านปิ่นเกล้า ค่าไฟ 7 บาท ค่าน้ำ 18 บาท
อพาร์ตเมนต์ ย่านถนนจันทน์ ค่าไฟ 8 บาท ค่าน้ำ 18 บาท
อพาร์ตเมนต์ ย่านรองเมือง ค่าไฟ 7 บาท ค่าน้ำ 18 บาท
อพาร์ตเมนต์ ย่านถนนเพชรบุรี ค่าไฟ 6-8 บาท ค่าน้ำ 17-20 บาท
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เชิญภาครัฐ 3 หน่วยงาน มาอธิบายถึงประเด็นการเก็บค่าน้ำ-ค่าไฟ ของอพาร์ตเมนต์หรือหอพัก โดยอันดับแรกต้องทำความเข้าใจถึงรูปแบบการจ่ายไฟของการไฟฟ้าก่อน โดย นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อธิบายถึงรูปแบบการจ่ายไฟว่า
คอนโด - มีเจ้าของห้องหลายคน ซึ่งเจ้าของห้องซื้อห้องมาจากโครงการ และเปิดให้เช่าโดยมีสัญญาเช่าแตกต่างกันในแต่ละห้อง
คอนโด จะติดมิเตอร์ไฟฟ้ารวมตัวใหญ่ ซึ่งจะคำนวณตามภาระที่มีอยู่ และติดมิเตอร์รองให้แก่ห้องพักแต่ละห้อง โดยที่ไฟฟ้าจะจดหน่วยออกบิลและไปเก็บเงินจากผู้ที่เป็นเจ้าของห้องแต่ละรายเอง ซึ่งการไปเรียกเก็บจากเจ้าของห้องก็จะเก็บตามอัตราที่ไฟฟ้าประกาศเป็นอัตราไฟฟ้าที่เป็นมาตรฐานที่ได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามกฎหมายเท่านั้น ไม่สามารถเก็บเกินได้
...
ทั้งนี้ คอนโดจะมีค่าส่วนกลาง โดยจะมีนิติบุคคลอาคารชุดที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อมาดูแลทรัพย์สินส่วนกลาง และผู้ที่เป็นเจ้าของห้องพักแต่ละห้องในคอนโดก็ต้องจ่ายค่าส่วนกลางเป็นต่อตารางเมตร ว่าเก็บเดือนละเท่าไร ปีละเท่าไร โดยเป็นการตกลงกันระหว่างเจ้าของห้องและนิติบุคคล เพื่อจ่ายเป็นค่าส่วนกลางที่นอกเหนือจากค่าไฟ ฉะนั้น ถึงแม้ว่าค่าไฟในคอนโดจะคิดตามอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่เจ้าของห้องแต่ละห้องก็ต้องจ่ายค่าส่วนกลาง
อพาร์ตเมนต์ - มีผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของเดียวและมีผู้เช่ารายอื่นมาเช่าอาศัยอยู่
อพาร์ตเมนต์ จะติดมิเตอร์ให้ลูกเดียวทั้งอาคาร ทางเจ้าของอพาร์ตเมนต์จะไปติดมิเตอร์เองและเรียกเก็บจากผู้เช่าตามอัตราที่เขียนไว้ในสัญญาเช่าระหว่างกัน เป็นเรื่องของการตกลงกันว่ายอมรับกันในราคาค่าน้ำ ค่าไฟเท่าไหร่ ตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่า หากเจ้าของอพาร์ตเมนต์เรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟเกินกว่าอัตราที่ระบุไว้ในสัญญา ผู้เช่าสามารถฟ้องร้องได้ ว่าไม่เป็นไปตามสัญญาเช่า แต่อัตราดังกล่าวนั้น เป็นอัตราที่ตกลงกันของสองฝ่าย ซึ่งอัตรานั้นขึ้นอยู่กับว่า เจ้าของจะไปคิดต้นทุนอย่างไร เช่น ระบบไฟฟ้าที่ออกแบบ ค่าบำรุงรักษา ค่าส่วนกลางทั้งหมด ซึ่งคำนวณออกมาเป็นค่าใช้จ่ายและใส่อยู่ในค่าน้ำไฟ เพื่อเก็บกับผู้เช่า เพราะอพาร์ตเมนต์ไม่มีการเก็บค่าส่วนกลาง และทรัพย์สินยังเป็นของเจ้าของอาคารอยู่
...
