ณ ดินแดนที่เสมือนทิพย์วิมานในเทพนิยาย และสวรรค์บนพื้นพิภพยามเช้าในฤดูหนาว กลุ่มสายหมอกจะลอยพาดผ่านยอดดอยพระตำหนัก หมู่มวล ดอกไม้นานาพันธุ์จะคลี่กลีบงามรับสายหมอก และท่ามกลางแสงแห่งตะวัน ดอกกุหลาบหลากสีต่างเบ่งบานสดใส ดูแล้วงดงาม ยากยิ่งจะพบได้จากที่แห่งใดในผืนแผ่นดินไทย
ทิพย์วิมานแห่งนี้คือ “พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นบนดอยบวกห้า ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2504 เพื่อใช้เป็นที่ประทับในโอกาสเสด็จฯแปรพระราชฐานประทับแรม ณ เชียงใหม่ เพื่อทรงงานและเยี่ยมเยือนราษฎรในเขตภาคเหนือ ตลอดจนรับรองพระราชอาคันตุกะที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย
“พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์” ตั้งอยู่บนระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,373.197 เมตร เนื้อที่โดยรอบพระตำหนักกินบริเวณ 400 ไร่ เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม 200 ไร่ การที่ทรงเลือกสร้างที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ภูมิประเทศสวยงาม อีกทั้งเป็นเมืองหลวงมาก่อน ยังดำรงรักษาจารีตขนบธรรมเนียมประเพณีดีงามไว้
...
“พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์” มีลักษณะสถาปัตยกรรมโดดเด่นแบบไทยประยุกต์ สร้างขึ้นในลักษณะแผนผังแบบเรือนไทยภาคกลาง ที่เรียกว่าเรือนหมู่ ก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูงหลังคาทรงไทย ภายในประกอบด้วยท้องพระโรง, ห้องเสวย, ห้องบรรทม, ห้องสรง และห้องรับรองสำหรับพระราชอาคันตุกะ ยังมีเฉลียงใหญ่และพลับพลาหอนก เป็นที่ประทับทอดพระเนตรทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่ ชั้นบนเป็นที่ประทับ ชั้นล่างเป็นที่อยู่ของมหาดเล็กและคุณข้าหลวง ออกแบบแปลนโดย “หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร” สถาปนิกพิเศษ กรมศิลปากร การก่อสร้างพระตำหนักใช้เวลา 5 เดือน จากนั้นทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ “หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี” เป็นทั้งสถาปนิก และมัณฑนากรออกแบบตกแต่งภายในพระตำหนัก ทั้งในส่วนที่ประทับและส่วนรับรองพระราชอาคันตุกะ ได้ใช้พระตำหนักในการรับรองพระราชอาคันตุกะครั้งแรก คือ สมเด็จพระเจ้าเฟรดเดริคที่ 9 และสมเด็จพระราชินีอินกริด แห่งเดนมาร์ก เมื่อเดือนมกราคม 2505 หลังจากนั้น ก็มีพระราชอาคันตุกะจากประเทศต่างๆมาประทับที่พระตำหนักภูพิงค์ต่อเนื่อง
อีกหนึ่งจุดเด่นของการเยี่ยมชม “พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์” คือ การชื่นชมดอกไม้เมืองหนาวนานาพันธุ์ที่บานสะพรั่งรอรับนักท่องเที่ยว ที่นี่เป็นแหล่งรวมของพันธุ์กุหลาบมากกว่า 263 พันธุ์ มีทั้งพันธุ์เก่าที่เผยแพร่มานาน และพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งนำออกเผยแพร่ ตลอดจนพันธุ์กุหลาบพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แบ่งเป็น 5 ประเภท คือ กุหลาบดอกเดี่ยว, กุหลาบพวง, กุหลาบพวงดอกใหญ่, กุหลาบหนู และกุหลาบเลื้อย
พระตำหนักแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเชียงใหม่ เพราะอากาศเย็นสบายตลอดปี และบานสะพรั่งด้วยดอกไม้นานาพันธุ์ แต่ยังเป็นสถานที่ที่พวกเราคนไทยจะได้มีโอกาสเข้าชมที่ประทับทรงงานเพื่อประชาชนของในหลวง รัชกาลที่ 9 พร้อมศึกษาประวัติศาสตร์การเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับพระราชอาคันตุกะทั่วโลก.