“แรมซาร์ ไซต์” (RAMSAR SITE) หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) เวลานี้กำลังกลายเป็นอีกประเด็นที่มีการกล่าวถึงกันมากในเวทีสิ่งแวดล้อมโลก

สิ่งที่เรียกว่า “พื้นที่ชุ่มน้ำ” หมายถึง ทั้งพื้นที่ลุ่ม ที่ชื้นแฉะ ที่ฉ่ำน้ำ ที่ซึ่งมีน้ำท่วมขัง บางแห่งเป็นพื้นที่ป่าพรุ ทั้งแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำจืดและน้ำเค็ม รวมทั้งพื้นที่ชายฝั่งทะเล ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ป้องกันน้ำเค็มไม่ให้รุกเข้าไปในแผ่นดิน ป้องกันชายฝั่งไม่ให้พังทลาย ทำหน้าที่ดักจับตะกอน แร่ธาตุ ดูดจับสารพิษ รวมทั้งยังเป็นแหล่งรวมสายพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์

หากพื้นที่ใดมีบทบาทเช่นว่านี้ ก็ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ “ป่าชายเลน” จึงเป็นหนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ และมีกิจกรรมมากมายก่ายกอง เช่น เป็นที่พักอาศัยและหากินของลิงแสม ยิ่งป่าชายเลนแถบไหน ที่ยังมีป่าโกงกางที่สมบูรณ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบได้ทั่วไปบริเวณปากแม่น้ำ ยิ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ในฐานะเป็นต้นกำเนิดของห่วงโซ่อาหาร ช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากน้ำทะเล รวมทั้งยังเป็นแหล่งทรัพยากรให้ผู้คนได้พึ่งพาหาเลี้ยงปากท้อง

แม้หลายคนรู้ดีว่า ป่าชายเลนเป็นทรัพยากรชายฝั่งที่มากคุณค่า เอื้อประโยชน์ต่อผู้คน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมาช้านาน แต่ทุกวันนี้ป่าชายเลนในหลายพื้นที่ กลับถูกบุกรุกทำลาย จนเสื่อมโทรมไปทั่ว

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าชายเลนเสื่อมโทรมอย่างหนัก เกิดจากการนำทรัพยากรภายในป่าชายเลนไปใช้มากเกินขีดความสามารถที่ธรรมชาติจะผลิตขึ้นทดแทนได้ทัน

สิ่งที่ตามมาคือ ผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศป่าชายเลนโดยตรง และระบบนิเวศอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องบริเวณชายฝั่ง

...

การเปลี่ยนแปลงนี้ ยังส่งผลให้ชนิดและปริมาณสัตว์น้ำและแนวป้องกันคลื่นลมและแนวป้องกันการพังทลายของพื้นที่บริเวณชายฝั่งลดลง มีส่วนทำให้มลพิษและตะกอนเริ่มไหลลงสู่ชายฝั่งทะเลและแม่น้ำปริมาณมากขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนบริเวณป่าชายเลน และเศรษฐกิจของประเทศ

แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น หันมาร่วมมือกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลนกันมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังคงประสบกับปัญหาการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ไม่ถูกต้อง และยังไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของชุมชนโดยรอบป่าชายเลนอยู่ดี

วันก่อน สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พูดถึงการจัดการป่าชายเลนเชิงบูรณาการ ในที่ประชุมด้านวิชาการป่าชายเลนว่า

รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้นโยบายไว้ว่า นอกจากจะต้องทวงคืนผืนป่าที่ถูกบุกรุกเอากลับคืนมาให้ได้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังต้องรักษาสภาพป่าที่สมบูรณ์ ที่คงเหลืออยู่เอาไว้ให้ได้อีกด้วย นี่คือภารกิจสำคัญของกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“ข่าวดีก็คือ เฉพาะปีนี้เราสามารถทวงคืนพื้นที่ป่ากลับคืนมาได้แล้วทั้งสิ้นประมาณ 18,000 ไร่ ถ้าใช้งบประมาณในการทวงคืน อย่างเก่งก็ได้เต็มที่แค่ไม่เกินปีละประมาณ 1,000 ไร่เท่านั้น นั่นหมายความว่า การจะทวงคืนผืนป่าต้องใช้หลายแนวทางร่วมกัน”

อธิบดีฯยกตัวอย่าง การที่บางชุมชนนำผลผลิตจากป่าชายเลนไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ จำพวกสบู่ แชมพู หรือยาสระผมนั้น แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องดีที่น่าส่งเสริม เพราะมีการนำสมุนไพรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น ไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม

แต่เธอว่า ในสภาพความเป็นจริง จะมีสักกี่รายกันที่ได้ใช้แชมพู หรือสบู่จากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากป่า ส่วนใหญ่ยังคงไปซื้อสบู่และแชมพู ที่โฆษณาขายกันตามทีวี หรือที่มีขายอยู่ในเซเว่นฯ มาใช้กันมากกว่า ใช่หรือไม่

ทำนองเดียวกับการที่ภาคเอกชนหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจบางแห่ง เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) หรืออีกหลายหน่วยงาน ที่เสนอตัวจะเข้ามาเป็นผู้ลงทุน หรือให้การสนับสนุนภาครัฐและชุมชน ช่วยฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนนั้น

เธอว่า มองในภาพรวมแล้วน่าจะเป็นเรื่องดี แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเข้ามาของภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ส่วนหนึ่งต้องการนำเอาการลงทุนส่วนนี้ ไปเป็นสิทธิประโยชน์ในการช่วยลดหย่อนภาษี หรือบางรายยังมีแผนจะนำไปใช้เคลม “คาร์บอนเครดิต”

สิ่งที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ปัจจุบันกำลังเป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง สำหรับประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศอุตสาหกรรม (ก่อมลภาวะด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ) รวมทั้งเป็นที่ต้องการของอีกหลายองค์กร หรือหน่วยงาน ที่มีกิจกรรมอันเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก๊าซมีเทน ฯลฯ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน หรือภาวะเรือนกระจก

ทั้งประเทศพัฒนา และองค์กรที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนเหล่านั้น ล้วนต้องการนำเอาเครดิตที่เกิดจากกิจกรรม หรือการกระทำใดก็ตาม ที่มีผลในการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือลดภาวะโลกร้อนได้ แลกหามาด้วยการซื้อเก็บไว้เป็นเครดิตขององค์กร เพื่อนำไปใช้เคลม หรือหักลบกับมลภาวะที่ตนเป็นผู้ก่อ เรียกว่า “การเคลมคาร์บอนเครดิต”

ยกตัวอย่าง พืชพรรณไม้ในป่าชายเลนที่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหนทางที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ อาทิ ต้นโพทะเลก้านสั้น สามารถดูดซับได้ถึง 0.72 ตันคาร์บอน หยีทะเล 0.77 ตันคาร์บอน แสมขาว 0.68 ตันคาร์บอน แสมดำ 0.63 ตันคาร์บอน

โกงกางใบใหญ่ 0.42 ตันฯ โกงกางใบเล็ก 0.35 ตันฯ ตะบูนดำ และ โปรงแดง 0.21 ตันฯ สีง้ำ 0.28 ตันฯ และ ถั่วขาว 0.19 ตันฯ เป็นต้น

...

สุทธิลักษณ์บอกว่า ถ้าองค์กรหรือหน่วยงานใดต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมฟื้นฟูป่าชายเลน และต้องการนำเอาพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกและช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ปีละมหาศาล ไปใช้เคลมคาร์บอนเครดิตให้แก่องค์กรของตน ต่อไปนี้จะต้องมีการตกลงกันใหม่...

เช่น ระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน จะได้รับคาร์บอน เครดิตไปฝ่ายละเท่าไร โดยพิจารณาจากการฟื้นฟู หรือการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ป่าชายเลน รวมทั้งภาคเอกชนยังต้องเข้าไปร่วมถือหุ้นกับชุมชนชายฝั่งเหล่านั้นด้วย ซึ่งมีอยู่กว่า 200 ชุมชน

“กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีหน้าที่สร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ที่ชุมชน เอกชน และภาครัฐจะได้รับ เราจึงต้องกำหนดแนวทางว่า จะไม่ให้สัมปทานแบบรายเดียวโดดๆ แก่เอกชนรายใดอีก เพราะต้องการให้มีการดึงคนในชุมชนเข้าไปร่วมถือหุ้นกับเอกชนเหล่านั้นด้วย เพื่อให้พวกเขาซึ่งอยู่ในพื้นที่ ได้มีส่วนร่วมปกป้องดูแลผืนป่าชายเลนอย่างจริงจัง” อธิบดีฯ ทิ้งท้าย.