เด็กรุ่นผมทันนั่งรถเมล์ขาวนายเลิศ กระเป๋ารถแต่งตัวดี กิริยาเรียบร้อย ที่น่าประทับใจ ทุกคนเป่านกหวีด ฟังได้ชัดเจน จอด...ป้าย เหมือนภาษาคน
ราว พ.ศ.2518 ผมเคยไปสัมภาษณ์ ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ที่บ้านแบบโบราณ ในร่มเงาไม้น้อยใหญ่ จำติดใจ คุณหญิงบอกว่า ต่อไปเมืองไทยจะมีรถเมล์ติดแอร์
และต่อมา ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ได้เป็นรัฐมนตรี...รถเมล์ติดแอร์ ก็มีขึ้นจริงๆ
โรม บุนนาค เขียนถึง สิ่งแรก ลำดับที่ 1 ในเมืองไทย ฝีมือ
นายเลิศ คือโรงน้ำแข็ง (100 แรกมีในสยาม สำนักพิมพ์สยามบันทึก)
ในเมืองไทยรู้จักน้ำแข็งเมื่อราวๆ 150 ปี เมื่อเรือเมล์เจ้าพระยา เดินทางระหว่างกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ นำน้ำแข็งกลบขี้เลื่อยใส่หีบเข้ามาถวายรัชกาลที่ 5
ทรงแจกจ่ายให้ข้าราชสำนัก ตื่นเต้นกันมาก ต่อมาน้ำแข็งก็ถึงปากชาวบ้าน ก็ยังมีคนมากมายไม่เชื่อ จะมีคนทำให้น้ำเป็นน้ำแข็งได้ สำนวนปั้นน้ำเป็นตัว เกิดขึ้นตอนนี้
ปี 2448 คนหัวก้าวหน้า ชื่อนายเลิศ เศรษฐบุตร ตั้งโรงน้ำแข็งขึ้นเป็นแห่งแรก ที่สะพานเหล็กล่าง ถนนเจริญกรุง ตั้งชื่อโรงน้ำแข็งสยาม แต่ชาวบ้านเรียกว่า โรงน้ำแข็งนายเลิศ
คนไทยพากันแวะเวียนไปซื้อ ที่นิยมมาก คือเอาน้ำแข็งมาไสเป็นเกล็ด แล้วอัดลงในถ้วยเป็นแท่ง เอาไม้เสียบถือ ราดด้วยน้ำหวาน เรียกกันว่าน้ำแข็งกด
ปี 2450 นายเลิศเป็นพระยาภักดีนรเศรษฐ แล้วทำโรงน้ำแข็งแล้วก็ยังทำอีกหลายอย่าง ห้างขายสินค้า โรงแรม รถม้าเช่า ก็รื้อฟื้นกิจการรถเมล์ ซึ่งเดิมที (พ.ศ.2428) ใช้รถเทียมม้า แต่ทำได้สองปีเจ๊ง...ขึ้นมาใหม่
รถเมล์สายแรกยังใช้รถเทียมม้า เริ่มจากสะพานยศเส ไปตลาดประตูน้ำ เชื่อมโยงกับต้นทางเรือเมล์ คลองแสนแสบ ก็ของนายเลิศอีกนั่นแหละ
กิจการไปได้ดี พ.ศ.2456 นายเลิศสั่งรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ดมาใช้ ขนาดรถก็ไม่กว้างใหญ่ไปกว่ารถม้า เป็นรถมีสามล้อที่นั่งเป็นม้ายาวสองแถว นั่งได้ราว 10 คน
...
ตัวรถทาสีขาว มีเครื่องหมายกากบาทสีแดงในวงกลม คล้ายขนมกง ต่อมาขยายเส้นทางไปบางลำพู
แต่ขณะรถวิ่ง จะมีเสียงโกร่งกร่าง ชาวบ้านเรียก อ้ายโกร่ง
นายเลิศใช้นโยบายสุภาพ ซื่อสัตย์ ประหยัด ทันใจ เอากำไรน้อย บริการผู้มีรายได้น้อย ต่อมาพัฒนาเป็นรถสี่ล้อ ขยายเส้นทางไปทั่วกรุงเทพฯ ก็เริ่มมีคู่แข่งอีกถึง 30 ราย
รถเมล์แดง รถเมล์เหลือง รถเมล์เขียว รถเมล์บริษัทไทยประดิษฐ์ กระทั่งรัฐวิสาหกิจ อย่าง รสพ. ก็ยังเดินรถเมล์สาย ท่าเตียน ถนนตก
ปี 2518 รัฐบาลหม่อมน้อง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รวมกิจการรถเมล์กรุงเทพฯ เป็นบริษัทกึ่งรัฐวิสาหกิจ ชื่อบริษัทมหานครขนส่ง รัฐกับเอกชนถือหุ้นพอๆกัน
1 ต.ค.2519 เปลี่ยนเป็นรัฐบาลหม่อมพี่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ออก พ.ร.ฎ. รวมกิจการมหานครขนส่ง ขึ้นกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ และนับแต่วันนั้นกิจการรถเมล์ที่เคยทำกำไรให้เอกชนก็กลายเป็นกิจการรถเมล์ที่ขาดทุน
อนุสรณ์อู่รถเมล์ 700 คัน พนักงาน 3,500 คน ของนายเลิศ ก็คือที่ตั้งโรงแรมปาร์คนายเลิศ ซึ่งเพิ่งมีข่าวขายราคากว่าหมื่นล้าน ให้กลุ่มทุนใหม่...ที่ออกข่าวว่าจะเอาไปทำศูนย์สุขภาพ
ผมพลอยใจหาย ขอแสดงความอาลัย โรงแรมปาร์คนายเลิศด้วยคน กว่ายี่สิบปีที่แล้วเคยไปกินเนื้อจิ้มแจ่ว เคล้าส้มตำ ราคาโรงแรมห้าดาว แพง...แต่รสชาติอร่อยถึงใจ ลืมไม่ลงจริงๆ.
กิเลน ประลองเชิง