ผมหลบไปเขียนเรื่องสบายๆตามสไตล์ “เสาร์สาระพัน” และ “ซูมซอกแซก” เสีย 2 วัน ตามกรอบที่กำหนดไว้ว่า วันเสาร์ วันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันพักผ่อนควรจะเขียนแต่เรื่องเบิกบานสำราญใจ หรือหนุกๆหนานๆเท่านั้น
ได้เวลากลับมาสู่วันจันทร์ขออนุญาตมาว่ากันถึงเรื่องราวที่ค่อนข้างจริงจัง หรือเป็นงานเป็นการตามเดิม และขอเริ่มด้วย “ของฝากจากกัมพูชา” ที่ผมยังเล่าไม่หมดก็แล้วกันครับ
ผมรายงานไปแล้วว่า พนมเปญปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก มีตึกสูงประเภทระฟ้าโผล่ขึ้นหลายตึก
วันนี้เราลองมาดูตัวเลขดูข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจของเขาบ้างครับ เผื่อจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น
ตัวเลขล่าสุดยังไม่ออกมาแต่ตัวเลขในปี 2557 ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ จีดีพี ของกัมพูชาอยู่ที่ 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1 ใน 23 ของจีดีพีประเทศไทย
แต่เศรษฐกิจของกัมพูชาขยายตัวในอัตราร้อยละ 7 ต่อปีมาหลายปี ทั้ง IMF ทั้งเวิลด์แบงก์ คาดว่าอัตราการขยายตัวของกัมพูชาจะเกินร้อยละ 7 ต่อไป จนถึงปี พ.ศ.2563 หรือ 2020 เป็นอย่างน้อย
รายได้หลักของเขามาจากการท่องเที่ยวถึงร้อยละ 40 โดยเฉพาะนครวัดที่โด่งดังมาก ทำให้มีนักท่องเที่ยวปีนี้สูงขึ้นน่าจะถึง 5 ล้านคน
ภาคอุตสาหกรรมสร้างรายได้ให้แก่ระบบเศรษฐกิจกัมพูชาร้อยละ 35 โดยเฉพาะการผลิตเสื้อผ้าส่งออกไปยุโรปและสหรัฐฯ
สำหรับรายได้จากภาคเกษตรอยู่ที่ร้อยละ 25 จากผลิตภัณฑ์หลัก เช่น ข้าว ยางพารา ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เป็นต้น
กัมพูชาเพิ่งได้รับการขึ้นชั้นจากประเทศที่มีรายได้ต่ำ (Lower income economies) มาเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นต่ำ (Lower-middle income economies) เมื่อรายได้ต่อหัวไต่ระดับขึ้นไปเป็น 1,146 เหรียญสหรัฐฯต่อปี เข้าเกณฑ์ 1,046-4,125 เหรียญสหรัฐฯ ที่ธนาคารโลกกำหนดไว้สำหรับขั้นนี้พอดิบพอดี
...
แต่จุดแข็งของกัมพูชาก็คือ การมีประชากรอยู่ในวัยหนุ่มสาว (วัยต่ำ กว่า 35 ปี) ถึงร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด 15.3 ล้านคนของประเทศ
เหตุเพราะหลังสงครามกลางเมือง ที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างขนานใหญ่ไปแล้ว เมื่อกลับเข้าสู่ความสงบ รัฐบาลมิได้มีการวางแผนครอบครัว แต่อย่างใดทำให้อัตราเกิดของกัมพูชาอยู่ร้อยละ 2.54 ในขณะนี้
การมีคนหนุ่มสาว (วัยต่ำกว่า 35 ปี) ถึงร้อยละ 70 เช่นนี้ กลับกลายเป็นจุดแข็งของกัมพูชาไป โดยมิได้คาดหมายต่างกับของไทยเรา ที่กำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ภายในสิ้นแผน 12 หรือปี 2564
สำหรับตัวเลขมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกัมพูชา เมื่อปี 2558 พบว่า สูงถึง 5,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 175,000 ล้านบาท
และจากยอดที่เป็นทางการนี่แหละครับ เราขายให้เขาถึง 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และซื้อจากเขาแค่ประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้นเอง
แสดงว่าเราได้เปรียบดุลการค้าเขาค่อนข้างเยอะทีเดียว
รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศมีข้อตกลงกันว่า จะผลักดันให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ภายในปี 2020 และมีการประชุมเจรจาทั้งในระดับรัฐบาลและระดับข้าราชการประจำภาคปฏิบัติหลายต่อหลายครั้ง
จากตัวเลขค้าขายหลังสุดนี่เองที่ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ผู้ล่วงลับไปแล้ว
น้าชาติท่านกล่าวไว้ว่า ต้องทำให้อินโดจีนเป็นสนามการค้าไม่ใช่สนามรบ ซึ่งในยุคของท่านได้ริเริ่มเอาไว้แล้ว เผอิญว่าในโอกาสต่อมาเกิดการกระทบกระทั่งกันหลายๆครั้งทำให้สนามการค้าของเรากับกัมพูชายังลุ่มๆดอนๆอยู่บ้าง
นี่ขนาดลุ่มๆดอนๆยังสูงถึงขนาดนี้ หลังจากที่ทุกวันนี้หันมาดีกันใหม่ โดยเฉพาะความเข้าใจระหว่างรัฐบาล 2 ประเทศ ในช่วงนี้บิ๊กตู่เคยพูดไว้ว่า “ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา” ตัวเลขน่าจะเพิ่มขึ้นอีกได้
ครับ! ผมก็ฝากข้อมูลเบื้องต้นประเภททั่วไปสำหรับนักลงทุนเมืองไทย และพ่อค้าพ่อขายต่างๆลองเก็บไปพิจารณาดู
เผื่อจะช่วยกันสร้างโอกาสในการที่จะทำให้นโยบายสนามรบเป็นสนาม การค้า (ที่ผมเห็นด้วยที่สุด) ของน้าชาติบรรลุความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ
เห็นชัดๆอยู่แล้วว่าสนามการค้าในภูมิภาคนี้ ไม่เฉพาะกัมพูชาหรอก แต่ทั้งย่านที่เรียกว่า CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) เราชนะขาดแล้วจะไปทำสงครามอย่างอื่นทำไมกัน.
“ซูม”