กลายเป็นภาพที่พบเห็นกันชินตาไปเสียแล้ว สำหรับ 'รถพ่วง' หรือ 'รถกึ่งพ่วง' บรรทุกน้ำหนักเกิน วิ่งกันขวักไขว่บนถนนสายต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัด เป็นผลให้ถนนหนทางสายต่างๆ กลายเป็นหลุมเป็นบ่อก่อนเวลาอันควร เพราะมาตรฐานของโครงสร้างถนนนั้น สามารถรับน้ำหนักได้ไม่เกินที่ควบคุมไว้  

ถามว่า แล้วเหตุใดถึงยังปล่อยให้รถบรรทุกเหล่านี้ วิ่งขวักไขว่บนท้องถนนอยู่ได้ โดยที่ไม่มีการกวดขันจับกุมเลยหรือ? แล้ว...รถบรรทุกเหล่านี้ผ่านด่านชั่งน้ำหนักมาได้อย่างไรกัน? 

เมื่อมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนก็คงพอเดาๆ ออก ว่า เพราะเหตุใด? ซึ่งแน่นอนว่า เป็นปัญหาเรื้อรังที่ได้ยินกันมาตลอดเป็นสิบปี กับคำว่า 'ส่วยสติกเกอร์' แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนจะเบาบางลง จนหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า เอ๊ะ! ส่วยสติกเกอร์ยังมีอยู่หรือไม่? หรือว่ารูปแบบการเก็บส่วยมีวิวัฒนาการจนเราไม่อาจล่วงรู้ได้แล้วหรือไม่?

วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้รับคำยืนยันจาก นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ว่า ธุรกิจส่วยสติกเกอร์ทุกวันนี้ยังคงมีอยู่ และไม่มีทีท่าว่าจะหายไปง่ายๆ มิหนำซ้ำ กลับมีกระจายครอบคลุมอยู่ทุกภาคทั่วประเทศ โดยผู้ประกอบการรถบรรทุกบางกลุ่ม อาศัยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบที่ไม่เอาจริงเอาจัง ทำสติกเกอร์เพื่อนำไปขาย แล้วปล่อยให้มีการแบกน้ำหนักเกิน ซึ่งที่ผ่านมาทางสหพันธ์ฯ ได้แจ้งทั้งเจ้าหน้าที่รัฐผู้รักษากฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมาย ถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียที 


...

“การเก็บส่วยสติกเกอร์จากบรรดาสิงห์รถบรรทุกนั้น สังเกตได้จากการติดสติกเกอร์ขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้าไว้หน้ารถ โดยมีราคาตั้งแต่ คันละ 3,000-4,000 บาทต่อเดือน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนรถบรรทุกที่จ่ายส่วยอยู่ประมาณ 600,000 คัน รวมเป็นเงินประมาณ 200-500 ล้านบาทต่อเดือน” นายทองอยู่ เผยกับผู้สื่อข่าว

ย้อนดูพัฒนาการรูปแบบ ‘ส่วยสติกเกอร์’ 


หากยังนึกไม่ออกว่า ปัญหา 'ส่วยทางหลวง' หนักหนา จนกลายเป็นความเดือดร้อนขนาดนั้น ทีมข่าวฯ ขอไล่เรียงถึงพัฒนาการ ‘ส่วย’ รถบรรทุกน้ำหนักเกินที่เกิดขึ้น จากปากของโชเฟอร์รถบรรทุกรายหนึ่ง ซึ่งขอสงวนชื่อและนามสกุล ออกมาเปิดเผยให้ฟังว่า ...

ย้อนกลับไป ส่วยรถบรรทุกถูกเปิดโปงต่อสาธารณชนครั้งแรกเมื่อปี 2546 โดยวิธีการขายสติกเกอร์ตัวอักษรหรือข้อความติดหน้ารถบรรทุก เพื่อแสดงเป็นสัญลักษณ์ไม่ต้องเข้าด่านชั่งน้ำหนัก ซึ่งจะมีราคาตั้งแต่ 3,000–4,000 บาท/คัน/เดือน

หลังจากนั้น 10 ปีต่อมา สติกเกอร์ได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นซองใส่บัตรหรือพวงกุญแจ เพื่อให้คนขับรถใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่แทนการติดไว้หน้ากระจกรถอย่างโจ่งแจ้ง

จนกระทั่งปี 2557 พบว่า ได้พัฒนารูปแบบใหม่เป็นสัญญาณกะพริบไฟหรือแจ้งทะเบียนรถนั้นๆ ให้กับเจ้าหน้าที่โดยตรงเพื่อผ่านด่าน

คนขับรถบรรทุกรายเดิม ระบุอีกว่า ปัจจุบัน การเก็บส่วยดูเหมือนจะเงียบหายไป แต่...ความจริงแล้ว ได้ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคตามสมัย โดยการแจ้งข่าวเส้นทางที่มีการตรวจจับ ผ่านกลุ่มลับในแอพพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ "บางราย" ที่รับสินบนเป็นผู้ทำหน้าที่แจ้งข้อมูลให้ผู้ประกอบการทราบ ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุด เนื่องจากตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ยาก

นอกจากนี้ คนขับรถบรรทุกรายเดิม ยังแนะถึงวิธีสังเกตรถที่จ่ายส่วย โดยอ้างว่า หากเราเห็นรถบรรทุกที่วิ่งในช่องทางขวา อาจจะตั้งข้อสังเกตได้ว่ารถคันดังกล่าวนั้น จ่ายส่วยสติกเกอร์ เนื่องจากตามกฎหมายแล้ว รถบรรทุกจะต้องวิ่งในช่องทางซ้ายเท่านั้น แม้ถนนจะพังเสียหาย เป็นหลุมเป็นบ่อ ก็ต้องซ้ายเท่านั้น นอกเสียจากว่า มีรถจอดขวางอยู่ จึงจะมีสิทธิหลบเลี่ยงไปวิ่งในช่องทางขวาได้ 

ด้วยเหตุนี้ ทีมข่าวฯ จึงติดต่อไปยัง พล.ต.ต.สมชาย เกาสำราญ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า ที่ผ่านมาตำรวจทางหลวงไม่ได้มีการปล่อยปละละเลยให้มีการบรรทุกน้ำหนักเกินเกิดขึ้น และได้พยายามเข้มงวดกวดขันมาโดยตลอด เพียงแต่ก็อาจจะมีรถบรรทุกบางกลุ่ม บางราย ที่ยังเจตนาฝ่าฝืนกระทำความผิด ก็มักจะหาช่องทางหลบเลี่ยงด่านจนได้

"ส่วนประเด็น ส่วยทางหลวง หรือส่วยสติกเกอร์ นั้น ปัจจุบันมีรูปแบบเปลี่ยนไป จนทำให้การจับกุมค่อนข้างยากขึ้น เนื่องจากมีรถบรรทุกบางกลุ่มที่เจตนาฝ่าฝืน ก็จะคอยแจ้งข่าวเส้นทางที่มีการตรวจจับบรรทุกน้ำหนักเกิน ผ่านช่องทางต่างๆ กันเอง ดังนั้น ก็คงจะไม่มีการจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่แล้ว ซึ่งในช่วงระยะ 1-2 ปีหลังมานี้ ผมก็ยังไม่พบตำรวจทางหลวงมีพฤติกรรมรับส่วย" ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ชี้แจงกับผู้สื่อข่าว

...

‘ผู้ว่าจ้าง’ ตัวการทำถนนพัง ส่งเสริม-สนับสนุน บรรทุกน้ำหนักเกิน

อย่างไรก็ตาม ในปัญหาดังกล่าวนี้ นายชุมพล สายเชื้อ เลขาธิการสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวผ่านงานแถลงข่าวที่ทางสหพันธ์ฯ จัดขึ้น ณ โรงแรม Gold Orchid Bangkok hotel เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา ว่า ปัญหาหลักที่ทำให้เกิดการบรรทุกน้ำหนักเกินและธุรกิจส่วยสติกเกอร์ จนเป็นเหตุให้ถนนพังเสียหายนั้น สาเหตุหลักก็คงหนีไม่พ้น ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ทำให้ผู้ว่าจ้างลดต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนการขนส่งในราคาต่ำ นำไปสู่การแบกน้ำหนัก บรรทุกครั้งละมากๆ ซึ่งทุกวันนี้พบว่า เกินกว่า 50.5 ตัน ตามที่กฎหมายกำหนดเป็นเท่าตัว หรือบรรทุกครั้งละเป็นร้อยตันขึ้นไป

“ปมปัญหานี้ ต่อให้แก้อย่างไรก็คงไม่หมด หากยังไม่แก้ที่ต้นตอ ก็คือ ผู้ว่าจ้าง หรือผู้ประกอบการ ที่ยังคงสนับสนุน ส่งเสริม และรู้เห็นเป็นใจ ให้เกิดการขนส่งบรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อหวังเพียงประโยชน์จากค่าบรรทุกต่ำๆ ฉะนั้น ก็ต้องรณรงค์เอาผิดผู้ว่าจ้าง ตัวละครสำคัญ ในการสมรู้ร่วมคิดและส่งเสริมให้มีการแบกน้ำหนักเกิน นายชุมพล กล่าว

รมว.คมนาคม สั่งคุมเข้มรถบรรทุกน้ำหนักเกิน

เมื่อปัญหาดังกล่าว ยากที่จะแก้ไข ทำให้ยังคงมีรถบรรทุกน้ำหนักเกินวิ่งขวักไขว่บนท้องถนน โดยใช้สติกเกอร์เป็นสัญลักษณ์ เพื่อเคลียร์เส้นทาง เป็นผลให้เกิดปัญหาถนนพังเสียหาย จนภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณเพื่อซ่อมแซมบำรุงถนนมากกว่าปีละ 2 หมื่นล้านบาท นั้น ล่าสุด ช่วงต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้คุมเข้มน้ำหนักรถบรรทุก หลังพบว่า มีการร้องเรียนถนนชำรุดเสียหาย จากบรรทุกเกินเย้ยกฎหมาย

...

ทีมข่าวฯ ได้มีโอกาสพูดคุยกับแม่งานหลัก ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลถนนหนทางต่างๆ ถึงมาตรการการควบคุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการไปยังกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมการขนส่งทางบก ให้บูรณาการการตรวจรถบรรทุกน้ำหนักเกินทั่วประเทศ หลังพบว่าถนนชำรุดเสียหายจำนวนมาก

“จากรถบรรทุกน้ำหนักเกินมากเท่าตัว เช่น รถบรรทุก 10 ล้อ ตามกฎหมายกำหนดไว้ 25 ตัน ก็บรรทุก 50 ตัน รถบรรทุกพ่วงกำหนดไว้ 50.5 ตัน ก็บรรทุก 100 ตัน จนส่งผลให้ถนนเกิดการชำรุดเร็วขึ้น โดยเฉพาะช่องทางซ้าย” 

นายอาคม เผยอีกว่า ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางหลวงและทางหลวงชนบท ได้เข้มงวดในการชั่งน้ำหนักรถบรรทุกทั้งด่านชั่งถาวรและด่านชั่งเคลื่อนที่ทั่วประเทศ โดยเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา สามารถจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ 123 คัน ซึ่งส่วนใหญ่พบเป็นรถบรรทุกหินดินทราย และสินค้าเกษตร

ทล. คุมเข้มบรรทุกเกิน ยันไม่มีผ่อนผัน

ด้าน นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวถึงมาตรการคุมเข้มปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินด้วยว่า กรมทางหลวงมีนโยบายปรับปรุงเครือข่ายด่านชั่งน้ำหนักถาวรและด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ทั่วประเทศ โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่มีการผ่อนผันให้บรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อลดงบประมาณในการซ่อมบำรุงรักษาทางและลดความเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดแก่โครงสร้างสะพานและทางลอด

...

“ขณะนี้ ได้กำชับสถานีตรวจสอบน้ำหนักทั่วประเทศจำนวนกว่า 70 แห่ง บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เนื่องจากยังมีกลุ่มรถบรรทุกที่เจตนาทุจริตหลบเลี่ยงเส้นทาง จึงต้องใช้วิธีการสุ่มตั้งด่านเคลื่อนที่ เพื่อเป็นการป้องปรามอีกทางหนึ่ง หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” 

นอกจากนี้ นายธานินทร์ บอกกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า การบรรทุกน้ำหนักเกิน 70-80 ตัน บนถนนคอนกรีตนั้น พื้นผิวถนนจะไม่ได้พังในทันทีหรอก แต่จะค่อยๆ แตกหัก ซึ่งเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าฝน น้ำก็จะลงไปยังชั้นทางข้างล่าง ส่งผลให้โครงสร้างชั้นล่างเป็นโพรงและพังต่อไปเรื่อยๆ ส่วนหากเป็นผิวทางลาดยาง ก็จะแตกร้าว ทำให้แต่ละปีต้องสิ้นเปลืองงบซ่อมแซมบำรุงถนน ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากกว่างบสร้างด้วยซ้ำ 

“หากไม่มีการบรรทุกน้ำหนักเกินเกิดขึ้น พื้นถนนคอนกรีต ถือว่ามีอายุการใช้งานนานเป็น 20-30 ปีด้วยซ้ำ เพราะอำนาจการทำลายล้างของการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่โครงสร้างถนนจะรับไหวนั้น สามารถลดอายุการใช้งานของถนนลงไปได้หลายเท่า ยิ่งบรรทุกน้ำหนักเกินบ่อยๆ ซ้ำๆ เพียง 2-3 ปี ถนนก็พังเสียหายแล้ว” อธิบดีกรมทางหลวง กล่าว

ปธ.สหพันธ์การขนส่งทางบก แจง อ้างเหตุถนนพัง ไม่ใช่รถบรรทุกทั้ง 100%

จากกรณีที่ถูกกล่าวอ้างว่า 'รถบรรทุก' เป็นตัวการทำถนนพังนั้น นายทองอยู่ คงขันธ์ ในฐานะประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ออกมาชี้แจงในประเด็นนี้ว่า การที่ถนนพัง ก็ไม่ใช่เพราะรถบรรทุกทั้ง 100% ลองนึกย้อนกลับไปตั้งแต่การสร้าง งบประมาณ รถบรรทุก ตลอดจนผู้รักษากฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมาย

“จำแนกให้เห็นชัดๆ ว่า ปัญหาถนนพัง ส่วนหนึ่งก็มาจาก 1. งบประมาณ ที่ได้มา เอาไปสร้างถนนจริงๆ เท่าไร? 2. เมื่องบประมาณจำนวนหนึ่งถูกตัดทอนจากการนำไปสร้าง ก็เกิดการลดสเปกของวัสดุ การก่อสร้างก็ไม่ได้มาตรฐาน 3. รถบรรทุก ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า รถบรรทุกเองก็มีส่วนทำให้ถนนพัง ในส่วนนี้เราก็ยอมรับและจะดำเนินการแก้ไขต่อไป และ 4. ผู้รักษากฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมาย ที่ปล่อยปละละเลยมากเกินไป นายทองอยู่ แจกแจงถึงสาเหตุถนนพังก่อนเวลาอันควร 

ปธ.สหพันธ์ฯ ชง นายกฯ ใช้ ม.44 แก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน

นอกจากนี้ ปธ.สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ขอเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เอาผิดผู้ว่าจ้างที่รู้เห็นหรือส่งเสริมให้รถบรรทุกน้ำหนักเกิน 

“หากผู้ประกอบการฝ่าฝืนและกระทำผิดซ้ำ ขอให้กรมการขนส่งทางบกทำการถอนใบอนุญาตประกอบการ และระงับการประกอบธุรกิจไม่น้อยกว่า 5 ปี ตามประกาศผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินและผู้อำนวยการทางหลวงสัมปทานว่าด้วยเรื่องการห้ามใช้ยานพาหนะบรรทุกน้ำหนักเกินปี 2552 รวมทั้งบังคับให้ผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกห้ามต่อเติมและดัดแปลงแก้ไขโครงสร้างของยานพาหนะ โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี ไม่ว่าจะต่อเติมชั่วคราวหรือถาวร หากพบผู้ใดฝ่าฝืนให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจลงโทษขั้นสูงสุด โดยการอายัดรถบรรทุกไว้ก่อนและจะปล่อยคืนก็ต่อเมื่อเอาส่วนที่ดัดแปลงออกไปแล้ว”

ทล. ยัน ชั่วโมงนี้ไม่มี ‘ส่วยสติกเกอร์’ พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาบรรทุกเกินทำถนนพัง

ปมปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินและส่วยสติกเกอร์จะหมดไปได้อย่างไร? ผู้สื่อข่าวตั้งประเด็นนี้กับอธิบดีกรมทางหลวง ได้รับคำตอบว่า “ควรจะมีการเอาผิดกับเจ้าของสินค้า ผู้ประกอบการ หรือผู้ว่าจ้าง ที่มีส่วนรู้เห็นให้บรรทุกสินค้าเกินที่กฎหมายกำหนด เพื่อหวังเพียงลดต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมถึงทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งกรมทางหลวงจะกวดขันเรื่องนี้ต่อไป"

“ทุกหน้าที่ต้องโปร่งใส ถ้าทุกคนรู้หน้าที่ตัวเอง รู้กฎหมาย และรู้ว่าสามารถช่วยประเทศชาติประหยัดงบประมาณในการซ่อมบำรุงได้ ก็เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้อย่างยั่งยืน ส่วนปัญหาส่วยทางหลวง ยืนยันว่า ชั่วโมงนี้ จะไม่มีเรื่องส่วยสติกเกอร์เกิดขึ้น เพราะทางหลวงเอาจริงและเด็ดขาด จากการชี้วัดการทำงานของตำรวจทางหลวงและกรมทางหลวง โดยจะต้องจับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ให้ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1,200 คัน

“แต่หากตรวจสอบ พบว่า มีเจ้าหน้าที่ทางหลวงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง จะถูกดำเนินการย้ายออกนอกพื้นที่ทันที ส่วนใครพบเห็นสามารถร้องเรียนเข้ามาได้ที่ 1586 กรมทางหลวงจะเข้าไปดำเนินการโดยด่วน” อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวทิ้งท้าย

สุดท้ายแล้ว... มาตรการคุมเข้มจริงจังครั้งนี้ จะสามารถคลี่คลายปมปัญหาเรื้อรัง 'บรรทุกน้ำหนักเกิน-ส่วยทางหลวง' ให้ทุเลาเบาบาง และหมดไปได้หรือไม่นั้น ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป... 

ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก : สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย

  • สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่ 
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