เปิดอัตราค่าไฟ หอพักจ่ายการไฟฟ้า เฉลี่ยหน่วยละ 4 บาท!
สำหรับราคาค่าไฟของหอพักหรืออพาร์ตเมนต์ จัดอยู่ในประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก มีความต้องการพลังไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาทีที่สูงสุด ต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ โดยอัตราปกติ ...
- 12-24 กิโลโวลต์ = 3.9086 บาท/หน่วย
- ต่ำกว่า 12 กิโลโวลต์
150 หน่วย (กิโลโวลต์ชั่วโมง) แรก (หน่วยที่ 1-150) = 3.2484 บาท/หน่วย
250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151-400) = 4.2218 บาท/หน่วย
เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) = 4.4217 บาท
นอกจากนี้ หากเป็นหอพักหรืออพาร์ตเมนต์ขนาดใหญ่ ที่มีการใช้ไฟค่อนข้างมากตั้งแต่ 30-999 กิโลวัตต์ จะถูกจัดอยู่ในประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง โดยอัตราปกติ ...
- 69 กิโลโวลต์ขึ้นไป = 3.1355 บาท/หน่วย
- 12-24 กิโลโวลต์ = 3.1729 บาท/หน่วย
- ต่ำกว่า 12 กิโลโวลต์ = 3.2009 บาท/หน่วย
...
การไฟฟ้าขายไฟตามราคากำหนด ส่วนผู้เช่าซื้อตามข้อตกลงกับเจ้าของ
ผู้สื่อข่าวถามว่า “ตามกฎหมายการบวกราคาค่าไฟเพิ่มจากความเป็นจริงของคอนโดหรือหอพักสามารถทำได้หรือไม่?” นายพรเทพ กล่าวว่า กฎหมายขณะนี้อนุญาตให้บวกราคาค่าไฟเพิ่มได้หรือไม่ ต้องดูว่ากฎหมายแต่ละฉบับ จะสามารถต่อมือเข้าไปดูแลเรื่องดังกล่าวนี้ได้อย่างไร อาจจะต้องพูดคุยหารือกัน แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างการไฟฟ้ากับเจ้าของอพาร์ตเมนต์ซื้อขายไฟกันตามราคาข้างต้น ขณะที่ ผู้ที่มาเช่าอยู่กับเจ้าของอพาร์ตเมนต์นั้น อำนาจของการไฟฟ้าไปไม่ถึงในส่วนนี้ เพราะเป็นสัญญาที่ตกลงกันของสองฝ่ายว่าจะมาเช่าห้องอยู่ในอัตราค่าน้ำค่าไฟราคาที่กำหนดไว้
"หากเจ้าของหอพักเก็บค่าน้ำไฟเกินจากสัญญาที่ระบุไว้ สามารถฟ้องร้องได้เลยเพราะว่าผิดสัญญา แต่หากสัญญาระบุว่า 8 บาทแล้วเก็บ 8 บาท อันนี้ก็บังคับกันก็ไม่ได้ ฉะนั้น ต้องตีความกฎหมายก่อนว่าหอพักสามารถบวกค่าน้ำค่าไฟเพิ่มได้หรือไม่ หากสามารถทำได้ควรจะมีราคาเท่าไรที่ไม่แพงเกินควร สคบ.ต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้ แต่คำถามก็คือ ราคาค่าน้ำค่าไฟหอพัก สามารถควบคุมได้หรือไม่ ถ้าคุมได้ควรเป็นเท่าไหร่ แต่ถ้าควบคุมไม่ได้ และเป็นไปตามสัญญาเช่าระหว่างผู้เช่าและเจ้าของ อำนาจกฎหมายก็ไปไม่ถึงในสัญญานั้น" ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อธิบาย
การประปานครหลวง เผย คุมราคาค่าน้ำหอพัก นอกเหนืออำนาจหน้าที่
ด้าน นายวีระ จิตไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญการประปานครหลวง ระดับ 9 เปิดเผยว่า กปน. มีอำนาจหน้าที่ในการผลิตและให้บริการน้ำประปาแก่ลูกค้าในพื้นที่บริการตามมิเตอร์ที่มาขอใช้น้ำประปา โดยมีการบริการน้ำประปาและเก็บค่าน้ำตามการใช้จริงของมิเตอร์นั้นๆ ซึ่งปัจจุบัน กปน. มีลูกค้าราว 2.28 ล้านราย หรือ มิเตอร์
ทั้งนี้ คอนโดและอพาร์ตเมนต์ ถือเป็นมิเตอร์หนึ่งที่ขอใช้น้ำโดยมีนิติบุคคลนั้นๆ ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการและเรียกเก็บเงินค่าน้ำจากลูกบ้าน ซึ่งจะมีการคำนวณรวมค่าไฟฟ้า ค่าเครื่องสูบน้ำ ระบบการเก็บสำรองน้ำ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม กปน. ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ เนื่องจากอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่
