หลายคนคงเคยได้ยินคำว่าสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์กันบ่อยๆ และอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงว่า เป็นคำที่มีความหมายเหมือนกัน ซึ่งจริงๆ แล้วอาจไม่ถูกต้องนัก โรคสมองเสื่อม คือ โรคที่ทำให้มีความจำเสื่อม และความสามารถด้านอื่นๆ ของสมองก็ลดลงไปด้วย เป็นโรคที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วน โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากเนื้อสมองเสื่อมสลาย กล่าวคือ โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคสมองเสื่อมเท่านั้นเอง ในต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยสมองเสื่อมที่มีสาเหตุจากอัลไซเมอร์เป็นจำนวนมาก มากถึง 50-70% เลยทีเดียว ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีตัวเลขผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่แน่ชัด แต่คาดว่าในไม่ช้านี้คงจะมีการศึกษา และหาคำตอบ

โรคสมองเสื่อมที่มีสาเหตุมาจากอัลไซเมอร์ จะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป ในระยะเริ่มแรกอาจไม่มีใครทราบว่าอาการที่เป็นอยู่คืออาการของอัลไซเมอร์ ญาติหรือคนใกล้ชิดอาจสังเกตเห็นว่าทำอะไรแปลกไปเล็กน้อย แต่คิดว่าแก่แล้วก็เป็นอย่างนี้เอง จนเมื่อผ่านไปราว 5-6 ปี ความผิดปกติต่างๆ จะแสดงออกมาชัดเจนขึ้น เช่น ลืมสิ่งที่ไม่น่าลืม ทำอะไรช้าลง สิ่งที่เคยเข้าใจก็ไม่เข้าใจ อธิบายอย่างไรก็ไม่เข้าใจ ทำให้คนที่ดูแลผู้ป่วยใกล้ชิดมีอารมณ์โกรธผู้ป่วยบ่อยครั้ง เพราะแม้แต่เรื่องง่ายๆ ที่เคยทำได้ก็กลับทำไม่ได้ เช่น การอาบน้ำแต่งตัว เรียกว่าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และจะเป็นมากขึ้นตามระยะอาการที่เป็น

เนื่องจากคนไข้อัลไซเมอร์มีเนื้อสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานด้านความจำ การรับรู้ ความเข้าใจ การสื่อสาร การเคลื่อนไหว การเขียน การคำนวณ และการวาดภาพ ฯลฯ ฝ่อตายลง ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุว่ามีอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์สมองตาย และไม่มีเซลล์สมองใหม่เกิดขึ้นมาแทน เมื่อสมองที่มีเหลือน้อยลง ก็ทำให้ส่วนที่เหลืออยู่ไม่สามารถทำงานได้ดังเดิม ทักษะที่เคยทำได้ เช่น อาจเคยซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ ทำงานช่างไม้ได้ดี มีฝีมือเย็บผ้า หรือเคยขับรถเป็น สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะสูญเสียไป ไม่สามารถเรียกกลับให้คืนมาได้ แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถชะลออาการให้เสื่อมช้าลงได้

การชะลอการเสื่อมให้เกิดขึ้นช้าลงจะช่วยให้ผู้ป่วยพึ่งพาตนเองได้ ถึงจะเป็นภาระก็ไม่ต้องเป็นภาระตลอดเวลา ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวได้ จำคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวได้ พอจะพูดคุยเข้าใจกันรู้เรื่อง และยังเข้าใจถึงความรักความอบอุ่นที่มีให้กันได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

...

พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน หน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม