อู้ฟู่ รายได้อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ประจำปี 2559 เฉียด 2 พันล้านบาท มาก กว่าปี 2558 เกือบพันล้านบาท มากที่สุดในประวัติศาสตร์การจัดเก็บเงินรายได้ โดย “อุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี” ที่เดียวเก็บค่าเข้าได้ถึง 502 ล้านบาท ล้มแชมป์เก่าปี 2558 “อุทยานฯเอราวัณ” ที่หล่นไปอยู่อันดับ 4 ได้กว่า 99 ล้านบาท ส่วน “อุทยานฯลันตา” มาแรงเบียดขึ้นติด 1 ใน 10 เก็บได้กว่า 28 ล้านบาท “อุทยานฯเขาใหญ่” 88 ล้านบาท ด้านอธิบดีอุทยานฯ ระบุจะนำเงินรายได้ยกระดับการบริหารจัดการอุทยานทั่วประเทศให้ดีขึ้น

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดเก็บรายได้จากอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ได้มากเป็นประวัติการณ์ โดยเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักอุทยานแห่งชาติ เผยแพร่สถิติเงินรายได้ของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ 147 แห่ง ประจำปี 2559 ตั้งแต่เดือน ต.ค.2558-ส.ค.2559 ปรากฏว่าอุทยานฯที่มีรายได้อันดับ 1 คือ อุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ จัดเก็บได้ 502,780,516 บาท อันดับ 2 อุทยานฯอ่าวพังงา จ.พังงา เก็บได้ 336,601,100 บาท อันดับ 3 อุทยานฯ หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา 185,937,416.81 บาท อันดับ 4 อุทยานฯเอราวัณ จ.กาญจนบุรี 99,003,185.21 บาท อันดับ 5 อุทยานฯเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา 88,474,479.87 บาท

อันดับ 6 อุทยานฯดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ 66,884,425 บาท อันดับ 7 อุทยานฯเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี 46,950,929.46 บาท อันดับ 8 อุทยานฯ หมู่เกาะช้าง จ.ตราด 28,941,273 บาท อันดับ 9 อุทยานฯลันตา จ.กระบี่ 28,829,850 บาท และอันดับ 10 อุทยานฯหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี 27,975,951.86 บาท โดยทั้ง 10 อุทยานฯมีรายได้รวมกันกว่า 1,400 ล้านบาท แต่ถ้านับเงินรายได้รวมกันทั้ง 147 อุทยานฯ มีจำนวนมากถึง 1,821,052,660.18 บาท มากกว่าการจัดเก็บรายได้ประจำปี 2558 ที่ได้จำนวน 896,829,343.39 บาท เกือบ 1 พันล้านบาท และถือว่ามากที่สุดนับตั้งแต่มีการจัดเก็บเงินรายได้อุทยานฯ

...

สำหรับอันดับ 11-20 ประกอบด้วย อุทยานฯ น้ำตกพริ้ว จ.จันทบุรี 23,776,375 บาท อุทยานฯ เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง 21,915,550 บาท อุทยานฯตะรุเตา จ.สตูล 20,472,651.97 บาท อุทยานฯแก่งกระ จาน จ.เพชรบุรี 19,854,925 บาท อุทยานฯธารโบกขรณี จ.กระบี่ 18,575,520 บาท อุทยานฯภูหินร่องกล้า จ.เพชรบูรณ์ 15,419,626 บาท อุทยานฯตาดโตน จ.ชัยภูมิ 15,360,850 บาท อุทยานฯห้วยน้ำดัง จ.เชียงใหม่ 14,804,879 บาท อุทยานฯภูกระดึง จ.เลย 14,549,740 บาท และอุทยานฯดอยสุเทพ-ปุย จ.เชียงใหม่ 13,443,097 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สถิติการจัดเก็บเงินรายได้ประจำปี 2559 ของแต่ละอุทยานฯ มีการเปลี่ยนแปลงอันดับจากปี 2558 โดยสามารถล้มแชมป์การจัดเก็บเงินรายได้ปี 2558 ได้อย่างสิ้นเชิง โดยในปี 2558 อุทยานฯ ที่จัดเก็บเงินรายได้อันดับ 1 คือ อุทยานฯเอราวัณ จำนวน 90,603,396.65 บาท อันดับ 2 อุทยานฯ เขาใหญ่ จำนวน 88,769,209.30 บาท อันดับ 3 อุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จำนวน 84,948,280 บาท อันดับ 4 อุทยานฯอ่าว

พังงา จำนวน 62,754,434 บาท อันดับ 5 อุทยานฯ อินทนนท์ จำนวน 49,992,515.55 บาท ทั้งนี้ อุทยานฯ ที่สามารถแทรกขึ้นมาติด 1 ใน 10 ที่สามารถจัดเก็บเงินรายได้มากที่สุดคือ อุทยานฯ ลันตา จ.กระบี่ โดยมาแทนที่อุทยานฯน้ำตกพริ้ว จ.จันทบุรี ที่ตกไปอันดับ 11 นอกจากนี้ ในแต่ละอุทยานฯ ทั่วประเทศ สามารถจัดเก็บเงินรายได้ ได้เพิ่มขึ้นเกือบทุกอุทยานฯ แม้แต่อุทยานฯ ที่กรมอุทยานฯ ลุยตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ออกโดยมิชอบอย่างหนัก เช่น อุทยานฯสิรินาถ จ.ภูเก็ต 11 เดือนเก็บได้มากกว่า 2 ล้านบาท เป็นต้น

ทั้งนี้ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ เปิดเผยว่า การจัดเก็บเงินรายได้ถือว่าน่าพอใจ สาเหตุมาจากการวางแผนที่รอบคอบรัดกุมไม่ให้รั่วไหล รวมทั้งการจัดวางบุคลากรลงไปเป็นหัวหน้าอุทยานฯ ที่คัดเลือกคนที่มีความสามารถ จนทำงานออกมาจนประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทั้งนี้ เหลือระยะเวลาอีก 1 เดือนจะหมดปีงบประมาณ คาดว่ารายได้รวมกันน่าจะมากกว่า 1,900 ล้านบาท โดยเงินรายได้จะนำมายกระดับการบริหารจัดการอุทยานฯทั่วประเทศ ให้ดีขึ้น ด้วยงบประมาณ 500 ล้านบาท หรือมากกว่า รวมทั้งนำรายได้ไปช่วยเหลืออุทยานฯที่มีรายได้น้อยตามแผนปฏิรูปอุทยานฯที่กำลังดำเนินการ