ประกาศ สคบ. บังคับให้แสดงราคา แต่ไร้กรอบกำหนดอัตราค่าน้ำไฟ
ขณะที่ นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้ข้อมูลการร้องเรียนการใช้บริการเช่าที่พักอาศัยกับผู้สื่อข่าวว่า ปัญหาการร้องเรียนการใช้บริการเช่าที่พักอาศัยระหว่างปี 2555-2558 อันดับ 1 ไม่คืนเงินประกันความเสียหายหรือค่าเช่าล่วงหน้า 213 ราย อันดับ 2 คิดอัตราค่าบริการไฟฟ้า-ประปา สูงเกินจริง 135 ราย อันดับ 3 ไม่เป็นไปตามสัญญาหรือโฆษณา 45 ราย
สำหรับในปัจจุบันนั้น การคิดอัตราค่าบริการกระแสไฟฟ้า-น้ำประปา ของผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าที่พักอาศัย ยังไม่มีมาตรฐานหรือกรอบในการกำหนดอัตราค่าบริการ ซึ่งแม้ว่า สคบ. มีประกาศเรื่องธุรกิจให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เรียกเก็บเงินประกันเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ.2549 โดยควบคุมเฉพาะประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องแจ้งแสดงรายการค่าเช่า ค่าบริการ เท่านั้น ไม่ได้ระบุไปถึงอัตราที่เกินกว่าความเหมาะสมว่าอยู่ที่เท่าไร
"ส่วนกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยมาตรา 29 ระบุว่า หากกำหนดราคาโดยสูงไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร มีความผิดตามกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะเชิญกระทรวงพาณิชย์มาหารือว่า มีอัตราการคิดราคาค่าน้ำค่าไฟเท่าไรที่เหมาะสม และเท่าไรที่สูงเกินไป เพราะเราในฐานะผู้คุ้มครองผู้บริโภคเมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบจะได้แจ้งผู้ประกอบการได้อย่างถูกต้องและชัดเจน"
สคบ. เป็นเจ้าภาพ เรียกประชุมหน่วยงานรัฐ แก้ปัญหาค่าน้ำไฟหอพัก
รองเลขาฯ สคบ. กล่าวต่อว่า เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอัตราค่าบริการกระแสไฟฟ้า-น้ำประปา สคบ. จะทำหน้าที่เป็นผู้เชิญหน่วยงานต่าง อาทิ กทม., กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กรมการปกคอง, กรมการค้าภายใน, การประปานครหลวง, การไฟฟ้านครหลวง, สำนักนโยบายพลังงาน เพื่อประชุมหาข้อสรุปในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม หากประชาชนประสบปัญหาดังกล่าว สามารถร้องเรียนได้ที่ สคบ. หรือกรมการค้าภายใน แต่ความชัดเจนของกฎหมายยังไม่มี ฉะนั้น สิทธิของผู้บริโภคเบื้องต้น คือ ถ้าผู้ประกอบการมีการแจ้ง แสดงราคาในข้อตกลงในสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะใช้บริการหรือไม่ใช้บริการก็ได้
สุดท้ายแล้วข้อยุติตรงกลางระหว่างผู้เช่า และผู้ประกอบการที่ว่า ‘อัตราค่าน้ำ-ไฟที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไร?’ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะขอติดตามเรื่องนี้จนกว่าจะมีข้อกำหนดอัตราที่ชัดเจน และจะรายงานให้ประชาชนทราบต่อไป.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านเพิ่ม
- สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