คณะทำงานเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เขื่อนทดน้ำแห่งแรกของไทย สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ “พ่อหลวงรัชกาลที่ 9” พระราชทานพระราชดำริสร้างเพื่อบรรเทาทุกข์เรื่องน้ำ จวบจนทุกวันนี้
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 ต.ค. 59 นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนเจ้าพระยา สำนักชลประทานที่ 12 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประชาชนกว่า 400 คน ทำกิจกรรมแสดงความอาลัยถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ บริเวณเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท โดยมีการกล่าวคำอาลัย ยืนสงบนิ่ง และปล่อยปลา 999 ตัว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และแสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงให้ความสำคัญ พระราชทานแนวพระราชดำริจนกลายเป็นเขื่อนเจ้าพระยา บรรเทาทุกข์ให้พสกนิกรชาวไทยจวบจนทุกวันนี้
...
นายเอกศิษฐ์ ศักดิ์ดีธนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนเจ้าพระยา เปิดเผยว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงให้ความสำคัญ และตระหนักถึงความเดือดร้อนที่เกี่ยวกับน้ำของราษฎรทั่วทุกภูมิภาค จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริจนก่อเกิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในปัจจุบันกว่า 4,000 โครงการ สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของกรมชลประทาน และชาวชัยนาท ที่ได้พระราชทานแนวทางการบรรเทาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องน้ำให้กับพสกนิกร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อการอุปโภค บริโภค บรรเทาอุทกภัย และแก้ไขปัญหาน้ำทะเลหนุน
สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา เริ่มสร้าง พ.ศ. 2495 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2500 จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงงาน ทอดพระเนตร และเปิดเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ใช้ระยะเวลาสร้าง 6 ปี ทั้งนี้ เขื่อนเจ้าพระยา ไม่ใช่เขื่อนกักเก็บน้ำ แต่เป็นเขื่อนทดน้ำ สร้างขวางแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้น +16.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่งไปยังคลองต่างๆ ทั้งฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ระบายน้ำได้สูงสุด 3,300 ลบ.ม./วินาที ถือว่าเป็นเขื่อนที่ทำประโยชน์ให้พื้นที่ภาคกลาง ไม่เกิดปัญหาเรื่องน้ำอีกต่อไป มีพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์จากเขื่อนกว่า 7.5 ล้านไร่.