วันเสาร์สบายๆวันนี้มาคุยเรื่อง หลังคาโซลาร์เซลล์ กันดีกว่า สองสามสัปดาห์ก่อน อีลอน มัสค์ ซีอีโอของ Tesla บริษัทผลิตรถพลังงานไฟฟ้าเทสลา เพิ่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่หลังคาบ้านโซลาร์เซลล์ โดยใช้บ้านในซีรีส์ชื่อดังของอเมริกา Desperate Housewives เป็นต้นแบบ ซึ่งไม่ใช่หลังคาแบบเดิมที่เอาแผงโซลาร์เซลล์มาเชื่อมต่อ แต่เป็นหลังคาแบบใหม่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้แทนวัสดุมุงหลังคาเลย

จุดเด่นของหลังคาโซลาร์เซลล์แบบใหม่นี้อยู่ที่การรวม หลังคา บ้านแบบเก่า และ แผงโซลาร์เซลล์ ไว้ด้วยกัน โดยจะใช้งานร่วมกับบ้านที่ติด Powerwall แบตเตอรี่สำหรับเก็บประจุไฟฟ้า ที่ติดตั้งไว้กับตัวบ้าน

โลกอนาคตการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ จะลดลงเรื่อยๆ พลังงานจากแสงอาทิตย์จะเข้ามา แทนที่ ไม่เพียงลดความสิ้นเปลือง ทั้งยังลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ผมเชื่อว่าอีกไม่เกินสิบปี รถที่วิ่งบนถนนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งจะ เป็นรถพลังงานไฟฟ้าและรถไฮบริด

อีลอน มัสค์ ประกาศด้วยว่า หลังคาโซลาร์เซลล์ของเทสลา จะมีความ ทนทาน กว่า และเป็นฉนวน กันความร้อน ได้ดีกว่า หลังคาบ้านที่ใช้กันทั่วไป ที่สำคัญต้องมีความสวยงาม ราคาสมเหตุ
สมผล และมีการผสมผสานอย่างลงตัว

เรื่องความสวยงาม ผมว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะตามข่าวระบุว่าหลังคาโซลาร์เซลล์แบบใหม่นี้สามารถผลิตออกมาได้หลากหลายรูปแบบ เทคโนโลยียุคนี้ไม่ว่าอยากให้ออกมาเป็นดีไซน์ไหนก็ทำได้หมด

สิ่งที่คนสนใจมากที่สุดคือ ราคา และ กำลังการผลิตไฟฟ้า น่าเสียดายที่อีลอน มัสค์ ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดส่วนนี้มากนัก แค่คุยว่าราคาถูกกว่าหลังคาบ้านธรรมดาที่นำแผงโซลาร์เซลล์มาติด และจะดึงดูดใจผู้รับเหมาสร้างบ้านและผู้ที่ต้องการจะเปลี่ยนหลังคาใหม่

กว่าจะรู้ราคาที่แน่ชัด อย่างเร็วที่สุดต้องรอถึงกลางปีหน้า แต่ ด่านแรกต้องรอดูว่าการควบรวม บริษัท Tesla กับ บริษัท Solar City จะสำเร็จหรือไม่ ซึ่งโหวตกันวันที่ 17 พ.ย. วันเดียวกับที่ผมเขียนต้นฉบับนี้แหละ แต่เวลาสหรัฐฯช้ากว่าไทยประมาณครึ่งวัน

...

ถ้าการควบรวมสำเร็จ เทสลาจะเดินหน้าผลิตหลังคาโซลาร์เซลล์ได้ตามแผน เปิดเกมรุกสู่อุตสาหกรรมบ้านพลังงานแสงอาทิตย์ ประเมินว่าภายใน 2 ปี จะสามารถครองส่วนแบ่งการตลาด 5% ของหลังคาโซลาร์เซลล์

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นมีผู้ชำนาญการคาดการณ์ว่าหลังคาแบบใหม่ของเทสลานี้ชุดหนึ่งน่าจะราคา 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 5 แสนกว่าบาท และผลิตไฟฟ้าได้ 9,000 kW–hr ต่อปี (เท่ากับ 750 kW-hr ต่อเดือน)

ถ้าใครสนใจอยากซื้อมาใช้ ลองคำนวณความคุ้มค่าแบบคร่าวๆ ดูนะครับ ค่าไฟบ้านเรารวมแวตกับค่าเอฟทีแล้วตกประมาณ 4 บาทต่อหน่วย ไฟฟ้า 1 หน่วยเท่ากับ 1 kW-hr เมื่อผลิตไฟฟ้าได้ 750 kW-hr ต่อเดือน เท่ากับประหยัดค่าไฟเดือนละ 750×4 = 3,000 บาท

บ้านไหนใช้ไฟฟ้าเกินกว่านี้ก็จ่ายเพิ่มในส่วนที่เกิน แต่ถ้าใช้เดือนละไม่ถึง 3,000 บาท ก็ไม่ต้องเสียค่าไฟ

ส่วนจุดคุ้มทุน หลังคาราคา 5 แสนกว่าบาท ประหยัดเงินค่าไฟปีละ 36,000 บาท โดยเฉลี่ยต้องใช้เวลา 14 ปี ถึงจะคืนทุน

สำหรับบ้านแล้วช่วงเวลาแค่นี้ไม่ถือว่านานหรอกครับ.

ลมกรด