นายกฯประยุทธ์ กล่าวในการประชุมรัฐมนตรีกลุ่ม 77 เผย ไทยน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงใช้ในการดำรงชีวิต เดินหน้าสู่ประเทศไทย 4.0 เน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เน้นย้ำ จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกคนต้องก้าวพ้นปัญหาไปพร้อมกัน ...
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่ม 77 ในวาระที่ 3 หัวข้อ "การใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" โดยมีประธานสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 71 และ เลขาธิการสหประชาชาติและรัฐมนตรีกลุ่ม 77 ร่วมประชุมด้วย ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ได้รับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่นี่ ภายหลังเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษสิ้นสุด แต่ภัยคุกคามและความท้าทายใหม่ๆ ยังคงมีอยู่ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ โรคระบาด ความมั่นคงทางอาหาร-พลังงาน ภัยที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ เช่น สงคราม ซึ่งนำมาซึ่งการโยกย้ายถิ่นฐานและพลัดถิ่น หลายทศวรรษที่ผ่านมา รีบเร่งการพัฒนาเพราะเชื่อมั่นในการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงเกิดการแข่งขันแย่งชิงและแสวงประโยชน์ ซึ่งผู้ที่เข้มแข็งและได้เปรียบที่สุดจึงจะอยู่รอด นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นความ 'ทันสมัย' เป็นสังคมเมือง สังคมอุตสาหกรรม แต่ทอดทิ้งชนบท ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มขึ้น และสภาพแวดล้อม สังคมเสื่อมโทรมลง เพราะพวกคิดกันว่า ขอให้ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจก่อน แล้วจะกลับมาชดเชยคืนให้กับสังคมทีหลัง แต่ผลมันร้ายแรงกว่านั้น เพราะตาม 'ทฤษฎีผีเสื้อ' สิ่งเล็กๆ ที่พวกเราทำและไม่ได้คิดว่าจะมีผลร้ายแรง สุดท้ายอาจย้อนกลับมาส่งผลรุนแรงอย่างมากในอนาคต
...
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ปัญหามีแต่เพิ่มและรุนแรงขึ้น เชื่อมโยงและซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยความท้าทายเหล่านี้เป็นความท้าทายร่วมกันของทุกประเทศ ประเทศไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจ 'ต้มยำกุ้ง' เมื่อปี 2540 สึนามิ เมื่อปี 2547 อุทกภัยครั้งใหญ่ เมื่อปี 2554 ทุกๆ ครั้ง ประเทศไทยก็ฟื้นกลับอย่างรวดเร็ว เข้มแข็งกว่าเดิม และแข็งแรงร่วมกัน ชึ่งไม่ใช่ความบังเอิญหรือปาฏิหาริย์ แต่เป็นเพราะเรามีความตั้งใจจริง มุ่งมั่น และอดทน
ปี 2540 เป็นจุดเปลี่ยนทำให้หยุดและค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ จึงพบว่า การพึ่งพาโลกโดยไม่มีภูมิต้านทานจากภายในทำให้อ่อนแอและถูกกระทบได้ง่าย และไม่ยั่งยืน
ไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) มาเป็น 'แสงนำทาง' ในทุกสาขาและทุกระดับ จนทำให้ไทยก้าวพ้นปัญหาและก้าวต่อไปอย่างมั่นคง โดยคำว่า "พอเพียง" ไม่ใช่ การสอนให้พอใจกับความยากจน แต่คือ การรักษาวิถีชีวิตที่สมดุลและพอประมาณ ซึ่งไม่ได้ขัดกับความร่ำรวยที่สุจริต และไม่เบียดเบียน
แนวคิด 'ประชารัฐ' ซึ่งเป็นการระดมพลังทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคม ให้มาร่วมกันสร้างประโยชน์สูงสุดของรัฐบาลนี้ สอดคล้องกับการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง โดยสร้างโอกาสให้กับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เป็นกลไกสำคัญเพื่อมุ่งสู่ 'ประเทศไทย 4.0' ซึ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทุกคนในสังคมรู้หน้าที่และแบ่งปัน ขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข และการประยุกต์ใช้ในภาคส่วนต่างๆ ในการประชุมผู้นำว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่นครนิวยอร์ก เมื่อปีที่ผ่านมา และการประชุมของกลุ่ม 77 ที่ประเทศไทย ในปีนี้ 2 ครั้ง ได้หยิบยกยกตัวอย่างโครงการ SEP ในด้านเกษตรเป็นหลัก เพราะพื้นฐานของประเทศและประชาชนส่วนใหญ่ของกลุ่มอยู่ที่ภาคการเกษตร แต่จริงๆ แล้ว มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า SEP เป็นแนวทางที่ใช้ปฏิบัติได้จริงกับทุกภาคส่วน โดยหลักการเรื่องความพอประมาณ-ความมีเหตุผล-ความมีภูมิคุ้มกัน สามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย
หัวใจของ SEP เริ่มจากคนและชุมชน โดยเน้นการสร้างระบบคิดและการดำเนินชีวิตที่สมดุล ซึ่งตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลายเป้าหมายพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะการขจัดความยากจน ความหิวโหย สาธารณสุข การศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ การพัฒนาเมือง หรือการบริโภคที่ยั่งยืน
