ในยุคสมัยแห่งเทคโนโลยี ทุกอย่างล้วนรวดเร็วฉับไว เด็กยุคใหม่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกนานาประการ แทบจะเรียกได้ว่าทุกอย่างนั้น “สั่งได้” ดั่งใจนึก แต่ความฉลาดทางด้านสติปัญญา (ไอคิว) และความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ของเด็กยุคใหม่ก็อาจถูกบั่นทอนจากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มากจนเกินไป ทำให้เด็กขาดพัฒนาการทางด้านความคิดและการสื่อสาร จึงจำเป็นที่เด็กไทยยุคใหม่ควรถูกสอนให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ สามารถก้าวทันโลกได้ ซึ่งพ่อแม่ย่อมมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเตรียมความพร้อมสร้างสมองรับอนาคตให้แก่ลูกน้อยด้วยการดูแลด้านโภชนาการอย่างสมบูรณ์ครบ ถ้วน และเสริมทักษะที่จำเป็น

วันนี้ผมมีข้อมูลที่น่าสนใจ จากเอนฟา เอพลัส ซึ่งคุณผู้อ่านสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการเลี้ยงบุตรหลานของท่านมาฝากกันครับ

เริ่มจากท่านแรกคือ คุณกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ อาจารย์พิเศษด้าน Intercultural Communication ซึ่งเคยศึกษา และมีประสบการณ์การใช้ชีวิตในประเทศฟินแลนด์ ให้ความเห็นว่า “ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและเทคโนโลยีการสื่อสารสามารถเชื่อมถึงกันได้ง่ายมาก เด็กไทยวันนี้จึงต้องรู้ว่า ถ้าเอาตัวเราไปอยู่ในโลกท่ามกลางคนจากหลายวัฒนธรรม เราต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ไม่ใช่แค่รู้ว่าคนอื่นเขาเป็นอย่างไร ฉะนั้น หากดูการศึกษาในโรงเรียนไทยทั่วไป จะเห็นว่า แทบไม่มีการศึกษาสิ่งเหล่านี้ในหลักสูตรของเรา ทั้งที่การตั้งคำถามกับวัฒนธรรมกับสิ่งที่ตัวเองเป็น คือต้นกำเนิดของการคิดวิเคราะห์ให้แก่เด็ก นอกจากนี้ ความรู้พื้นฐานทั้งเรื่องภาษาและวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการต่อยอดทางสังคมด้วยเช่นกัน ดังนั้น เด็กยุคใหม่จึงจำเป็นต้องมีทักษะใน การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) และ ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เมื่อต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเวลาพบปะคนต่างวัฒนธรรม รวมทั้งต้องเรียนรู้ การทำงานร่วมกับคนอื่น (Collaboration) และสามารถ สื่อสารสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ชัดเจน (Communication)

...

“หากพูดถึงเรื่องระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ เราต่างรู้กันว่าเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุด เพราะเขาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่ความรู้เฉพาะในห้องเรียน แต่จะเน้นเสริมประสบการณ์ผ่านการใช้ชีวิตประจำวันมากกว่า เด็กวัยเตรียมอนุบาลในฟินแลนด์จะได้เล่นสนุกทั้งวัน เพราะเชื่อว่าทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กมีความสุข แล้วสมองที่เป็นเหมือนฟองน้ำก็จะเกิดการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัวได้เอง ในขณะที่เด็กวัยเดียวกันในบ้านเราเริ่มหัดอ่านเขียนกันเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว ดังนั้น เด็กฟินแลนด์จึงเป็นเด็กที่ใช้เวลาในห้องเรียนน้อยที่สุดในโลก แต่การวัดผลกลับกลายเป็นว่าเด็กของเขาฉลาดที่สุดในโลก ผิดจากเด็กไทยที่ถูกสอนมาด้วยวิธีการที่ค่อนข้างไม่ยืดหยุ่นเอาเสียเลย การเรียนรู้ถูกจำกัดอยู่ในห้องเรียนบ้าง ในหนังสือบ้าง เราจึงเสียเปรียบเด็กชาติอื่นๆ ตั้งแต่ต้นทุนวิธีการเรียนรู้ โดยยังใช้วิธีการวัดผลแบบท่องจำ ซึ่งกลายเป็นการหยุดการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กอย่างไม่ตั้งใจ

“การสร้างความฉลาดให้แก่เด็กในประเทศฟินแลนด์ที่สำคัญอีกอย่างคือวัฒนธรรมการอ่าน ซึ่งวัฒนธรรมนี้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นและเป็นพฤติกรรมเลียนแบบจากการที่เด็กเห็นพ่อแม่อ่านหนังสือตลอดเวลา จึงเห็นได้ว่าแวดวงวรรณกรรมของประเทศนี้เฟื่องฟูมาก ในทางกลับกันหากพูดถึงการใช้เทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยภาพรวมผู้ปกครองในประเทศฟินแลนด์มองว่า อยู่ที่การสอนของผู้ใหญ่และอายุของเด็กว่าควรใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นอย่าง ไร และเมื่อไหร่ เขาไม่มองว่าเทคโนโลยีจะทำให้พัฒนาการของเด็กลดลง แต่จะบอกว่าถ้าเด็กคนไหนสนใจเทคโนโลยีก็จะผลักดันให้เด็กทำในสิ่งที่เขาชอบอย่างเต็มที่ ซึ่งหน้าที่ของพ่อแม่คือการทำความเข้าใจและพร้อมสนับสนุนทุกเรื่องที่เด็กสนใจอย่างเต็มที่

“นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบการเลี้ยงดูของประเทศฟินแลนด์กับบ้านเราก็จะเห็นความแตกต่างชัดเจนเช่นกัน พ่อแม่ไทยจะฝากความฉลาด ความหวังและความรับผิดชอบไว้กับโรงเรียน ดังนั้น พ่อแม่ไทยก็จะยอมลงทุนมหาศาลกับการศึกษาของลูก แต่ผู้ปกครองในประเทศฟินแลนด์กลับมองว่าครูที่ดีที่สุดคือพ่อแม่ ดังนั้นเขาจะเอาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของลูกทุกอย่าง และพ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมกับทุกกิจกรรมนอกหลักสูตรที่จัดขึ้นในโรงเรียนของลูก เช่น ร่วมกันจัดทัศนศึกษา เป็นโค้ชให้ทีมฟุตบอล ฯลฯ เพราะเขามองว่าการเรียนรู้และการเติบโตเกิดขึ้นได้ทุกที่โดยมีพ่อแม่คอยใส่ใจและช่วยส่งเสริมอยู่เสมอ”

ทีนี้ เราลองมามาฟังมุมมองของคุณพ่อคุณแม่มือใหม่อย่าง คุณ เบนซ์-พรชิตา และคุณ มิค-บรมวุฒิ หิรัณยัษฐิติ ที่มีแนวทางการเลี้ยงดู น้องปริม ลูกสาวสุดน่ารักให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยคุณเบนซ์ได้บอกว่า “เบนซ์โตมาจากครอบครัวที่มีความเป็นไทยแท้ ส่วนพื้นฐาน ครอบครัวของพี่มิคจะมีการเลี้ยงดูที่ผสมผสานแบบตะวันตกมากกว่า เราจึงต้องหาวิธีการเลี้ยงดูที่พอดีกับลูกของเรา เบนซ์มองว่าเด็กในปัจจุบันความฉลาดทางอารมณ์ และมีทักษะที่หลากหลายมีความสำคัญพอๆกับความฉลาดทางด้านสติปัญญา ถ้าเป็นไปได้จะพยายามไม่ให้ลูกดูโทรทัศน์หรือเล่นไอแพด เพราะมันทำให้เขาขาดทักษะการสื่อสารและอาจส่งผลให้เกิดสมาธิสั้น”

...

“นอกจากนี้ เบนซ์จะส่งเสริมให้ลูกคิด ตัดสินใจ และแก้ไขปัญหาเอง เป็นการเพิ่มทักษะในการคิดวิเคราะห์อีกทางหนึ่ง เพราะเมื่อถึงวันที่เกิดปัญหาเขาจะได้ช่วยเหลือตัวเองได้ และแน่นอนว่าสิ่งที่เขาคิดและลงมือทำ ไม่จำเป็นต้องทำตามคนอื่น เราสนับสนุนให้เขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่”สำหรับคุณมิคให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ถ้าพูดถึงความกังวลของการเป็นพ่อแม่ แน่นอนว่าเราต้องกังวลว่า อนาคตลูกของเราจะเติบโตในโลกที่หมุนเร็วแบบนี้ได้อย่างไร ยิ่งสมัยนี้คนเราถูกครอบงำด้วยเทคโนโลยี ทุกอย่างต่างมีข้อดีและข้อเสีย หากพ่อแม่ที่ยื่นโทรศัพท์หรือไอแพดให้ลูกได้เล่นเกมที่สร้างสรรค์ หรือเกมที่ถูกคิดค้นมาให้เหมาะกับเด็กในแต่ละวัย มันคงมีประโยชน์มากกว่าปล่อยให้เด็กเปิดดูยูทูบและเสพในสิ่งที่ไม่เหมาะสมมากกว่า และแน่นอนว่าเราคงพยายามให้เขาได้เล่นสิ่งที่เหมาะกับวัยเค้าให้นานที่สุดเท่าที่ทำได้”

...

“อย่างที่ทุกคนบอกว่า เด็กคือผ้าขาว เราคือผู้เติมสีให้เขาเอง เด็กจะ โตขึ้นมาอย่างไรนั้น อยู่ที่วิธีการเลี้ยงดู ดังนั้น สิ่งแรกที่มิคจะสอนลูกคือการรู้จักแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นการขอบคุณ การกอดกัน ให้คำชม ซึ่งสิ่งเหล่านี้คงต้องใช้จิตวิทยาในการสอนที่สูงมาก แต่ตราบใดที่ลูกมีทักษะด้านนี้ รู้จักที่จะให้ (Give) และรับ (Take) มิคเชื่อว่าโตขึ้นเขาจะไม่มีความเห็น แก่ตัวหรือเอาเปรียบคนอื่นแน่นอน”

การที่เด็กจะเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่างๆเหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับโภชนาการที่ดี เพื่อพัฒนาสมองตั้งแต่สามขวบปีแรกของชีวิต สำหรับข้อมูลส่วนนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ให้ความรู้ไว้ดังนี้ครับ

“เพราะคาดเดาล่วงหน้าไม่ได้ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร พ่อแม่จึงต้องเตรียมลูกให้รอบด้าน คือเปิดโอกาสให้ลูกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเด็กจริงๆ มีอยู่ไม่กี่เรื่องคือ ความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง การแก้ปัญหาการปรับตัวเข้ากับผู้คนและสิ่งแวดล้อม ความสามารถในการสื่อสาร และสามารถที่จะควบคุมตัวเองให้ได้ในทุกสถานการณ์ ถ้าพ่อแม่สามารถเลี้ยงลูกให้ฉลาดคิดและฉลาดทำได้ เด็กก็จะสามารถเติบโต พัฒนา และเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง”

...

“นอกจากนี้ หากพ่อแม่เข้าใจเรื่องพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย จะรู้ว่าตอนนี้ลูกของเราขาดทักษะด้านไหน และควรจะเติมอะไร ซึ่งพัฒนาการทุกด้านจะสมบูรณ์ได้ มาจากเรื่องเล็กๆน้อยๆในชีวิตประจำวันที่เราอาจคาดไม่ถึง เช่น เด็กทำลูกบอลกลิ้งเข้าไปใต้โต๊ะ การคิดว่าเขาจะคลานเข้าไปหยิบ เรียกคนอื่นมาช่วยหยิบ หรือไปเอาไม้กวาดมาเขี่ยลูกบอลออกมา ทั้งหมดนี้เป็นการพัฒนาสมองในส่วนการคิดวิเคราะห์ฉับไว ความคิดสร้างสรรค์ การร่วมมือแบ่งปัน และการสื่อสารเฉียบคม ซึ่งเป็น 4 ทักษะ แห่งอนาคตที่สำคัญ และเด็กๆจะขาดทักษะทั้งหมดนี้ไปถ้าหากมัวแต่นั่งเล่นหน้าจอต่างๆ หรือถ้าพ่อแม่ไปจำกัดทางเลือกโดยคิดทุกอย่างไว้ให้ล่วงหน้า หรือทำทุกอย่างให้หมด”

“และปฏิเสธไม่ได้ว่า การพัฒนาทักษะทุกด้านโดยเฉพาะ 4 ทักษะแห่งอนาคต มาจากพื้นฐานการพัฒนาสมองที่สมบูรณ์ ดังนั้น โภชนาการก็สำคัญ การรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนล้วนมีส่วนช่วยพัฒนาสมองได้อย่างครอบคลุม ยกตัวอย่างสารอาหารบางชนิด เช่น กรดไขมันจำเป็นอย่าง DHA ที่ได้รับจากปลาทะเลอย่างทูน่าหรือแซลมอน หรือปลาน้ำจืดที่มีไขมันเยอะอย่างปลาดุก ปลาสวาย หรือปลาสลิด ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ช่วยให้สมองของลูกพร้อมสำหรับการพัฒนาทักษะอื่นๆได้อย่างรวดเร็วในอนาคต”

ยิ่งเซลล์สมองมีการเชื่อมต่อมากขึ้นและเร็วขึ้นเท่าไร พัฒนาการทางสมองของเด็กก็จะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยทางการแพทย์ที่พิสูจน์แล้วว่า ดีเอชเอในปริมาณที่เหมาะสม ช่วยส่งเสริมการทำงานของสมอง พัฒนาระดับสติปัญญาการคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร และการแก้ปัญหาซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญของเด็กได้

การที่ผู้ปกครองช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้กับลูกหลานทั้งด้านทักษะทางสติปัญญาและโภชนาการที่เหมาะสม จะช่วยให้เด็กยุคใหม่สามารถเติบโตและก้าวทันโลกได้อย่างสมบูรณ์และมีความสุขอย่างแน่นอนครับ.

โดย :รายทาง
ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน