นายกูเลนเป็นนักการศาสนาชาวตุรกีที่อายุมากแล้ว ไม่สนใจการเมือง ทว่าใส่ใจเรื่องการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ภายหลังมีคนนำแนวความคิดของท่านไปตั้งสถาบันทั่วโลก โดยเฉพาะโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมีมากถึง 1,200 แห่ง ใน 172 ประเทศ
นายเออร์โดกันเป็นประธานาธิบดีตุรกีคนปัจจุบัน อยากเล่นการเมืองก็ไปขอให้นายกูเลนช่วยสนับสนุน เพราะเห็นว่านายกูเลนมีคนศรัทธามาก ศาล อัยการ ตำรวจ ทหาร อาจารย์ ครู เจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ หลายแสนคนในตุรกีประกาศตัวว่าเป็นสาวกของนายกูเลน เมื่อนายกูเลน สนับสนุน นายเออร์โดกันก็ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีถึง 2 สมัย
พ.ศ.2556 นายเออร์โดกันโดนกล่าวหาว่าคอร์รัปชัน แกคิดว่านายกูเลนและพวกเป็นคนปล่อยข่าวและวางแผน ตั้งแต่นั้นมา นายเออร์โดกันก็ตั้งตัวเป็นศัตรูกับนายกูเลน กระทั่ง 15 กรกฎาคม 2559 มีรัฐประหารที่ตุรกี นายเออร์โดกันบอกโลกว่า นายกูเลนเป็นต้นคิดเรื่องรัฐประหาร และบรรดาสาวกของนายกูเลนที่อยู่ในตำแหน่งระดับสูงเป็นคนลงมือ
เมื่อปราบรัฐประหารได้ นายเออร์โดกันก็ปลดและจับทหารชั้นนายพล ศาล อัยการ ตำรวจ ทหาร อาจารย์ ครู เจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ เข้าคุกเกือบแสนคน นอกจากนั้น ยังติดต่อไปยังผู้นำประเทศต่างๆ ให้ยุบโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากสาวกของกูเลน (รวมทั้ง 4 โรงเรียนที่เมืองไทย) แต่ไม่ค่อยมีผู้นำประเทศไหนให้ความร่วมมือ
นายเออร์โดกันประกาศจับพวกที่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งเคารพศรัทธานายกูเลนและทำงานให้กับเครือข่ายโรงเรียนของนายกูเลน ผมพอทราบเรื่องนี้ เพราะชาวตุรกีในเมืองไทยมาเล่าเรื่องนี้ให้ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย พ่อของผมฟังหลายครั้ง
ครั้งล่าสุดเมื่อ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยบอกว่าตอนนี้ชาวตุรกี 3 คน ในมาเลเซียถูกอุ้ม คนแรกมีลูก 3 คน ทำงานด้านการศึกษาในมาเลเซียตั้งแต่ พ.ศ.2553 ทุ่มเทให้กับมูลนิธิที่ดูแลโรงเรียนไทม์อินเตอร์เนชันแนลในกรุงกัวลาลัมเปอร์ที่มีนักเรียน 450 คน และยังดูแลอีกโรงเรียนหนึ่งที่ขนาดเท่ากันในอีโปห์ เมืองหลวงของรัฐเประ
...
พฤหัสบดี 13 ตุลาคม 2559 ชาวตุรกีท่านนี้ออกจากบ้านเพื่อไปละหมาดอัสริอฺที่สุเหร่า และไม่กลับมาบ้านอีกเลย เมื่อไปแจ้งความ ตำรวจบอกว่าแกถูกลักพาตัว แต่พอถึงวันพฤหัสบดี รมว.ต่างประเทศตุรกีก็ออกมาพูดว่า นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค
ของมาเลเซีย ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาและช่วยจับตัวพลเมืองชาวตุรกีที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกับกูเลนมาให้เราเมื่อคืนวันพฤหัสบดี และพอถึงวันศุกร์ ประธานาธิบดีเออร์โดกันก็ออกมาพูดว่า “ไอ้คนที่หนีไปต่างประเทศ แกจะไม่รู้สึกปลอดภัย แกหนีไม่พ้นดอก”
พยานผู้เห็นเหตุการณ์ที่สุเหร่าเล่าให้ฟังว่า มีผู้ชายที่ไม่ใช่คนมาเลย์ 2 คน (สายลับตุรกี) มาอุ้มนักวิชาการท่านนี้ไป ส่วนที่โดนอุ้มในวันเดียวกันอีกคนมีบุตร 2 คน เป็นเลขาธิการของสมาคมธุรกิจตุรกี-มาเลเซีย โดนอุ้มในขณะที่กำลังอยู่ในโรงเรียนสอนภาษา การต่อสู้กันระหว่างประธานาธิบดีเออร์โดกันและพวกที่สนับสนุนนายกูเลนนี่ชักจะเลยเถิดกันไปใหญ่แล้วครับ มีการละเมิด Universal Declaration of Human Rights หรือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้การรับรองตามข้อมติที่ 217A (III) เมื่อ 10 ธ.ค. 2491 (ไทยเองก็ออกเสียงสนับสนุนด้วย)
นายนาจิบ ราซัค เป็นผู้นำของประเทศในประชาคมอาเซียน อาเซียนของเราเองก็มีคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอาเซียน เพื่อส่งเสริม คุ้มครองเรื่องสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียน แต่ท่านกลับมาละเมิดเสียเอง
มีคนเอารัฐธรรมนูญตุรกีมาให้อ่าน อ่านแล้วก็ชัดเจนครับ ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีเออร์โดกันปฏิบัติตรงกันข้ามกับ ม.19 ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญของตัวเอง
ตุรกีอยากจะเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป พยายามมาแล้วหลายสิบปี แต่ผมว่าเป็นไปได้ยากครับ เพราะการที่รัฐบาลตุรกีส่งสายลับมาอุ้มคนที่มาเลเซียเมื่อสัปดาห์ก่อน ผิดมาตรา 5 ของ European Court of Human Rights หรือศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป
ตอนที่รัฐบาลไทยส่งอุยกูร์ไปให้รัฐบาลจีน ตอนนั้นรัฐบาลตุรกีโวยวายน่าดู โจมตีไทยเรื่องสิทธิมนุษยชน อ้าว ทำไมวันนี้ รัฐบาลตุรกีกลับละเมิดสิทธิมนุษยชนซะเอง
ผมหวังว่า รัฐบาลไทยจะรักษามาตรฐานสากล ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบที่มาเลเซียและตุรกีทำนะครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com