ด้านเศรษฐกิจ SEP เริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยเฉพาะการพัฒนาแบบองค์รวม การบริหารจัดการความเสี่ยง การมีความคุ้มกัน มีเหตุผล และรับผิดชอบต่อส่วนรวม ไม่แสวงหากำไรเกินควรหรือเอาเปรียบผู้อื่น จึงตอบโจทย์เป้าหมายด้านการเติบโตเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม การจ้างงานและงานที่มีคุณค่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมได้อย่างดี
SEP ยังเป็นหลักปฏิบัติเพื่อให้ คน-สังคม-ธรรมชาติ อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ไทยพร้อมจะมีบทบาทนำในการสนับสนุนสังคมที่สงบสุขและเป็นธรรม เช่น ข้อกำหนดกรุงเทพฯ ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ หรือการจัดตั้งศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ที่มีการเรียนการสอนเรื่อง SEP เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่สมดุล
เมื่อปี 2510 มีการประกาศกฎบัตรของกลุ่ม 77 ซึ่งได้ตั้งปฏิญญาร่วมกันไว้ว่า การพัฒนาเป็นความรับผิดชอบร่วมที่สำคัญของเรา ดังนั้น การสร้างความแข็งแกร่งให้กับสมาชิกของกลุ่ม 77 จึงเป็นเป้าหมายร่วมกันสอดคล้องกับหัวใจของ SEP เพราะเป็นการสร้างความเข้มแข็งและความต้านทาน เมื่อเรามีความเข้มแข็งจากภายในและต้องการเปลี่ยนแปลง คือ “การระเบิดจากข้างใน” แล้ว การพัฒนาก็จะเกิดผล
ไทยมีหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับประเทศสมาชิกกลุ่ม 77 ในแทบทุกภูมิภาค และริเริ่มเครือข่ายมิตรประเทศ หรือ Friends of SEP เพื่อนำไปสู่หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา รวมถึงหุ้นส่วนในระดับเยาวชน เพราะเยาวชนในวันนี้คือชนรุ่นใหม่ที่มีความต้องการเช่นกัน การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องตอบสนองความต้องการของคนในวันนี้และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ตอบสนองความต้องการของตนในอนาคตด้วย
ติมอร์-เลสเต ได้มีการพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบตาม SEP ที่เมืองเฮรา กว่า 6 ปี ทำให้ได้เรียนรู้การทำเกษตรแบบผสมผสาน นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมซึ่งได้รับความสนใจจากมิตรประเทศที่พัฒนาแล้ว จนกลายเป็นความร่วมมือไตรภาคี ไทย-เยอรมนี-ติมอร์ฯ เพื่อต่อยอดการผลิตที่มุ่งการค้า โดยเน้นการเชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดและการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์
นอกจากสาขาเกษตรแล้ว ความร่วมมือหุ้นส่วนในเรื่อง SEP สามารถสนับสนุนการพัฒนาในทุกสาขา ตั้งแต่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาคน หรือการบริหารธุรกิจ โดยมีการให้ทุนและการฝึกอบรมในรูปแบบต่าง ๆ การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ SEP ที่เลโซโทและ สปป.ลาว การพัฒนาหมู่บ้าน SEP ที่กัมพูชา การพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมแบบผสมผสานที่ตองกา รวมทั้งโครงการในฟิจิที่กำลังจะเริ่มขึ้นเร็วๆ นี้
เพื่อนสมาชิกกลุ่ม 77 กว่า 22 ประเทศ ได้แสดงความสนใจที่จะมีความร่วมมือในเรื่อง SEP กับไทย แม้ว่าไทยจะพ้นตำแหน่งประธานกลุ่ม 77 แต่เราก็จะยังคงมุ่งมั่นที่จะสานต่อการเผยแพร่ SEP แก่ต่างประเทศ ผ่านการให้ทุนการศึกษา การศึกษาดูงาน และโครงการการพัฒนา ฯลฯ ภายใต้ความร่วมมือหุ้นส่วนทวิภาคี ความร่วมมือ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการเข้าร่วมการประชุมผู้นำ จี 20 เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ในฐานะประธานกลุ่ม 77 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกระหว่างกลุ่มจี 20 และกลุ่ม 77 ซึ่งกลุ่มจี 20 มีศักยภาพและสนใจที่จะขยายความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เป็นรูปธรรม ประเทศไทยเองก็พร้อมเป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือไตรภาคีในเรื่องนี้ เช่นไทยร่วมมือกับเยอรมนีในติมอร์-เลสเต ข้างต้น และเยอรมนีก็จะเป็นประธาน จี 20 ปลายปีนี้
"เอกวาดอร์ให้ความสนใจในเบื้องต้น เกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ดำเนินความร่วมมือร่วมกับเอกวาดอร์ ซึ่งจะเป็นประธานกลุ่ม 77 ในปี 2560"
นายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนท้ายว่า ไม่มีสูตรสำเร็จในการนำ SEP ไปรับมือสิ่งท้าทายในปัจจุบัน เพราะในทุกๆ ครั้ง จะต้องศึกษาสภาพภูมิสังคมก่อน การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย ไม่ใช่ความฝัน แต่เป็นความจริงที่พวกเราทุกคนสามารถบรรลุได้ โดยจะช้าหรือเร็ว จะน้อยหรือมาก ขึ้นอยู่กับกำลังและความตั้งใจที่จะร่วมกันทำงาน การที่ "เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" หมายความว่า เราจะร่วมกันสร้างศักยภาพให้กับสังคมของเราที่ทุกคนจะก้าวพ้นปัญหาไปพร้อมๆ กัน ร่วมมือกันไม่ใช่แก่งแย่งกัน เกื้อกูลและแบ่งปันกัน ไม่ใช่แสวงประโยชน์จากกัน และทุกคนต้องรู้หน้าที่และทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด