คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 56/2559 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หลายคนอาจจะเข้าใจว่าเป็นการใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 เพื่อสั่งยึดทรัพย์นักการเมือง หรือข้าราชการ ผู้รับผิดชอบโครงการต่างๆ เช่น โครงการรับจำนำข้าว แต่มีคำยืนยันจากรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายจะไม่ใช้ ม.44 ตัดสินความผิดและสั่งยึดทรัพย์ผู้ใด โดยเด็ดขาด
แต่เป็นคำสั่งเพื่อมอบหมายให้กรมบังคับคดีเป็นผู้ยึดทรัพย์แทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในกรณีที่อาจจะมีการเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าว โครงการแทรกแซงราคาข้าวโพด และการแทรกแซงราคามันสำปะหลัง ในรัฐบาลชุดก่อนๆ คำสั่ง คสช.ยังคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัยอีกด้วย
แต่คำสั่งของนายกรัฐมนตรี ให้รัฐมนตรีพาณิชย์เป็นผู้ลงนามในคำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหาย จากนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์กับพวกรวม 6 คน ผู้รับผิดชอบการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมยังล่าช้าอยู่ มีรายงานข่าวว่ารัฐมนตรีพาณิชย์ลงนามแทนนายกรัฐมนตรีแล้ว และมอบให้ปลัดกระทรวงลงนามแทนตน
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ชี้แจงว่าได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีให้ลงนามแทน และตนก็พร้อมที่จะลงนาม แต่ยังไม่เห็นหนังสือมอบอำนาจ เมื่อลงนามเรียบร้อยแล้วจะต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ เพื่อให้จ่ายค่า เสียหายภายใน 30 วัน และอาจยืดเวลาให้อีก 15 วัน หากไม่จ่ายจึงจะมอบให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์ เว้นแต่ผู้ถูกกล่าวหาจะอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง
ส่วนการเรียกค่าเสียหายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นกรณีหนึ่งอีกต่างหาก คาดว่าจะสรุปสำนวนได้ในเร็วๆวัน เป็นค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด ประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท ส่วนค่าเสียหายจากการขายข้าว 2 หมื่นล้านบาท สาเหตุของความล่าช้าอาจเป็นเพราะรัฐมนตรีพาณิชย์ไม่มั่นใจในปัญหากฎหมาย และการเมืองในอนาคต
...
การขายข้าวแบบจีทูจี นอกจากอดีตรัฐมนตรี 2 นาย จะถูกบังคับให้รับผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งแล้ว ยังมีข้าราชการระดับสูงติดร่างแหอีกถึง 4 คน ทั้งๆที่ไม่ใช่เจ้าของโครงการ แต่ต้องทำตามคำสั่งและนโยบายของรัฐบาล มีเสียงวิจารณ์ว่าทำไมรัฐบาลจึงเลือกใช้คำสั่งทางปกครอง ซึ่งเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร ทำไมจึงไม่ให้ฝ่ายตุลาการเป็นผู้ตัดสิน
แม้รัฐบาลจะใช้คำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ผู้ถูกกล่าวหายังมีสิทธิร้องคัดค้านต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ยึดทรัพย์ ได้ ในที่สุดเรื่องก็อาจไปยุติที่ศาล ทำไมรัฐบาลจึงไม่ใช้วิธีการฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อศาลตั้งแต่ต้น เพราะจะเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ.