เกาะพิทักษ์ เกาะเล็กๆเนื้อที่ 712 ไร่ ตั้งอยู่ที่หมู่ 14 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ห่างจากฝั่งราว 1 กิโลเมตร เกาะไม่มีโรงเรียน ไม่มีวัด แต่มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์เดียวอยู่บริเวณชายหาด
ชายหาดเล็กๆ ความยาว 450 เมตร เป็นพื้นที่ของกิจกรรมเดินชมบ้านเรือน ชมธรรมชาติ มีวงรอบเล็ก 800 เมตร และวงรอบใหญ่ 1.4 กิโลเมตร ให้เลือก
นักท่องเที่ยวที่สนใจ อาจเข้าร่วมกิจกรรมชุมชน ทำของที่ระลึกจากเปลือกหอยที่หาได้บริเวณชายหาด หรือดูวิถีชีวิตชาวบ้าน การทำปลาอินทรีฝังทราย หรือปลากระบอกฝังทราย
ปลาเค็มฝังทราย เป็นโอทอปขึ้นชื่อของเกาะพิทักษ์
หรือไปชมและร่วมเก็บหอยเจาะ เรียกชื่อ หอยเจาะ อาจแปลกใจ แต่ถ้าเรียกหอยนางรมแต่ตัวเล็ก คงนึกภาพได้ทันที
กิจกรรมที่เป็นสีสัน ทุกเดือนมิถุนายน มีการจัดงาน “วิ่งแหวกทะเลสู่เกาะพิทักษ์”
นี่เป็นการแข่งขันวิ่ง “หนึ่งเดียวในสยาม” ต่างจากการแข่งขันมินิมาราธอนทั่วไป การ “วิ่งแหวกทะเล” ระยะทาง 14 กิโลเมตร ใช้เส้นทางถนนเลียบชายทะเล เริ่มจากปากน้ำหลังสวน เข้าสู่เส้นชัยบนเกาะพิทักษ์
แนวคิดนี้เกิดเมื่อปี 2539 เกาะพิทักษ์มีอะไรจะขาย ขายวิถีชีวิต ขายความเป็นธรรมชาติ เริ่มมีคำขวัญ “ถนนน้ำข้ามสมุทร น้ำจืดผุดกลางเกาะ หอยเจาะทะเลขาด หาดสองน้ำ”
ถนนน้ำข้ามสมุทรเป็นอันซีน เวลาน้ำเต็มตลิ่งถนนอยู่ใต้น้ำ ก็คิดว่าทำไมไม่ทำกิจกรรมอะไรซักอย่างให้แปลกกว่า น้ำลดแล้ววิ่งมาที่เกาะพิทักษ์ เริ่มจัดกิจกรรมวิ่งแหวกทะเลสู่เกาะพิทักษ์ขึ้นปีแรก 2547
ตอนแรกชวนใครทำก็ไม่มีใครสนใจ โชคดีนายนิพันธ์ ศิริธร นายอำเภอหลังสวนตอนนั้น ให้กำลังใจจัดมาแล้ว 12 ปี ปีนี้มีคนร่วมวิ่ง 6,000 คน
วันที่จะกำหนดการวิ่ง ขึ้นอยู่กับมาตราน้ำ คือวันนั้นน้ำต้องแห้งตั้งแต่หกโมงเช้า และตรงกับวันอาทิตย์ ช่วงเวลาจะไม่เกินวันที่ 15-25 มิถุนายนของทุกปี ช่วง 10 วันนี้เราต้องจัดงาน
...
“วิ่งเสร็จก็มากินซีฟู้ด” อำพล ธานีครุฑ หรือผู้ใหญ่หรั่ง...ว่า “ผมถือว่าประสบความสำเร็จมาก คนเพิ่มขึ้นทุกปี”
เมื่อ พ.ศ.2432 เกาะนี้ยังไม่มีชื่อ ช่วงรัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์ มีประกาศกฎมณเฑียรบาลปราบปรามโจรอั้งยี่ พ่อปู่เดชหนีคดีมา แกเลือกขึ้นทางหลังเกาะ เพราะเห็นคนกวักมือเรียก พอเข้ามาก็ไม่เจอใคร
พ่อปู่เดชเลยเรียกเกาะนี้ว่า เกาะผีทัก
พ.ศ.2434 ตาของผู้ใหญ่หรั่ง อายุเก้าขวบ นั่งเรือจากสมุยมากับพ่อ ถึงหาดทราย มีคนยืนอยู่เต็มหาดตะโกนเรียก พอตากับพ่อขึ้นมาก็ไม่เจอใคร เดินมาเรื่อยๆก็เจอพ่อปู่เดช ถึงเวลานั้นบนเกาะจึงมีกันอยู่สามคน
สมาชิกบนเกาะรุ่นแรกๆมีประสบการณ์คล้ายกัน วันที่เกิดพายุใหญ่ เรือประมงผ่านหน้าเกาะ ก็จะมีคนเรียกให้เข้ามา เพิ่มจำนวนสมาชิกขึ้นเรื่อยๆ
ชื่อเกาะผีทักมีหลักฐาน รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสภาคใต้ ทรงมีพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า ได้แวะหน้าเกาะผีทัก พอรุ่งอรุณท่านขึ้นที่ปากน้ำหลังสวน
พ.ศ.2464 คนบนเกาะพิทักษ์สร้างบ้านในทะเล 7 หลัง ประกาศเป็นหมู่บ้าน นายนุ้ย เดชาฤทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านคนแรก นายนุ้ยลูกของพ่อปู่เดชคนนี้ เปลี่ยนชื่อจากผีทักมาเป็นพิทักษ์
“ตอนนั้น เกาะพิทักษ์ยังสมบูรณ์มาก ปลาทูเกยชายหาด ชาวบ้านเหวี่ยงแหก็ได้ ได้ปลามากจนหมาเห่า ปูม้าชุกชุม ขนาดวิ่งขึ้นมาวิ่งให้จับ”
ถึงวันนี้เกาะพิทักษ์มีผู้ใหญ่บ้าน 5 คน ผู้ใหญ่หรั่งเป็นคนที่ 6
ย้อนอดีตไปอีกนิด พ.ศ.2522 อำพล ธานีครุฑ ขึ้นกรุงเทพฯ เรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะรัฐศาสตร์ จบแล้วทำงานเป็นผู้จัดการ บริษัทพรมเยอรมัน พ.ศ.2536 กลับมาเกาะพิทักษ์ พบว่าความสมบูรณ์ของหมู่บ้านหายไป ซ้ำชาวบ้านยังแตกแยกกันเอง
“ชาวบ้าน 32 หลังคาเรือน แตกเป็น 7 กลุ่ม ผู้ใหญ่บ้านต้องลาออก คุมชาวบ้านไม่ได้”
อาชีพประมงพื้นบ้าน ถูกเรืออวนลากอวนรุนเข้ามาแย่งพื้นที่ เป็นหนี้รวมกันถึง 29 ล้าน
สภาพปัญหาบนเกาะพิทักษ์ อำพล ธานีครุฑ ตัดสินใจกลับมารับเป็นผู้ใหญ่บ้าน ทั้งๆที่พ่อแม่ออกปากห้าม ปี 2536 ผู้ใหญ่หรั่งทำเรื่องขอความช่วยเหลือจากทางการ
“นายอำเภอบอกไกลปืนเที่ยง ค่อยๆพัฒนา ส.ส.ประกาศในที่ประชุมว่าฐานเสียงน้อย”
“ผมอารมณ์ขึ้น” ผู้ใหญ่หรั่งว่า “ไม่เป็นไร เมื่อนายอำเภอไม่พัฒนา นักการเมืองไม่สนใจ เกาะพิทักษ์ขอประกาศเป็นหมู่บ้านอิสระ ไม่ขึ้นกับประเทศไทย 4 ปี” ตั้งแต่นั้นผู้ใหญ่หรั่งไม่เคยเข้าประชุมที่อำเภออีก
