เคาะไปเคาะมา ทะลุ 13,000 บาทต่อตัน

ตามรูปการณ์ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีหัวหน้าคสช. ต้องเป็นคนแถลงออกอากาศเองเลยว่า ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการ “จำนำยุ้งฉาง”

จะได้เงินจำนำข้าวหอมมะลิจาก ธ.ก.ส.ตันละ 9,500 บาท เงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพตันละ 2,000 บาท ค่าขึ้นยุ้งฉางและเก็บรักษาอีก 1,500บาท

ไม่ถึงขั้นรับจำนำข้าวทุกเมล็ดตันละ 15,000 บาท เหมือนอดีตรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

แต่มันก็คือมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ชาวนาที่ทุกรัฐบาลหนีไม่ออก บอกกันตรงๆไม่ได้ว่ามันคือวิธีการแทรกแซงกลไกการตลาด

วิถีธรรมชาติของเมืองเกษตรแบบประเทศไทย

แน่นอนว่า ผลกำไร ขาดทุน ตัวเลขความเสียหายคิดกันลำบาก เพราะ

มันแปรกลับมาในรูปชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไร่ ชาวนา

นี่คือข้อเท็จจริงที่น่าตะขิดตะขวงใจสำหรับรัฐบาลทหาร คสช.

เพราะอีกทางหนึ่งสถานการณ์ข้าวกำลังเป็นเดิมพัน ตามเงื่อนไขสำคัญในคดีที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดนไล่เช็กบิลให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวด้วยเงินมหาศาล 3.5 หมื่นล้านบาท

เรื่อง “ข้าว” กับการเมืองเลยพัวพันนัวเนียแกะออกจากกันไม่หลุด

เป็นจุดอันตรายที่ทุกรัฐบาลไม่กล้าท้าทายอารมณ์เดือดร้อนของชาวนา แม้แต่รัฐบาลทหาร คสช.ที่ว่าอำนาจแน่นปึ้ก ก็ไม่เสี่ยงลองของ

แบบที่กระทรวงมหาดไทยต้องส่งหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดยกเว้น 14 จังหวัดภาคใต้ ให้ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการเจรจาทำความเข้าใจปมราคาข้าว

รีบสกัดม็อบชาวนาเคลื่อนไหวแต่ต้นลม

ก่อนจะเคาะโต๊ะมาตรการ “จำนำยุ้งฉาง” เคลียร์สถานการณ์จบภายในช่วงแค่ 2–3 วัน

...

นั่นก็ชัดเจนว่า ทหารก็กลัวปัญหาข้าวบานปลายเป็นแรงเสียดทาน

แต่จุดที่น่าจะนำมาศึกษาเป็นบทเรียนจากปรากฏการณ์ข้าวราคาตกทะรูดทะราด สะท้อนภาพปัญหาเชิงโครงสร้างที่วนไปวนมาในอ่าง

คำตอบของปัญหาโลกแตกเรื่องข้าวที่แก้ไม่ตก

ชัดเจนสุดก็คืออาการลนๆของคนในรัฐบาล คสช.

ตั้งแต่นาทีแรกก็โทษนักการเมืองขั้วอำนาจเก่าจับมือกับพ่อค้าเจ้าของโรงสี โยนชาวนาไม่ยอมปรับตัวลดพื้นที่ปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น ตั้งแง่สื่อมวลชนประโคมข่าวทิ่มแทงรัฐบาล

โบ้ยก่อนเลย ยังไม่ทันเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) ด้วยซ้ำ

ทำให้ถูกวิจารณ์ ถนัดแก้ตัว แต่ไม่ชอบแก้ไข

ไม่ใช่แต่รัฐบาลที่ออกอาการไปไหนไม่ถูก ในมุมของชาวนาเองก็จ้องแต่เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ เรียกร้องทวงคืนโครงการรับจำนำข้าว

ไม่คิดช่วยตัวเองก่อน เอาแต่คอยให้คนอื่นมากู้สถานการณ์

ทั้งๆที่ปัญหาข้าวราคาตกแบบนี้ก็เคยประสบกันมาแทบจะปีเว้นปี ก่อนที่อดีตรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะอัดฉีดโครงการรับจำนำตันละ 15,000 บาท

“กระดูกสันหลังของชาติ” จึงถูกมองว่าชินกับการรับความช่วยเหลือจนเคยตัว

ภาพออกมาไม่สวยทั้งชาวนาและรัฐบาล

แต่อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางวังวนของปัญหาโลกแตกเรื่องข้าว มหากาพย์เรื่องเก่าๆของรัฐบาลและชาวนา

มันก็มีปรากฏการณ์แห่งความหวังผุดขึ้นมา

เมื่อได้เห็นอาการกระตือรือร้นของคนรุ่นใหม่ ลูกชาวนา นักศึกษา คนวัยทำงาน มีความคิดช่วยพ่อแม่ขายข้าวที่ปลูกเอง เพื่อกู้สถานการณ์ราคาข้าว โดยใช้ช่องทางผ่านการบอกปาก ต่อปากกันในกลุ่มคนรู้จัก โดยเฉพาะการขายข้าวผ่านโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม

เป็นการเพิ่มมูลค่าข้าว โดยตัดกลไกของพ่อค้าคนกลาง

ที่สำคัญได้ประโยชน์ทั้งชาวนาผู้ปลูกข้าวที่ได้ราคาเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชาชนผู้บริโภคก็ได้ซื้อข้าวราคาถูกกว่าข้าวถุงตามห้างสรรพสินค้า

และโดยสถานการณ์ “นำร่อง” ทำให้เห็นแนวโน้มในอนาคต การปลูกข้าวจะทำเท่าที่บริโภคในครัวเรือน ที่เหลือก็เอามาขายในราคาที่เป็นธรรม

ชาวนาแบ่งพื้นที่นาปลูกพืชอื่น ทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อสลับการสร้างรายได้ทั้งปี เป็นการแก้ปัญหาวงจรราคาข้าวในระยะยาว

ความหมายของคำว่า “พอเพียง” ชัดเจนเองโดยอัตโนมัติ

สถานการณ์กลายเป็นคำตอบ ปรัชญาของ “พ่อ” มีการสานต่อแล้ว.


ทีมข่าวการเมือง