คุณอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เคยเล่าให้ฟังว่า ตอนไปดูงานโอวอป (One Village One Product) ที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นต้นตำรับของโอทอปทั่วโลก ได้ถามคุณทะดะชิ อันโดะ ผู้อำนวยโอวอป ว่าเป้าหมายของโอวอปคืออะไร คำตอบที่ได้รับเป็นกระดาษหนึ่งแผ่นเขียนว่า SEDTAKIDPORPEANG
เพราะญี่ปุ่นมีปัญหาคนแห่เข้ามาทำงานในเมือง เหลือเด็กกับคนแก่อยู่ที่ชนบท เป็นภาระให้รัฐบาลต้องดูแล รัฐบาลเลยผลักดันให้คนชนบททำเกษตรแปรรูป ทำให้ท้องถิ่นแข็งแกร่งและมีรายได้เพิ่ม ซึ่งคล้ายคลึงกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
ที่น่าภูมิใจอีกอย่างคือคุณทะดะชิบอกว่า สินค้าโอทอปของไทยพัฒนาไปไกลกว่าสินค้าโอวอปมากแล้ว เพราะไทยมีภูมิปัญญาท้องถิ่นมากมาย ทำให้สินค้ามีความหลากหลายและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ก็เป็นไปอย่างผมเคยเขียนไว้ว่า แนวทางประชารัฐที่เห็นผลชัดเจน คือการส่งเสริมสินค้าโอทอป วันนี้ผมจะมาต่อยอดเล่าถึง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทาง “สานพลังประชารัฐ” หลักการคือประสานความร่วมมือของ 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ (สนับสนุน) ภาค เอกชน (ขับเคลื่อน) ภาควิชาการ (ให้องค์ความรู้) ภาคประชาสังคม (สร้างความเข้มแข็ง) และ ภาคประชาชน (ลงมือทำ) โดยดึงจุดเด่น ของแต่ละภาคส่วนมาใช้ประโยชน์
ในที่สุดก็มีการก่อตั้ง บริษัทประชารัฐรักสามัคคี ทำงานในรูปแบบโซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม แม้แต่ ศจ.ปีเตอร์ เซงเก้ ผู้เชี่ยวชาญด้านองค์กรแห่งการเรียนรู้ สถาบัน MIT ยังชมว่า “การทำงานข้ามภาคส่วนในลักษณะนี้ และเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ยังไม่เคยเห็นที่ไหนในโลกมาก่อน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน และเชื่อว่าประเทศไทยสามารถทำได้”
อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นของใหม่ ก็ยังต้องลองผิดลองถูกกันไป และต้องมีการประเมินผล
...
นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทยเมื่อ 7 เดือนก่อน มาจนถึงขณะนี้ตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคีแล้ว 53 จังหวัด หลายแห่งปรากฏผลการดำเนินงานออกมาเป็นรูปธรรม
อย่างเช่น กรณีแก้ปัญหา ลำไยเชียงใหม่ที่โดนล้งจีนกดราคารับซื้อกิโลกรัมละแค่ 18 บาท บริษัทประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่ได้แนะนำให้ผู้ปลูกลำไยทำธุรกิจครบวงจร มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ไปช่วยสอนการแต่งกิ่ง โดยให้ท็อปส์ มาร์เก็ต รับซื้อลำไย 100,000 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 41 บาท และดึงธนาคารกรุงเทพมาช่วยออกเงินสำรองให้ชาวสวนก่อน เพราะระบบบัญชีของท็อปส์จะคิดเครดิตเป็นเดือน เมื่อทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปพร้อมกันก็แก้ปัญหาได้
หรืออย่างกรณีบริษัทประชารัฐรักสามัคคีชุมพรได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์มาช่วยวิจัยและพัฒนาการเก็บรักษากล้วยเล็บมือนาง เพื่อลดปัญหากล้วยล้นตลาดในหน้าฝน และ ขาดตลาดในหน้าแล้ง ทำให้สามารถเก็บกล้วยใช้ได้นานถึง 6 เดือน รวมทั้งประสานบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เข้ามาช่วยซื้อกาแฟดริป ของกลุ่มกาแฟถ้ำสิงห์ เป็นเงิน 1 ล้านบาท ทำให้สมาชิกกว่า 400 คน มีรายได้เพิ่มขึ้น
ล่าสุดบริษัทประชารัฐรักสามัคคีนครสวรรค์ได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหา ฝรั่งราคาตกจากภาวะน้ำท่วม และถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาเหลือกิโลกรัมละ 8 บาท โดยขอให้ห้างสรรพสินค้าวีสแควร์ พลาซ่า ช่วยสนับสนุนสถานที่จำหน่ายฝรั่งกิมจู ให้ชาวสวนตัดมาขายเอง ซึ่งขายได้ราคา กิโลกรัมละ 25 บาท มีรายได้เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว
บริษัทประชารัฐรักสามัคคีไม่ใช่แค่ทำงานจังหวัดใครจังหวัดมันเท่านั้น ยังมีโมเดลการทำงานแบบรวมกลุ่มจังหวัด หรือคลัสเตอร์ วันพรุ่งนี้จะมาเล่าให้ฟังต่อครับ.
ลมกรด