จอมพลังดาวรุ่งไทยประเดิมผลงานสวย กวาด 7 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง โดย “จ๋า” จิราพรรณ นันทวงษ์ เหมาคนเดียว 3 เหรียญทอง รุ่น 48 กก. ยุวชนหญิง ส่วน “อาร์ม” ธัญญ่า สุขเจริญ คว้า 2 เหรียญทอง และ 1 เหรียญทองแดง จากรุ่น 48 กก. เยาวชนหญิง ขณะที่ “ทูร” วิทูรย์ มิ่งมูล คว้า 2 เหรียญทอง และ 1 เหรียญเงิน จากรุ่น 56 กก. ยุวชนชาย ในศึกยกน้ำหนักยุวชนและเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ประจำปี 2559 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ “มาดามบุษ” บุษบา ยอดบางเตย หอบ 4 ฮีโร่โอลิมปิก 2016 เยี่ยมชมศูนย์ฝึกยกน้ำหนักของญี่ปุ่น หารือส่งจอมพลังเก็บตัวร่วมกันในอนาคต...
วันที่ 12 พ.ย. 59 การแข่งขันยกน้ำหนักยุวชนและเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ประจำปี 2559 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ส่งจอมพลังเข้าร่วมแข่งขัน 16 คน แบ่งเป็นประเภทยุวชน 3 คน และเยาวชน 13 คน เมื่อวันที่ 11 พ.ย. เป็นการชิงชัยวันแรก จอมพลังไทยมีโปรแกรมลงชิงชัย 3 คน
ประเดิมด้วยรุ่น 56 กก. ยุวชนชาย “ทูร” วิทูรย์ มิ่งมูล จอมพลังดาวรุ่งวัย 19 ปีจากศรีสะเกษ เจ้าของ 3 เหรียญทองศึกเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งโลก 2015 ที่จอร์เจีย และจอมพลังชุดเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ค.ศ.2016 ที่กรุงริโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล ออกสตาร์ตท่าสแนตช์ เรียกน้ำหนัก 110 กก. แต่ยกไม่ผ่าน ก่อนจะออกมาแก้ตัวสำเร็จในครั้งที่ 2 จากนั้นครั้งที่ 3 ยกผ่านที่ 113 กก. เท่ากับซิน เป็ง จอมพลังจากจีน แต่น้ำหนักตัววิทูรย์มากกว่า ทำให้ได้คว้าเพียงเหรียญเงิน ขณะที่จีนได้เหรียญทอง ส่วนเหรียญทองแดง เหวียน ตรันห์ อาห์น ตวน จากเวียดนาม 112 กก.
ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก วิทูรย์ เรียกน้ำหนัก 141 กก., 144 กก. ยกผ่านทั้ง 2 ครั้งตามลำดับ จากนั้นหวังทำลายสถิติในครั้งที่สาม 156 กก. แต่ยกไม่ขึ้น ทำให้สถิติอยู่ที่ 144 กก. ยังเพียงพอจะคว้าเหรียญทองไปครอง นอกจากนี้ยังสามารถคว้าอีก 1 เหรียญทอง จากน้ำหนักรวม 257 กก. ทำให้วิทูรย์คว้ารวมได้ 2 เหรียญทอง และ 1 เหรียญเงิน
...
จากนั้นในรุ่น 48 กก.หญิง “อาร์ม” ธัญญ่า สุขเจริญ ยกท่าสแนตช์ได้ 80 กก. ได้เพียงเหรียญทองแดง แต่ท่าคลีนแอนด์เจิร์กยกได้ 101 กก. คว้าเหรียญทองไป และน้ำหนักรวม 181 กก. คว้าได้อีกเหรียญทอง ส่งผลให้ธัญญ่าคว้ารวมได้ 2 เหรียญทอง และ 1 เหรียญทองแดง
ส่วนยุวชนรุ่น 48 กก.หญิง “จ๋า” จิราพรรณ นันทวงษ์ เหมาคนเดียว 3 เหรียญทอง โดยท่าสแนตช์ยกได้ 72 กก. ขณะที่ท่าคลีนแอนด์เจิร์กยกได้ 94 กก. และน้ำหนักรวม 166 กก. สรุปการชิงชัยวันแรกทัพยกเหล็กไทยกวาดไปได้ 7 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง
วันเดียวกัน “มาดามบุษ” นางบุษบา ยอดบางเตย นากยกสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ พร้อมด้วย “เสธ.ยอด” พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย นายกกิตติมศักดิ์ และประธานที่ปรึกษานายกสมาคมฯ และ 4 จอมพลังฮีโร่โอลิมปิกเกมส์ 2016 ได้แก่ “แนน” โสภิตา ธนสาร, “ฝ้าย” สุกัญญา ศรีสุราช, “แต้ว” พิมศิริ ศิริแก้ว และ “ดุ่ย” สินธุ์เพชร์ กรวยทอง เดินทางไปดูงานศูนย์ฝึกซ้อมของสมาคมยกน้ำหนักญี่ปุ่น ที่เมืองยามานาชิ ตามคำเชิญ โดยมีนายฮิโตชิ โกโตะ ผู้ว่าราชการจังหวัดยามานาชิ ให้การต้อนรับ
นางบุษบา เปิดเผยว่า สมาคมยกน้ำหนักญี่ปุ่นเป็นตัวกลางในการประสานให้นักยกน้ำหนักทีมชาติไทย ชุดเตรียมสู้ศึกโอลิมปิกเกมส์ ค.ศ.2020 มาเก็บตัวร่วมกัน จากนั้นคณะทำงานยกน้ำหนักไทย ได้เดินทางไปประชุมร่วมกับนายคุราชิมะ เซจิ นายกเทศมนตรีเมืองฟูเอฟูกิ ที่ตั้งของโรงเรียนมัธยมฮิคาว่า ซึ่งเตรียมไว้เป็นสถานที่เก็บตัวฝึกซ้อม โดยมีคณะสื่อมวลชนญี่ปุ่น นำโดยสถานีโทรทัศน์ เอ็นเอชเค ติดตามทำข่าวอย่างใกล้ชิดตลอดวัน
"โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ ทั้งต่อนักกีฬา และด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยตอนนี้ได้หารือกันในเบื้องต้น ยังไม่ลงลึกในเรื่องกำหนดการและรูปแบบการเก็บตัว คาดว่าจะส่งจอมพลังมาปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้นักกีฬาไทยได้เปลี่ยนสถานที่ฝึกซ้อมด้วย" นางบุษบา กล่าว