นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากวิวัฒนาการทางการแพทย์ปัจจุบันส่งผลให้ประชาชนมีอายุยืนยาวขึ้น แต่คนเหล่านี้มักประสบปัญหาด้านความเสื่อมถอยของร่างกายตามมา โดยเฉพาะกระดูกที่เป็นโครงสร้างยึดเกาะกล้ามเนื้อ หากเนื้อกระดูกมีความหนาแน่นลดลงจะส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้ ซึ่งอันตรายคือต้องระวังการแตกหัก ของกระดูกบริเวณสะโพก ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดเรื้อรังและรุนแรงถึงขั้นพิการ โดยเฉพาะสตรีที่หมดวัยเจริญพันธุ์ ภาวะกระดูกพรุนมักเกิดกับผู้สูงอายุ โดย เฉพาะสตรีอายุ 65 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วใน 5 ปีแรก ทำให้กระดูกหักได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง สะโพก และข้อมือ ส่งผลให้เกิดปัญหาการเดินและการเคลื่อนไหวร่างกาย อาการภาวะกระดูกพรุนที่พบ คือ ปวดหลัง ตำแหน่งที่ปวดไม่ชัดเจนอาจปวดร้าวข้างใดข้างหนึ่ง กระดูกหลังยุบตัว หลังค่อม ความสูงลดลง หากพบความผิดปกติดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ทันที เมื่อได้รับการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะมีแนวทางรักษา ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจมีส่วนประกอบของสารสเตียรอยด์ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนมากขึ้น.