ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาหลายจังหวัดวิกฤติหนัก ที่ จ.อ่างทอง สั่งตั้งศูนย์อพยพชาวบ้านแล้ว 65 จุด หลังเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำเพิ่มทำให้ระดับน้ำยกตัวสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ส่วน จ.สุพรรณบุรี แม่น้ำท่าจีนเพิ่มสูงจนพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำ 3 อำเภอจมใต้บาดาล พระวัดมเหยงค์ ขนข้าวของหนีน้ำกันวุ่นวาย จ.พระนครศรีอยุธยา มีการปักธงเหลืองเตือนภัยในพื้นที่ อ.ท่าเรือ กับ อ.นครหลวง ถ้าปักธงแดงเท่ากับน้ำวิกฤติทันที ส่วนชาวบ้าน ต.อ่าวลึกเหนือ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ทุกข์หนักถูกน้ำท่วมขังหลายวันเพราะมีการก่อสร้างปิดทางน้ำ ขณะที่สถานีอนามัย จ.ตาก ต้องปิดให้บริการหลังถูกน้ำท่วมอุปกรณ์และยารักษาโรคเสียหายยับ ด้านกรมชลประทาน ยึดประตูน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ เร่งปล่อยน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทยให้เร็วที่สุด เพราะย่นระยะทางการไหลของน้ำจาก 18 กม. เหลือ 600 เมตร

สถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่เข้าขั้นวิกฤติหนัก โดยผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ว่า ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ยกตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 16.45 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เนื่องจากมีมวลน้ำจากภาคเหนือ ประกอบกับฝนที่ตกลงมา ทำให้เขื่อนต้องระบายน้ำตลอดเวลา ส่วนระดับน้ำท้ายเขื่อนอยู่ที่ 14.80 เมตร และปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนถูกน้ำท่วมเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะหมู่บ้านบางตาแพ หมู่ 3 ต.สรรพยา อ.สรรพยา ติดกับวัดสรรพยาวัฒนาราม ตลิ่งริมถนนติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีการทรุดตัวลงเป็นแนวยาว 300 เมตร กระแสน้ำกัดเซาะใต้ท้องถนนราว 30 ซม. เจ้าหน้าที่เร่งซ่อมแซมโดยด่วน

จ.อ่างทอง หลังเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ลบ.เมตร/วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ยกตัวสูงขึ้น 50-70 ซม. ทำให้มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมขยายวงกว้างรวม 3 อำเภอ 12 ตำบล 30 หมู่บ้าน 595 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 3,644 ไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก ถูกน้ำท่วมมากกว่าทุกพื้นที่ ทำให้นายเชาว์ อิ่มประยูร อายุ 66 ปี ชาวบ้านหมู่ 4 ต.โผงเผง อาชีพ เลี้ยงไก่ชน ต้องนำไก่ไปเลี้ยงบนบ้านร่วม 50 ตัว ส่วนเจ้าหน้าที่ร่วมกับทหารและชาวบ้านเร่งกรอกกระสอบทรายเสริมคันดินในหมู่บ้านเต็มพิกัด จังหวัดประกาศเตือนประชาชน เตรียมพร้อมรับมือ และจัดเตรียมสุขาเคลื่อนที่ เครื่องสูบน้ำ เรือท้องแบน รวมทั้งจัดตั้งจุดอพยพให้กับประชาชนที่ประสบภัย พักอาศัยชั่วคราว 65 จุด ใน 5 อำเภอ ส่วน จ.สิงห์บุรี น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมภายในหมู่บ้านบางแคใน ต.บางพุทรา อ.เมืองสิงห์บุรี เป็นวงกว้าง บ้านเรือนจมอยู่ใต้น้ำร่วม 100 หลังคาเรือน

...

ที่ จ.สุพรรณบุรี ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีน เพิ่มสูงขึ้นจนเอ่อล้นทะลักท่วมสองฝั่งแม่น้ำ 3 อำเภอ ตั้งแต่ประตูน้ำโพธิ์พระยา อ.เมืองสุพรรณบุรี ผ่าน อ.บางปลาม้า จนถึงหน้าประตูน้ำบางสาม ต.บางเลน อ.สองพี่น้อง ระยะทาง 40 กม. บางพื้นที่ปริมาณน้ำยกระดับขึ้นอย่างน่ากลัว เนื่องจากประตูน้ำพลเทพ จ.ชัยนาท มีการระบายน้ำลงสูงแม่น้ำท่าจีนอยู่ที่ 100 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้บ้านเรือนริมแม่น้ำหลายจุดถูกน้ำท่วมสูง 1.50-2 เมตร โดยเฉพาะวัดมเหยงค์ ต.ท่าระหัด อ.เมืองสุพรรณบุรี น้ำทะลักท่วมสูงกว่า 1 เมตร พระกับชาวบ้าน ช่วยกันขนของใส่เรือหนีน้ำไปไว้บนที่สูงกันชุลมุน ขณะที่วัดพระนอน วัดพระลอย วัดสารภี วัดพิหารแดง และวัดแค ติดตั้งเครื่องสูบน้ำแล้ว เช่นเดียวกันวัดมะนาว วัดชื่อดัง ถูกน้ำท่วมจนสะพานลงแพให้อาหารปลาจมมิด นายวีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี รอง ผวจ.สุพรรณบุรี พร้อมคณะลงเรือท้องแบนตรวจสอบระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีน พร้อมแจกถุงยังชีพช่วยชาวบ้าน

จ.พระนครศรีอยุธยา ผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองบางหลวง คลองบางบาล ทะลักเข้าท่วมใต้ถุนบ้านประชาชนที่ปลูกริมน้ำ ปัจจุบันมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 6 อำเภอ 74 ตำบล 732 หมู่บ้าน 19,170 ครัวเรือน 65,893 คน ทางจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พยายามป้องกันพื้นที่สำคัญ ด้วยการนำกระสอบทรายและเครื่องสูบน้ำเข้าช่วยเหลือเต็มที่ ขณะที่เขื่อนพระรามหก ระบายน้ำท้ายเขื่อน 432 ลบ.ม./วินาที ทำให้ปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 600 ลบ.ม./วินาที ถ้าระบายถึง 700 ลบ.ม./วินาที น้ำจะทะลักท่วมพื้นที่ อ.ท่าเรือ และ อ.นครหลวง เจ้าหน้าที่ได้ติดธงเหลืองที่เขื่อนให้ชาวบ้านเตรียมรับมือ และถ้าติดธงแดงน้ำวิกฤติ กรมศิลปากรตั้งกำแพงเป็นเขื่อนเตรียมรับน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดไชยวัฒนาราม วัดธรรมาราม สูง 2 เมตร ขณะที่เจ้าอาวาสวัดท่าการ้อง ประกาศปิดตลาดน้ำระดมคนงานร่วมกับชาวบ้านนับร้อยคนช่วยกันก่อบังเกอร์คอนกรีตกั้นน้ำ หวั่นทะลักจุดท่องเที่ยวเสียหาย ขณะนายอภัย จันทนจุลกะ รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย นำถุงยังชีพพระราชทาน มอบให้กับชาวบ้านผู้ประสบภัยใน อ.บางบาล

ส่วน จ.สระบุรี หลังจากมวลน้ำทางเหนือไหลลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เขื่อนพระรามหก ต้องเร่งระบายน้ำออกมาทางคลองระพีพัฒน์ ทำให้น้ำในคลองเพิ่มสูงขึ้น จนทะลักเข้าท่วมสองฝั่งแม่น้ำในพื้นที่ อ.หนองแค บ้านเรือนเรือกสวนไร่นาจมใต้บาดาลเป็นวงกว้าง ปลาทับทิมปลานิลที่เลี้ยงในกระชังทยอยตายเกลื่อน จ.ปทุมธานี ปริมาณน้ำที่ผันมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ไหลเข้าท่วมพื้นที่ หมู่ 6 ต.ศาราครุ อ.หนองเสือ ถนนเลียบคลอง 13 ถูกน้ำท่วมเป็นทางยาว บางจุดระดับน้ำสูง 70 ซม. ประชาชนเดินทางสัญจรไปมาลำบาก เจ้าหน้าที่นำกระสอบทรายทำคันกั้นน้ำกันให้วุ่น

จ.นนทบุรี เย็นวันเดียวกันเกิดพายุฝนกระหน่ำลงมาอย่างหนักนานเกือบ 1 ชม. ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังบนถนนแจ้งวัฒนะทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออก บริเวณใต้ทางด่วนแจ้งวัฒนะ ถนนแจ้งวัฒนะ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำทำให้เกิดน้ำท่วมขังผิวการจราจรสูง 10-20 ซม. ทำให้การจราจรติดขัดต่อเนื่องทั้งสองฝั่ง เจ้าหน้าที่แขวงการทางนนทบุรี และเจ้าหน้าที่เทศบาลนครปากเกร็ด ระดมเครื่องสูบน้ำ 4 ตัว เร่งระบายออกจากผิวถนน เนื่องจากเป็นช่วงที่ประชาชนเลิกงานเดินทางกลับ เกรงจะเกิดการจราจรติดขัดวิกฤติต่อเนื่อง เพราะเป็นช่วงที่มีรถสัญจรปริมาณมาก ส่วนภายในบริเวณคอนโดมิเนียมเมืองทองธานี เกิดปัญหาน้ำท่วมขังบนถนน โดยเฉพาะบริเวณสี่แยกหน้าธนาคารกสิกรไทยฯ มีระดับน้ำท่วมสูง ทางเจ้าหน้าที่ของบริษัทบางกอกแลนด์ เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่แล้ว

