การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้ เป็นการเลือกตั้งที่มีสีสันที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เลยก็ว่าได้ เพราะเต็มไปด้วยจุดพลิกผันมากมายนับตั้งแต่เริ่มการหยั่งเสียงในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกันลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังถูกเล่นงานด้วยความปากเปราะของตัวเองอยู่เลย หลังสื่อเผยแพร่คลิปวิดีโอจากเทปรายการโทรทัศน์ที่อัดไว้เมื่อหลายปีก่อน แสดงให้เห็นมหาเศรษฐีจากนิวยอร์กผู้นี้ พูดจาดูหมิ่นผู้หญิง จนถูกประณามจากทั่วทุกสารทิศ ไม่ว่าจะฝ่ายตรงข้าม หรือฝ่ายเดียวกัน

แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับเป็นฝ่ายฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนพรรคเดโมแครต ที่กำลังตกที่นั่งลำบาก หลังจากเอฟบีไอขุดคดีที่นางคลินตันใช้อีเมลส่วนตัวของเธอในการรับ-ส่งข้อมูลราชการ สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งน่าจะจบลงไปแล้วตั้งแต่เมื่อเดือน ก.ค. กลับมาสอบสวนใหม่ กลายเป็นจุดหักเหล่าสุดในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งนี้

จุดเริ่มต้นกรณีอีเมลฉาว ฮิลลารี คลินตัน

...

จุดเริ่มต้นของเรื่องอื้อฉาวที่อาจเป็นตัวบ่อนทำลาย ฮิลลารี คลินตัน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้นั้น ต้องย้อนกลับไปในช่วงก่อนที่เธอจะสาบานตนรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ในรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา สมัยแรกเมื่อปี 2009 โดยในครั้งนั้น นางคลินตัน ได้ติดตั้งเซิร์ฟเวอร์อีเมลที่บ้านของเธอในเมืองชัปปากัว ในรัฐนิวยอร์ก

จากนั้นเธอก็ใช้เซิร์ฟเวอร์ตัวนี้สำหรับการติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน ตลอด 4 ปีที่อยู่ในตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า นางคลินตัน สร้างที่อยู่อีเมลบนเซิร์ฟเวอร์ตัวนี้ เพื่อมอบให้แก่ นางฮูมา อเบดิน ผู้ช่วยที่ทำงานด้วยกันมานาน และ นางเชอร์รีล มิลส์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้วย

นางคลินตัน รับและส่งอีเมลด้วยเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัว จำนวน 62,320 ฉบับ ระหว่างที่เธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในจำนวนนี้ 30,490 ฉบับ หรือประมาณ 55,000 หน้า เป็นข้อความราชการ แต่เธอไม่เคยใช้ หรือเข้าไปใช้งานอีเมลบัญชี ‘state.gov’ ซึ่งอยู่บนเซิร์ฟเวอร์ที่บริหารและเป็นเจ้าของโดยรัฐบาลสหรัฐฯ แม้แต่ครั้งเดียว

ประเด็นเรื่องการใช้เซิร์ฟเวอร์อีเมลส่วนตัวในการรับ-ส่งข้อมูลทางราชการของนางคลินตัน กลายเป็นข่าวครึกโครมระดับชาติในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน มี.ค. ปี 2015 เมื่อสำนักข่าวนิวยอร์ก ไทมส์ รายงานข่าวเนื่องนี้ และระบุว่า การตรวจสอบกระทรวงของคลินตันอาจผิดข้อกำหนดแห่งกฎหมายของประเทศ

นางคลินตันเคยออกมาแก้ตัวว่า สาเหตุที่เธอทำเช่นนี้เพราะการใช้อีเมลเดียว และโทรศัพท์เครื่องเดียวนั้นสะดวกสบายกว่า แต่หลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่แท้จริงของเธอคือการสร้างระบบอีเมลของตัวเอง เพื่อให้เธอสามารถควบคุมการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยสมบูรณ์ ทำให้เธอกลายเป็นผู้ตัดสินใจเพียงคนเดียวว่า อะไรควรหรือไม่ควรส่งให้รัฐบาล, เปิดเผยสู่สาธารณะผ่านคำร้องให้เปิดเผยข้อมูลด้วยสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล (freedom of information)

แล้วใช้เซิร์ฟเวอร์อีเมลส่วนตัวส่งข้อมูลราชการผิดกฎหมายหรือไม่?

ตามการวิเคราะห์ของสื่อต่างประเทศ เช่น บีบีซี กรณีการใช้เซิร์ฟเวอร์อีเมลส่วนตัวของนางคลินตัน อยู่ในพื้นที่สีเทาของกฎหมายการบันทึกข้อมูลแห่งชาติปี 1950 ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้เธอมีความผิดหรือไม่ก็ได้ อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนแปลงการตีความกฎหมายดังกล่าวหลายครั้งในยุคของนางคลินตัน โดยแต่เดิมกฎหมายนี้กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อีเมลส่วนตัว ต้องรับประกันว่าข้อมูลการติดต่อทางราชการด้วยอีเมลส่วนตัว จะถูกส่งให้แก่รัฐบาล แต่เพียง 10 เดือนหลังนางคลินตันรับตำแหน่ง ก็มีการออกกฎข้อบังคับใหม่ โดยอนุญาตให้ใช้อีเมลส่วนตัวได้ หากมีการเก็บรักษาข้อมูลราชการไว้ในระบบเก็บรักษาข้อมูลของรัฐอย่างเหมาะสม

นางคลินตัน เคยระบุว่า เธอทำตามข้อกำหนดในกฎหมายนี้แล้ว เนื่องจากอีเมลส่วนใหญ่จากบัญชีผู้ใช้ส่วนตัวของเธอถูกส่ง หรือฟอร์เวิร์ดไปถึงข้าราชการที่ใช้อีเมลของรัฐบาล ข้อมูลจึงถูกบันทึกโดยอัตโนมัติ ส่วนอีเมลอื่นๆ ก็ถูกส่งให้เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศหมดแล้ว หลังจากพวกเขายื่นเรื่องร้องขอต่อเธอ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอีกหลายคนก่อนหน้าเธอ ในเดือน ต.ค. 2014

...

เมื่อเดือน พ.ย. 2014 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ลงนามแก้กฎหมายการบันทึกข้อมูลแห่งชาติใหม่ โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องฟอร์เวิร์ดอีเมลติดต่อทางราชการใดๆ ให้แก่รัฐบาลภายใน 20 วัน แต่บทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนยังคงเป็นระดับโทษทางการบริหาร ไม่ใช่คดีอาญา และนางคลินตันก็ไม่มีความผิดอาญาจริงๆ ตามรายงานของเจ้าหน้าที่สืบสวนกระทรวงต่างประเทศ ที่เผยแพร่ในเดือน พ.ค. 2016 แม้การสืบสวนจะพบว่า การใช้เซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวของนางคลินตันละเมิดนโยบายของรัฐบาล

เดือนต่อมา เจมส์ โคเมย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ก็เปิดเผยผลการสอบสวนของพวกเขา ซึ่งได้ข้อสรุปว่า มีหลักฐานของความเป็นไปได้ที่จะเกิดการละเมิดกฎหมายอาญาเพื่อปกปิดการจัดการข้อมูลลับอย่างผิดพลาด แต่การตัดสินของพวกเขาไม่มีเหตุผลพอควรให้อัยการสั่งฟ้อง พวกเขาจึงส่งเรื่องนี้ให้กระทรวงยุติธรรม ซึ่งปิดคดีของนางคลินตันและผู้ช่วยของเธอโดยไม่มีการตั้งข้อหา

เอฟบีไอประกาศสอบสวนคดีอีเมลฉาวของนางคลินตันใหม่

นางคลินตัน ผ่านพ้นข่าวฉาวกรณีอีเมลส่วนตัวมาได้ในเดือน ก.ค. เธอเดินหน้าหาเสียง, ทำผลงานได้ดีในการดีเบตทั้ง 3 ครั้ง ขณะที่คู่แข่งอย่างมหาเศรษฐี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็เผชิญฝันร้ายจากอดีตอย่างวิดีโอเทปเก่าที่เขาเคยพูดจาดูถูกผู้หญิง จนทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แม้แต่เพื่อนรวมพรรครีพับลิกันหลายคนยังตีตัวออกห่าง คะแนนของทรัมป์ในผลโพลสำรวจความคิดเห็นก็ตกลงเรื่อยๆ ทุกอย่างกำลังเข้าทางคลินตัน

...

แต่แล้วในวันที่ 28 ต.ค. หรือ 11 วันก่อนจะถึงวันเลือกตั้งสหรัฐฯ นายโคเมย์ ผอ.เอฟบีไอ เจ้าเก่า กลับส่งจดหมายถึงสภาคองเกรสสหรัฐฯ ระบุว่าพวกเขาจะสอบสวนคดีการใช้เซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวของนางคลินตันเพิ่มเติม หลังจากค้นพบอีเมลใหม่ที่อาจมีส่วนเชื่อมโยงกับคดีนี้ ระหว่างการสืบสวนคดี นายแอนโธนี ไวเนอร์ อดีต ส.ส.นิวยอร์ก สามีของนางฮูมา อเบดิน ผู้ช่วยระดับสูงของนางคลินตัน ฐานส่งอีเมลข้อความไม่เหมาะสมให้เด็กหญิงอายุ 15 ปีคนหนึ่ง เพื่อหาอีเมลที่พบใหม่ว่ามีข้อมูลที่เป็นความลับหรือไม่

การตัดสินใจของนายโคเมย์ ที่เลือกดำเนินการเรื่องนี้ในช่วงเวลาสำคัญเช่นนี้นั้น เรียกเสียงโจมตีอย่างหนักจากพรรคเดโมแครต เช่น นายแฮร์รี รีด ประธานวุฒิสภาฝ่ายเสียงข้างน้อยของสหรัฐฯ ส่งจดหมายถึงนายโคเมย์ ว่าการกระทำของเขาอาจผิดกฎหมายฐานแทรกแซงการเลือกตั้ง ส่วน นางคลินตัน เรียกร้องให้นายโคเมย์เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับอีเมลที่พบออกมา และเชื่อว่าสุดท้ายแล้วผลสอบสวนจะสรุปออกมาว่าเธอไม่มีความผิด

ด้าน โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความลิงโลดอย่างเต็มที่ เขาประกาศเรื่องการสอบสวนใหม่ของเอฟบีไอ ระหว่างการหาเสียงในรัฐไอโอวา เพื่อหยั่งเสียงผู้สนับสนุน และได้รับเสียงเชียร์กึกก้อง “นี่เป็นความหวังของทุกคน ที่ในที่สุดความยุติธรรมก็เกิดขึ้นเสียที” ทรัมป์กล่าวท่ามกลางฝูงชน “เอฟบีไอคงไม่รื้อคดีนี้ขึ้นมาใหม่ในช่วงเวลาเช่นนี้ หากแต่เป็นการกระทำผิดกฎหมายอย่างมหันต์”

...

ผลกระทบต่อคลินตัน

นักวิเคราะห์ระบุว่า ผู้สนับสนุนนางคลินตันจะใช้เวลา 2-3 วันในการประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ก็เริ่มเห็นผลกระทบบ้างแล้วในผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยคะแนนเสียงสนับสนุนของนายทรัมป์เริ่มไล่ตามนางคลินตันมาติดๆ โพลของบีบีซี ให้นางคลินตันนำทรัมป์เพียง 2% เท่านั้นที่ 47% ต่อ 45%

ขณะที่ ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (Tracking Poll) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ของ วอชิงตัน โพสต์-เอบีซี นิวส์ ซึ่งจัดทำโดยสมาคมวิจัยแลงเจอร์ ทรัมป์ถึงกับขึ้นนำที่ 46% ต่อ 45% นับเป็นการขึ้นนำในการสำรวจความนิยมครั้งแรกของนายทรัมป์ นับตั้งแต่เดือน พ.ค. ทั้งที่เมื่อเกือบ 2 สัปดาห์ก่อน โพลเดียวกันนี้ยังชี้ว่านางคลินตันนำทรัมป์ห่างถึง 12% อยู่เลย

อย่างไรก็ตาม นายแอนโธนี เซอเชอร์ ผู้สื่อข่าวและนักวิเคราะห์ของบีบีซี เชื่อว่า ข่าวอื้อฉาวเรื่องอีเมลของนางคลินตันจะไม่ทำให้เธอเสียคะแนนโหวตในวันเลือกตั้งให้แก่นายทรัมป์มากมายนัก เพราะ ณ จุดนี้แล้ว จำนวนผู้สนับสนุนสองฝ่ายมีความห่างกันมากเกินไป

แต่ไม่ว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นหมัดน็อกสำหรับคลินตันหรือไม่ สิ่งที่แน่นอนก็คือ แม้ว่าเธอจะชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เธอก็จะถูกหลอกหลอนด้วยฝันร้ายที่ดำเนินมายาวนานนี้ตั้งแต่วันแรกที่เธอรับตำแหน่ง