นายกสมาคมสวนยางนครพนม ท้าพิสูจน์คุณภาพยางอีสาน ปลอดซัลฟิวริก ขอความชัดเจนบริษัทยักษ์ใหญ่ ย้ำอย่าซ้ำเติมเกษตรกร หลังโดนพ่อค้าเหมารวมยางไม่ได้คุณภาพ กดราคารับซื้อ

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 59 นายสันต์ อยู่บาง อายุ 53 ปี นายกสมาคมชาวสวนยาง จ.นครพนม และในฐานะกรรมการสมาคมชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายหลังมีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตยางรถยนต์ออกมาประกาศแบนยางอีสาน อ้างว่าไม่มีคุณภาพในการผลิต จากปัญหาการใช้กรดซัลฟิวริกผสมในยาง ซึ่งส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งที่ราคายางตกต่ำอยู่แล้ว

ทั้งนี้ปัจจุบันราคารับซื้อยางก้อนถ้วยอยู่ที่ 22-23 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงจากเดิมประมาณ 2-3 บาท จึงอยากให้บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตยางมีการทบทวน พิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ว่ามีเจตนาหรือเป้าหมายอะไร หรือจะเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด แต่สิ่งที่ตามมาคือเกษตรกรถูกกดราคา ในฐานะที่เป็นตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่นครพนม ปัจจุบันมีชาวสวนยางประมาณ 25,000 ราย มีพื้นที่ปลูกประมาณ 380,000 ไร่ มีพื้นที่กรีดประมาณ 200,000 ไร่ มีผลผลิตต่อปีประมาณ 60,000 ตัน ส่วนใหญ่จะเป็นยางก้อนถ้วย 100% ที่ส่งออกขาย จึงต้องการที่จะออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงเพื่อท้าพิสูจน์ การันตีว่ายางในพื้นที่ภาคอีสาน และยางในพื้นที่นครพนม มีคุณภาพปลอดสารซัลฟิวริก 100%

นายสันต์ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรสวนยาง ได้มีการรณรงค์ในการงดใช้กรดซัลฟิวริกมาต่อเนื่อง โดยจะใช้กรดฟอร์มิกแทน ล่าสุด ได้มีการจัดซื้อสารแบเรียมคลอไรด์ มาแจกจ่ายให้เกษตรกรมีการตรวจคุณภาพก่อนนำไปจำหน่าย เพื่อเป็นการการันตี ลดข้อครหากับพ่อค้าที่รับซื้อ จึงต้องการออกมาเรียกร้องให้ทางบริษัทรับซื้อเห็นใจเกษตรกร อย่าเหมารวม

อย่างไรก็ตาม อาจจะมียางพาราแค่บางส่วนที่ยังมีปัญหา แต่อย่าให้กระทบต่อภาพรวม เพราะเมื่อมีข่าวออกไปแล้วมันส่งผลกระทบต่อราคายางพารา พ่อค้าบางรายที่รับซื้อ ถือโอกาสกดราคาทันที หากมีบางพื้นที่มีปัญหาจริง ควรใช้วิธีการพูดคุยกับองค์กรชาวสวนยาง หรือหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ หาทางรณรงค์ช่วยเหลือเกษตรกร ให้พัฒนาปรับปรุงคุณภาพยาง เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคายาง เพราะทุกวันนี้ราคายางถือว่าขายขาดทุนอยู่แล้ว ในส่วนของชาวสวนยางนครพนม พร้อมท้าพิสูจน์ให้มีการหามาตรฐาน ด้วยการตรวจสอบคุณภาพก่อนรับซื้อ หากมีปัญหาจริงยอมให้งดรับซื้อทันที.

ชาวสวนยางอีสาน 20 จว. ประกาศ บอยคอต ไม่ซื้อสินค้าล้อยาง 3 บริษัท

...