ขณะที่ จ.กระบี่ หลังจากฝนตกติดต่อกันนานหลายวัน น้ำไม่สามารถไหลผ่านได้ ส่งผลให้เกิดปริมาณน้ำสะสมท่วมขัง 5 ตำบล ของ อ.อ่าวลึก โดยเฉพาะพื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 2 ต.อ่าวลึกเหนือ ติดกับถนนเพชรเกษม ยังมีน้ำท่วมสูง สวนยางพารา และสวนปาล์มจมอยู่ใต้น้ำเสียหายหลายสิบไร่ นายชัยวุฒิ บัวทอง นายอำเภออ่าวลึก พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจสอบ พบบริษัทจำหน่ายรถยนต์ 2 บริษัท ก่อสร้างอาคารปิดทางน้ำ จึงเจรจากับตัวแทนบริษัท จนยินยอมขุดทางระบายให้น้ำผ่านที่ดินกว้าง 1.50 เมตร เพื่อระบายน้ำแล้ว

...

จ.พิจิตร น้ำป่าจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลมาตามคลองบุษบงค์ หลากเข้าท่วมพื้นที่ ต.สำนักขุนเณร อ.ดงเจริญ 4 หมู่บ้าน ระดับน้ำสูงโดยเฉลี่ย 1 เมตร ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน 300 หลังคาเรือน รวมทั้งสำนักงาน กศน. และโบสถ์เก่าวัดสำนักขุนเณร อายุกว่า 50 ปีด้วย จ.นครสวรรค์ มวลน้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลหลากกัดเซาะถนนสายวังน้ำลัด-นาขอม หมู่ 2 บ้านเนินบ่อทราย ต.วังน้ำลัด อ.ไพศาลี ถนนขาดเสียหายทั้งสองเลน เป็นระยะทาง 4 เมตร และลึกกว่า 2 เมตร รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ชาวบ้านต้องขับรถอ้อมหมู่บ้านร่วม 10 กม. ส่วนชาวบ้านริมตลิ่งแม่น้ำยมในตัวเมืองนครสวรรค์ ยังได้รับความเดือดร้อนต่อเนื่อง หลังระดับน้ำที่ไหลมาจากจังหวัดพิจิตร เพิ่มสูงขึ้น ชาวบ้านหลายหลังคาเรือนยังคงใช้เรือเป็นยานพาหนะเข้าออกบ้าน นอกจากนั้น แม่น้ำยมยังไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่หมู่ 3 ต.บางเคียน อ.ชุมแสง ชาวบ้านเดือดร้อน 20 หลังคาเรือน

ที่ จ.พิษณุโลก ยังคงมีน้ำท่วมขังเป็นวงกว้างในเขตพื้นที่ อ.บางระกำ เนื่องจากมีแม่น้ำยมไหลผ่าน บางจุดระดับน้ำสูงระดับ 8.14 เมตร เป็นระดับที่ขึ้นสูงสุดแล้ว ขณะเดียวกันกรมชลประทาน และ อปท.ในพื้นที่ เร่งขุดลอกคูคลอง ตรวจสอบท่อรอด เพื่อดึงน้ำจากแม่น้ำยมมาเก็บใน 3 แก้มลิงของ อ.บางระกำ เพื่อนำน้ำใช้ในหน้าแล้ง ส่วน จ.สุโขทัย เที่ยงวันเดียวกันฝนตกหนักนานนับชั่วโมง ทำให้ถนนหลายสายในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี เช่น ถนนสิงหวัฒน์ ถนนวิเชียรจำนงค์ ถนนบาลเมือง และถนนนิกรเกษม บริเวณรอบศาลากลางจังหวัด ถูกน้ำท่วมขังระดับน้ำสูง 20-30 ซม.สร้างความโกลาหลให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เพิ่งคลี่คลาย

จ.ตาก น้ำป่าทะลักท่วมบ้านพื้นที่ ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด 2 หมู่บ้าน ชาวบ้านเดือดร้อน 10 หลังคาเรือน ขณะที่สถานีอนามัยชุมชนบ้านใหม่สามยอดดอย ต.ช่องแคบ อ.พบพระ ถูกน้ำท่วมสร้างความเสียหาย จนต้องปิดให้บริการชั่วคราว เพราะอุปกรณ์และยารักษาโรคเสียหายโดยสิ้นเชิง ขณะที่พระครูเมธากิจโกศล เจ้าคณะตำบลแม่กาษา เจ้าอาวาสวัดไทยสามัคคี ร่วมกับคณะศรัทธาวัด ช่วยกันซ่อมแซมถนนภายในหมู่บ้านแม่กื๊ดหลวง หมู่ 9 ต.แม่กาษา อ.แม่สอด เป็นถนนสายหลัก น้ำกัดเซาะพังเสียหาย ชาวบ้านสัญจรลำบาก จ.น่าน ฝนถล่มน้ำป่าทะลักดินสไลด์เข้าบ้านของราษฎรบ้านน้ำแนะ หมู่ 3 ต.น้ำพาง ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย 5 หลังคาเรือน ส่วน จ.พะเยา ฝนที่ตกติดต่อกันหลายวันทำน้ำขังเป็นวงกว้าง 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ดอกคำใต้ อ.ภูกามยาว อ.จุน และ อ.เมืองพะเยา นาข้าวจมน้ำกว่า 10,000 ไร่ ล่าสุดน้ำเริ่มลดมองเห็นต้นข้าวเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง

...

ด้าน จ.อุดรธานี พายุฝนพัดถล่มต้นไม้ริมถนนสายอุดรธานี-สกลนคร ท้องหมู่ 2 ต.หนองเม็ก อ.หนองหาน หักโค่นทับสายไฟทำให้เสาไฟโค่นล้ม 13 ต้น ส่วน จ.นครราชสีมา เจ้าหน้าที่เร่งกำจัดวัชพืชผักตบชวาในพื้นที่ อ.พิมาย เพื่อเปิดทางน้ำที่มีมวลน้ำไหลผ่านมาจากน้ำล้นสปริงเวย์ลำเชียงไกร และอ่างเก็บน้ำลำฉมวกไหลมาบรรจบกับลำน้ำจักราช ก่อนไหลลงแม่น้ำมูลเข้าสู่เขื่อนพิมาย และไหลสู่พื้นที่ลุ่มต่ำเขตรอยต่อ อ.ชุมพวง อ.ลำทะเมนชัย และ อ.เมือง ตามลำดับ ส่วน จ.บุรีรัมย์ หลังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับน้ำเหนือจาก จ.นครราชสีมา ไหลมาสมทบส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลผ่าน ต.ท่าม่วง อ.สตึก มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนระดับน้ำเหลืออีกไม่ถึง 1 เมตร ก็จะล้นตลิ่ง หากยังมีฝนตกซ้ำอีกคาดว่าน้ำทะลักท่วมหนักแน่นอน เช่นเดียวกับชาวบ้านตำบลละหาน อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ ร่วม 300 ครอบครัว ถูกน้ำท่วมเดือดร้อนทั่วหน้า

กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนช่วงวันที่ 29-30 ก.ย. ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตก และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนวันที่ 1-5 ต.ค. ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังปานกลางตลอดช่วง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันตก และภาคตะวันออก จะมีฝนต่อเนื่อง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเล อันดามันมีกำลังปานกลางโดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรม ชลประทาน เผยว่า ปัจจุบันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 1,790 ลบ.ม.ต่อวินาที และแม่น้ำสะแกกรัง 167 ลบ.ม.ต่อวินาที กรมชลประทานยังคงระบายน้ำตอนบนลงสู่อ่าวไทยให้เร็วที่สุด เพื่อรองรับปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลาง โดยใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ เป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยย่นระยะทางการไหลของน้ำจาก 18 กม. เหลือเพียง 600 เมตร ทำให้สามารถระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยได้เร็วมากขึ้นในช่วงที่น้ำลง และตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.เป็นต้นมา มีการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ไปแล้วทั้งสิ้น 82.19 ลบ.ม.

...

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า กรมชลประทาน ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสุพรรณบุรี รวมถึงกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก นอกคันกั้นน้ำให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งและเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ส่วน กทม.เย็นวันเดียวกันฝนถล่มนานร่วม 30 นาที ทำให้พื้นที่บางเขน หลักสี่ คันนายาว ดอนเมือง น้ำท่วมขัง โดยเฉพาะดอนเมืองมีน้ำท่วมขังหลายจุด อาทิ หน้าสำนักงานเขตดอนเมืองมีน้ำท่วมขังสูง 20 ซม. รถเล็กสัญจรลำบาก ประกอบกับจุดดังกล่าวเป็นสี่แยกตัดระหว่างถนนช่างอากาศอุทิศ และถนนเชิด–วุฒากาศ ทำให้มีประชาชนใช้เส้นทางเป็นจำนวนมาก โดยตำรวจจราจร สน.ดอนเมือง ยืนโบกรถอำนวยความสะดวกท่ามกลางสายฝน อีกจุดบริเวณถนนช่างอากาศอุทิศ ตั้งแต่ปากซอยช่างอากาศอุทิศ 14-28 มีน้ำท่วมขังสูง 15-20 ซม. เป็นบางจุด ระยะทางยาวกว่า 600 เมตร เพราะจุดดังกล่าวเป็นจุดที่น้ำเพิ่งมีการระบายน้ำที่ท่วมขังเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่กลับมาท่วมซ้ำอีก