ผู้แทนกว่า 150 ประเทศบรรลุข้อตกลงที่การประชุมในประเทศรวันดา ให้แต่ละประเทศลดการใช้สาร ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน สารก่อก๊าซเรือนกระจก ตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนแล้ว...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 15 ต.ค. ที่การประชุมสมาชิกพิธีสารมอนทรีออล ว่าด้วยสารที่ทำลายชั้นโอโซน ที่กรุง คิกาลี เมืองหลวงของประเทศรวันดา ผู้แทนจากกว่า 150 ประเทศบรรลุข้อตกลงแก้ไขข้อกำหนดใน พิธีสารมอนทรีออล ให้แต่ละประเทศลดการใช้สาร ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) หนึ่งในสารที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกแล้ว
นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลักดันให้เกิดข้อตกลงดังกล่าว ระบุว่า นี่เป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของโลก และมอบโอกาสให้มนุษย์สามารถลดความร้อนของโลกลงได้ถึงครึ่งองศา
ข้อตกลงใหม่นี้จะมีผลแตกต่างกันใน 3 กลุ่มประเทศ โดยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา และอื่นๆ จะเริ่มการจำกัดการใช้สาร HFCs ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า และจะลดการใช้ลงอย่างน้อย 10% นับตั้งแต่ปี 2019
ส่วนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีน, ชาติในละตินอเมริกา และประเทศเกาะต่างๆ จะหยุดการใช้สาร HFCs ตั้งแต่ปี 2024 ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อย่าง อินเดีย, ปากีสถาน, อิหร่าน, อิรัก และชาติอาหรับ จะหยุดการใช้สาร HFCs ตั้งแต่ปี 2028
...
ทั้งนี้ สาร HFCs ถูกใช้อย่างกว้างขวางในตู้เย็น, เครื่องปรับอากาศ และสเปรย์ปรับอากาศ กำลังเป็นภัยคุกคามต่อสภาพอากาศอย่างเร่งด่วน เนื่องจากการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น และมีฤทธิ์ทำให้โลกร้อนสูงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์หลายพันเท่า
แต่หากข้อตกลงล่าสุดสามารถบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ มันจะสร้างเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ให้กับภาวะโลกร้อน โดยผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า มันจะมีผลเทียบเท่ากับการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศโลกประมาณ 7 หมื่นล้านตันภายในปี 2050