ตามตลาดนัด ตลาดสด หรือในห้างสรรพสินค้า เป็นกิจการที่สร้างอาชีพให้คนหาเช้ากินค่ำ ในระยะไม่กี่ปีแผงขายของ รถเข็นตามตลาด คนขายเป็นคนต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นสิ่งเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย
ตัวเลขผลสำรวจอาชีพค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าวใน ประเทศไทย ที่สภาพัฒน์สำรวจร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัดพบว่า คนต่างด้าวเป็นเจ้าของธุรกิจค้าปลีกในตลาดสดสูงถึง 20.9 เปอร์เซ็นต์
พูดง่ายๆ ทุกร้านค้า 5 ร้าน มีต่างด้าวเป็นเจ้าของ 1 ร้าน
เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ
แรงงานต่างด้าวทำงานไปซักระยะเริ่มเห็นลู่ทางในการเป็นเจ้าของกิจการ เริ่มจากค้าขายเล็กๆกับแรงงานต่างด้าวด้วยกันเอง มีข้อได้เปรียบที่คุยกันรู้เรื่อง ขายราคาที่ถูกกว่า พอเริ่มมีลูกค้าคนไทย เริ่มขยายไปเรื่อยๆ
บางส่วนใช้คนไทยเป็นนอมินีบังหน้าเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ บางส่วนจดทะเบียนสมรสกับคนไทยบังหน้า ทำให้การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก
พล.ต.ท.ณัฐธร เพราะสุนทร ผบช.สตม. เห็นปัญหาปราบปรามผู้ค้าหลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน อนุญาตให้ทำงานในกิจการบางประเภทที่ขาดแคลนแรงงานที่คนไทยไม่ค่อยสนใจ ทำให้มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาในไทยจำนวนมาก
สถิติของกรมการจัดหางานเดือน ก.ค.2559 มีคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วประเทศ 1,564,106 คน
ตัวเลขจริงคนต่างด้าวบ้านเราสูงกว่านั้นมาก
พล.ต.ท.ณัฐธรสั่งให้ระดมกำลังกวาดล้างจับกุมคนต่างด้าวที่ประกอบอาชีพผิดกฎหมาย กวดขัน ตรวจตราสถานประกอบการ ร้านอาหาร ตลาดสด ตลาดนัด ห้างร้าน โรงงาน หาบเร่ แผงลอย ตามชุมชน แผงค้าที่มีคนต่างด้าวเป็นเจ้าของ และที่มีคนไทยเป็น “นอมินีบังหน้า”
...
เน้นไปที่กลุ่มประเทศนอกเหนือไปจากกลุ่มแรงงานสามสัญชาติ กลุ่มเอเชียใต้ กลุ่มเวียดนาม และได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานสกัดกั้นผู้ค้าหาบเร่ต่างด้าวที่มาแย่งอาชีพคนไทย
ตม.จับมือกระทรวงแรงงาน
จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน เพราะกระทบต่อปัญหาปากท้องของประชาชนที่หาเช้ากินค่ำโดยตรง กิจการแผงค้า รถเข็นเป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย เราผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวทำงานได้มีแค่ 2 อาชีพ คือ งานกรรมกร และคนรับใช้ในบ้าน งานขายของหน้าร้านผ่อนปรนให้เป็นกรรมกร ช่วยเหลือนายจ้าง
การเป็นเจ้าของแผงค้า ร้านค้า ถือว่าผิดกฎหมายอย่างชัดเจน.
“เพลิงพยัคฆ์”
pluengpayak@thairath.co.th