จะเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ สำหรับ “ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีชำนัญพิเศษเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เป็นเอกภาพ ด้วยผู้พิพากษาที่มีความเชี่ยวชาญและสอดคล้องกับระบบการอุทธรณ์ฎีกาคดีแพ่งที่มีการแก้ไขกฎหมายแล้ว ศาลแห่งใหม่นี้จะมีภาระ หน้าที่อะไรบ้างนั้น วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์จะนำเสนอทุกแง่มุมเพื่อให้ประชาชนเข้าใจยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้รับเกียรติจาก ท่านเมทินี ชโลธร ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ คนแรก มาเปิดเผยถึงภาระหน้าที่ของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ประกอบด้วย 5 แผนก ดังนี้ คือ 1. แผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ 2. แผนกคดีภาษีอากร 3. แผนกคดีแรงงาน 4. แผนกคดีล้มละลาย และ 5. แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว
คดีชำนัญพิเศษ คดีที่ต้องอาศัย ความรู้ ความชำนาญเฉพาะด้าน
ท่านเมทินี อธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจว่า คดี "ชำนัญพิเศษ" จะมีวิธีพิจารณาเฉพาะของตน ซึ่งบางส่วนจะแตกต่างจากคดีแพ่งและคดีอาญาทั่วไป และต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญเฉพาะด้าน ยกตัวอย่าง คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ จะเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิบัตร ทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ฉะนั้น จึงต้องอาศัยตุลาการศาลที่มีความรู้และประสบการณ์ทางด้านนี้ โดยในศาลชั้นต้นที่เป็นศาลทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ยังมีผู้พิพากษาสมทบด้วย อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ คดีเยาวชนฯ ซึ่งจะพิจารณาทั้งแพ่งและอาญา แต่วิธีการที่จะใช้สำหรับเด็กนั้นแตกต่างจากผู้ใหญ่ วิธีคิด กระบวนการพิจารณาพิพากษาก็จะแตกต่างกัน
...
ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ได้กล่าวถึง วัตถุประสงค์การตั้งศาลใหม่ว่า ปัจจุบันคดีชำนัญพิเศษทั้ง 5 ประเภทนี้ จะเริ่มต้นพิจารณาคดีตั้งแต่ศาลชั้นต้น ซึ่งจะมีศาลที่มีอำนาจพิจารณาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทหรือคดีทรัพย์สินทางปัญญา ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจพิจารณาคดีภาษีอากร เป็นต้น
เพื่อทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ท่านเมทินี อธิบายว่า เดิมคดีทรัพย์สินทางปัญญา คดีภาษีอากร คดีแรงงาน คดีล้มละลาย หากศาลชั้นต้นตัดสินแล้ว คู่ความอุทธรณ์ตรงมาที่ศาลฎีกาได้เลยเนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการพิจารณาคดี ซึ่งศาลฎีกาก็จะเป็นศาลสุดท้าย โดยที่ศาลฎีกาจะมีแผนกคดีพิเศษต่างๆ เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีแต่ละประเภท แต่สำหรับคดีเยาวชนสามารถอุทธรณ์ไปที่ศาลอุทธรณ์ หรืออุทธรณ์ภาค แล้วแต่กรณี และยังสามารถฎีกาต่อไปได้ตามบทบัญญัติของกฎหมาย เป็นระบบ 3 ชั้นศาล เหมือนคดีแพ่งและอาญาทั่วไป
อย่างไรก็ดี เมื่อปลายปีที่แล้ว มีแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้คดีแพ่งถึงที่สุด ที่ศาลชั้นอุทธรณ์ คดีจะขึ้นสู่การพิจารณาในศาลฎีกาได้คู่ความต้องยื่นคำร้องขออนุญาต ซึ่งศาลฎีกาจะเป็นผู้พิจารณาว่าอนุญาตหรือไม่ การแก้กฎหมายดังกล่าว เป็นผลให้การอุทธรณ์ในคดีชำนัญพิเศษจึงไม่สอดคล้องกับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ด้วยเหตุนี้จึงมีการตรากฎหมายจัดตั้งมีศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษขึ้นทำหน้าที่พิจารณาคดีและถือว่าคดีชำนัญพิเศษถึงที่สุดในศาลอุทธรณ์ในคดีชำนัญพิเศษเหมือนกับคดีอื่นๆ แต่คู่ความก็สามารถยื่นฎีกาได้ โดยต้องยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลฎีกาเช่นเดียวกับคดีแพ่งอื่น ส่วนคดีอาญายังคงเป็นไปเช่นเดิม
“เมื่อคดีทั้ง 5 แผนก ผ่านศาลชั้นต้นมาแล้ว ถ้าคู่ความประสงค์จะอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ โดยทางศาลฯ จะมีผู้พิพากษาที่มีความเชี่ยวชาญที่จบปริญญาเอก หรือ โท ทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศในแต่ละด้าน เพื่อเป็นองค์คณะพิจารณาคดีเหล่านี้ โดยผู้พิพากษาทุกท่านในศาลนี้จะมีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่า 20 ปี ทั้งสิ้น”
เผยคดี 5 แผนกที่ค้างในชั้นศาลฎีกา มีทั้งสิ้นเกือบ 4,500 คดี
ส่วนคดีชำนัญพิเศษทั้ง 5 แผนก ที่ค้างอยู่ที่ศาลฎีกานั้น ท่านเมทินี เผยว่า ทางศาลฎีกาจะยังคงทำอยู่จนแล้วเสร็จทั้งหมด โดยศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษจะไม่รับโอนคดีมาแต่จะรับเฉพาะคดีที่อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชำนัญพิเศษ (ศาลชั้นต้น) ที่ตัดสินตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป
ส่วนคดี 5 แผนกคงค้างที่ศาลฎีกา จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2559 ประกอบด้วย คดีแรงงาน 2,768 คดี, คดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ 379 คดี, คดีภาษีอากร 270 คดี คดีล้มละลาย 864 คดี และเยาวชนฯ 152 คดี รวมทั้งสิ้น 4,433 คดี ซึ่งคดีเหล่านี้ศาลฎีกาจะต้องพิจารณาพิพากษาต่อไปจนแล้วเสร็จทั้งหมด
“การตั้งศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ จะมีผลดีคือกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจะเร็วขึ้น เนื่องจากผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในแต่ละแผนกจะพิจารณาคดีในแต่ละด้านที่ท่านมีความชี่ยวชาญ เช่น แผนกคดีแรงงานในศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษก็จะพิจารณาพิพากษาเฉพาะแต่คดีแรงงานเท่านั้น ในขณะที่ศาลฎีกา แม้จะอยู่ในแผนกคดีชำนัญพิเศษแต่ก็ยังต้องพิจารณาคดีแพ่ง คดีอาญาทั่วไป รวมทั้งมีภารกิจตามรัฐธรรมนูญด้วย ผู้พิพากษาในศาลฎีกา มีภาระหน้าที่หลายด้าน จึงเป็นธรรมดาที่ไม่อาจทำให้รวดเร็วในทุกด้านได้ ในขณะที่ศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษมีหน้าที่รับผิดชอบเพียงด้านเดียว”
ท่านเมทินี กล่าวต่อว่า ตอนนี้คณะผู้บริหารได้วางระบบงานไว้ โดยจะมีการกำหนดระยะเวลาเป็นมาตรฐานในการทำงาน เช่น การสั่งคำร้องต่างๆ โดยเฉพาะคำร้องขอปล่อยชั่วคราว (ประกันตัว) จะพิจารณาและมีคำสั่งให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว แต่ในส่วนการทำคำพิพากษานั้น เนื่องจากในแต่ละคดีมีความสลับซับซ้อน และความยากง่ายแตกต่างกัน จึงต้องบริหารจัดการโดยแบ่งแยกประเภทคดีเสียก่อน และระยะเวลาที่ใช้เป็นมาตรฐานก็จะแตกต่างกัน แต่เราถือนโยบายจะทำให้ดีและเร็วที่สุด เพราะคดีชำนัญพิเศษล้วนเกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจสังคม เช่น ภาษีอากร ทรัพย์สินทางปัญญา ล้มละลาย ท้ังยังเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในการลงทุนระหว่างประเทศด้วย ดังนั้น หากเราสามารถทำคดีได้เร็วก็จะเกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วนของประเทศ
ที่สำคัญ องค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีก็มีความพร้อม แผนกคดีแรงงาน มีมากที่สุด 9 องค์คณะ เนื่องจากที่ผ่านมาคดีแรงงานมีปริมาณคดีที่อุทธรณ์มากที่สุด ส่วนแผนกอื่นๆ จะมีประมาณ 2-3 องค์คณะ แต่เนื่องจากในช่วงแรกไม่มีการโอนคดีเข้ามา ก็เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้เร็ว การพิพากษาคดีในศาลสูง จะเริ่มตั้งแต่ ยกร่างคำพิพากษาโดยผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและองค์คณะ มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของผู้ช่วยผู้พิพากษา โดยมีผู้ช่วยเล็ก, ผู้ช่วยใหญ่, รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ หากเป็นเรื่องสำคัญก็จะมาถึงประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ทุกขั้นตอนต้องมีความถูกต้องแม่นยำ งานศาลฯ จะเร่งมากเกินไปก็ไม่ได้ เพราะต้องมีความแม่นยำในข้อกฎหมาย ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรในฐานะผู้หญิง ที่เข้ารับตำแหน่งผู้บริหารในศาลชั้นอุทธรณ์ ท่านเมทินี กล่าวว่า ประธานศาลอุทธรณ์ภาคก็มีผู้หญิงมาแล้วหลายท่าน แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเพิ่งจะเปิดใหม่เป็นครั้งแรก จึงนับว่าเป็นคนแรกที่มาดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แต่การทำงานในศาลยุติธรรมนั้นเพศหญิงหรือชายไม่มีความแตกต่างกัน เพราะทำงานเหมือนกัน ได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ ประธานศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ในเวลานี้เราเข้าใจดีว่าคนที่มีข้อพิพาทในคดีชำนัญพิเศษประเภทต่างๆ ล้วนต้องการความเร็วในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษยืนยันว่าได้จัดวางระบบงานเพื่อตอบสนองความรวดเร็ว โดยยังให้ความสำคัญต่อความแม่นยำในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เดินหน้าทั้ง 2 ด้านไปพร้อมกัน เราจะพัฒนาผู้พิพากษาที่มีความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ให้ท่านมีความเป็นเลิศในด้านวิชาการมากขึ้น เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมทางวิชาการในการพิจารณาคดีชำนัญพิเศษอย่างแท้จริง ดังแนวคิดที่ว่า “เชี่ยวชาญ เป็นธรรม นำสมัย ใส่ใจเศรษฐกิจและสังคม”
สำหรับผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.appealsc.coj.go.th ส่วนสถานที่ตั้งของศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ ตั้งอยู่ที่อาคารเดิมของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ถนนราชินี แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
- สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่ reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