ผู้ใหญ่หรั่งเริ่มหาวิธีแก้ปัญหา จับเข่าคุยกับชาวบ้าน ทุกอย่างต้องทำใหม่ สิ่งแรกคือพัฒนาคน หาคนที่คุยกับคนอื่นได้ รวมกลุ่มกันคิด เก็บข้อมูล ถึงรู้ว่าปัญหาเกาะพิทักษ์เกิดจากการออกทะเลไม่มีกลุ่ม
ควักกระเป๋าพาชาวบ้านไปดูงานหลายแห่ง ทำไมเขาดูแลชุมชนตัวเองได้ แล้วกลับมาเตรียมทำแผน ปี 2539 เริ่มมีการตั้งกลุ่ม เขียนแผนพัฒนาหมู่บ้าน ร่วมแรงร่วมใจขุดถนน เริ่มมีไฟฟ้า มีท่าเทียบเรือ มีสหกรณ์หมู่บ้าน มีกลุ่มอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ทะเล เพาะพันธุ์ปลา ทำกระชังให้ปู
ก่อนผู้ใหญ่หรั่งมา เกาะพิทักษ์เป็นดงยาเสพติด ใครมาก็เสพยา เล่นการพนัน ก็ตั้งกฎ ห้ามเล่นการพนัน หากไม่เชื่อตักเตือน 3 ครั้งไล่ออกจากหมู่บ้าน ยาเสพติดทุกชนิดไม่จับ แต่ภายใน 24 ชั่วโมง ต้องออกจากหมู่บ้าน
สามปีเต็มที่ขับเคลื่อนเกาะพิทักษ์ และกำลังคิดว่าตัวเองถูกออกจากราชการ ปี 2539 ผู้ใหญ่หรั่งประกาศเปิดเกาะ หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ ผู้ใหญ่หรั่งคิดเรื่องการอนุรักษ์แบบยั่งยืน เกิดความคิดเรื่องการท่องเที่ยวขึ้นมา แต่ไม่มีหน่วยงานใดสนใจ ชาวบ้านเกาะพิทักษ์ยังหาว่าผู้ใหญ่หรั่งบ้า
...
ผู้ใหญ่หรั่งก็ยังมุ่งมั่น พาลูกบ้านไปดูงานการท่องเที่ยวที่คีรีวง อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช กลับมายึดหลักทรัพยากรสิ่งแวดล้อมต้องดูแล วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน สังคมต้องอยู่ให้ได้ และยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากนั้นก็เปิดโฮมสเตย์
นำร่องด้วยการเอาเพื่อน เอาญาติพี่น้องในกรุงเทพฯมาเที่ยว
วันนี้โฮมสเตย์บนเกาะพิทักษ์มี 21 หลัง รายได้ของการท่องเที่ยวหัก 3% เข้าหมู่บ้าน มีคณะกรรมการดูแลเป็นศูนย์กลางในการรับจองกระจายนักท่องเที่ยวให้โฮมสเตย์แต่ละหลัง ให้โอกาสทุกหลังทำเอง
ชาวเกาะพิทักษ์ทั้งหมด 50 หลังคาเรือน ถือหุ้นคนละ 100 บาท เป็นภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ใครอยากทำอะไรให้มาเอาเงิน แต่มีดอกเบี้ย ถึงเวลาต้องจ่าย มีทุนการศึกษาให้เด็ก
ส่วนที่เหลือเอามาพัฒนาหมู่บ้าน ใช้ระบบคณะกรรมการขับเคลื่อน คณะกรรมการหนึ่งคนทำงานไม่ผิดได้เดือนละ 1,000 แต่ถ้าผิดปรับครั้งละ 200 ชาวบ้านทะเลาะกันปรับคนละ 100
ปี 2545 ชุมชนเกาะพิทักษ์ได้รับเลือกให้เป็น “หมู่บ้านอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลดีเด่น”
เรื่องสำคัญที่ชาวบ้านรณรงค์กันอย่างแข็งขันคือ การไม่ขายที่ โฮมสเตย์เกาะพิทักษ์ ยังเป็นของคนเกาะพิทักษ์เท่านั้น
“วันนี้ชื่อเสียงเกาะเราดังพอตัว ถ้ามีคนจากที่อื่นมาลงทุน ทำที่พัก ทำร้านอาหาร ผมกลัวว่าอะไรที่ดีบนเกาะนี้จะเปลี่ยนไป” ผู้ใหญ่หรั่งทิ้งท้าย สีหน้าแววตาว่าเอาจริง.