(ภาพจาก : ประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)
นักศึกษา ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี กว่า 50 ชีวิต ลุยปลูกป่าชายเลนพร้อมเรียนรู้กฎหมายสิ่งแวดล้อม อาจารย์ผู้สอนเผย หมดยุคเรียนในห้องสี่เหลี่ยมอย่างเดียว ต้องเปลี่ยนจินตนาการเป็นของจริง คณบดี ชี้ ยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว วิชาการ-อนุรักษ์ธรรมชาติ-ช่องว่างระหว่างนศ.-ปชช. ...
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 59 ผศ.จิตรดารมย์ รัตนวุฒิ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้นำนักศึกษารายวิชากฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 50 คน ไปลงพื้นที่ป่าชายเลน ณ บ้านเฉงอะ หมู่ที่ 4 ต.ตะเคียนทอง อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อหารายวิชาผ่านสถานที่จริง พร้อมกระตุ้นให้นักศึกษาตระหนักถึงความสำคัญและได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง
“การนำนักศึกษาลงพื้นที่ป่าชายเลนในครั้งนี้จะเกิดผลใน 3 มิติด้วยกัน คือ 1. นักศึกษาได้เรียนรู้เนื้อหาของรายวิชาจากสถานที่จริง 2. นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจริง ลงมือทำเองจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่หาอ่านไม่ได้จากตำรา และ 3. นักศึกษาได้ลงไปคลุกคลีกับชาวบ้านและท้องถิ่น ทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีและถมช่องว่างระหว่างนักศึกษากับประชาชน” คณบดีคณะนิติศาสตร์กล่าว
...
ด้าน น.ส.ขวัญทยา บุญเชิด อาจารย์ผู้สอนรายวิชากฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันป่าชายเลนถูกบุกรุกทำลายจนลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ทั้งที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศมาก เป็นทั้งแนวป้องกันทางธรรมชาติที่ช่วยรักษาแนวชายฝั่งทะเลไม่ให้ถูกคลื่นลมกัดเซาะ เป็นทั้งแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำและช่วยกรองมลพิษบริเวณชายฝั่ง จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูอนุรักษ์โดยเร่งด่วน โดยอาจปรับปรุงพัฒนาการใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านและชุมชน
“ในส่วนของการจัดการเรียนการสอนนั้น ทุกวันนี้มันหมดยุคของการเรียนรู้เฉพาะในห้องเรียนสี่เหลี่ยมแคบๆ อย่างเดียวแล้ว ผู้สอนต้องเป็นคนนำเด็กก้าวออกไปสู่โลกกว้าง ต้องเปลี่ยนจินตนาการให้เป็นภาพจริง เด็กๆ ต้องได้สัมผัสเหตุการณ์และสถานที่จริง เพื่อที่พวกเขาจะได้เกิดประสบการณ์และเกิดการเรียนรู้ในมิติที่เป็นจริง เมื่อจบออกไปแล้วจะได้นำความรู้และประสบการณ์ไปใช้งานได้จริง” นางสาวขวัญทยา กล่าว
ทั้งนี้ นายกิตติศักดิ์ เพชรรัตน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่า การได้มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ทำให้ตนและเพื่อนๆ ตระหนักว่า การอนุรักษ์ป่าชายเลนจะเกิดผลสำเร็จอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากป่าเหล่านั้นในชีวิตประจำวัน ต้องสร้างความรู้สึกรักหวงแหน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนในท้องถิ่น เมื่อได้ลงมาทำกิจกรรมด้วยตนเองก็เกิดแรงจูงใจที่จะร่วมอนุรักษ์ และยังสามารถมีส่วนสำคัญในการทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองและคนในชุมชนเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย