ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน นักศึกษา ผู้ใช้แรงงานและชาวนาเข้ามามีบทบาททางการเมืองและได้ประท้วงเรียกร้องสิทธิ์ให้กับชาวนา ชาวไร่ ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดิน เพื่อให้ได้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง...

จนรัฐบาลต้องออกพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2518 เป็นต้นมา เพื่อดำเนินการกระจายสิทธิในที่ดิน ทั้งในที่ดินของรัฐและที่ดินของเอกชนไปสู่เกษตรกรที่
ไม่มีที่ดินทำกิน

พร้อมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอาชีพเกษตรกรรม เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กลไกสำคัญคือ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก.

จะออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01 เพื่อเป็นหลักฐานในการจัดสรรที่ดินของรัฐให้กับเกษตรกรที่มีฐานะยากจนไปทั่วประเทศ

ตาม ส.ป.ก. 4-01 ระบุว่า “ที่ดินนั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้และห้ามทำการซื้อขาย แต่สามารถโอน หรือตกทอดทางมรดกให้แก่ทายาทโดย
ชอบธรรมหรือบุคคลในครอบครัวได้”

สำหรับที่ดินเอกชนที่ ส.ป.ก.ได้จัดซื้อมาจะจัดให้เกษตรกรเช่าหรือเช่าซื้อเพื่อประกอบเกษตรกรรมเท่านั้น แต่ในหลายสิบปีที่ผ่านมา ที่ดินที่เกษตรกรได้รับการจัดสรรกลับไปถูกย้ายถ่ายเทไปอยู่ในมือของนายทุนเป็นนับแสนไร่

ทั้งๆที่รู้แล้วว่า ที่ดิน ส.ป.ก.นั้นซื้อขายกันไม่ได้

“หากมีการซื้อขายจะเป็นโมฆะ...แต่สามารถโอน แบ่งแยกและตกทอดทางมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรม หรือบุคคลในครอบครัว อันได้แก่ สามี ภรรยา บุตร บิดา มารดา พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาและหลานได้”

กว่า 30 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นจริงที่ดินที่เกษตรกรได้รับการจัดสรรกลับถูกยักย้ายไปอยู่ในมือนายทุน...ซื้อขายกันแบบที่คนขายก็รู้ คนซื้อก็รู้ว่าที่ดิน ส.ป.ก.นั้นซื้อขายกันไม่ได้ แต่ก็ยังซื้อขายกัน

...

วันเวลาผ่านไปพบว่ามี “นายทุน” และ “นักการเมือง” หลายรายได้เข้าครอบครองที่ดินของ ส.ป.ก. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายรวมแล้วหลายแสนไร่ และกลายเป็นหนามยอกอก ส.ป.ก. มาโดยตลอด

รวมทั้งการจะฟ้องร้องดำเนินคดีก็ทำได้ยากเพราะผู้ปกครองท้องที่ไม่ให้ความร่วมมือในการแจ้งว่า ผู้ใดเป็นผู้ครอบครองที่ดินของ ส.ป.ก.

ปัญหายิ่งซึมลึกในบางรายที่ ส.ป.ก.สามารถฟ้องคดีเรียกที่ดินคืนได้ แต่ก็ต้องใช้เวลานานกว่า 7-10 ปี...ทำให้นายทุนกล้าลงทุนในการซื้อที่ดินของ ส.ป.ก. และทำให้เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินต้องรอคอยการได้รับการจัดที่ดินนานเกินสมควร

จนในที่สุดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 มีคำสั่งที่ 36/2559 เพื่อแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินของ ส.ป.ก. โดยมิชอบด้วยกฎหมายอย่างเร่งด่วน

สรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการ ส.ป.ก. บอกว่า กรอบการทำงานภายใต้คำสั่งนี้ว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่ไปปิดประกาศแจ้งต่อผู้ครอบครองที่ดินในพื้นที่เป้าหมายไปแล้ว 431 แปลง เนื้อที่ประมาณ 440,000 ไร่ ให้มายื่นหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินภายในเวลา 15 วัน

“ถ้าหากไม่มา ก็จะไปปักป้ายให้ออกจากที่ดินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายใน 30 วัน หลังจากนั้นหากยังไม่มีการดำเนินการก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ายึดพื้นที่คืนและทำการรื้อถอนเองและเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้ครอบครองที่ดินนั้น...

แต่ถ้านำเอกสารไปให้ตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ก็จะใช้เวลาในการตรวจสอบอีกไม่เกิน 30 วัน ถ้าเอกสารถูกต้องก็จะยุติเรื่อง แต่ถ้าไม่ถูกต้องเจ้าหน้าที่ก็จะมีหนังสือแจ้งให้ออกจากที่ดินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายใน 30 วัน”

หากไม่ดำเนินการก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้า “ยึด” และ “รื้อถอน” เช่นกัน

ส่วนกรณีนายทุนที่ซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ที่ได้มอบให้แก่เกษตรกรไปแล้วเกินกว่า 100 ไร่ ในเบื้องต้นก็จะมีการตรวจสอบว่าขณะนี้ผู้ครอบครองที่ดินยังเป็นเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรอยู่หรือไม่

ซึ่งจะตรวจสอบจากหลักฐานการกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส. หรือจาก ส.ป.ก.เอง จะตรวจสอบจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและตรวจสอบจากชื่อใน ภบท.5 หรือ ใบเสียภาษีบำรุงท้องที่

“ถ้าหากชื่อไม่ตรงกับเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ก็สันนิษฐานได้ว่า...เป็นการได้ที่ดินมาโดยมิชอบ และจะทำการเพิกถอนสิทธิของเกษตรกรรายนั้นและยึดคืนที่ดินต่อไป”

สรรเสริญ เลขาธิการ ส.ป.ก.บอกอีกว่า อีกวิธีหนึ่งที่นำมาใช้ในการตรวจสอบ คือตรวจสอบจากภาพถ่ายทางอากาศ โดยพิจารณาจากพื้นที่เป้าหมายว่ามีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไร

“หากนำที่ดินไปทำรีสอร์ตและมีเนื้อที่เกินร้อยไร่...หรือปลูกยูคาลิปตัส ทำสวนส้ม สวนปาล์มอย่างเดียวเกินร้อยไร่ พวกนี้ก็อยู่ในข่ายครอบครองโดยไม่ถูกต้อง”

สำหรับที่ดินที่ยึดคืนมาได้ ส.ป.ก.จะเร่งเข้าไปปรับปรุงพัฒนาแปลงที่ดินให้มีความพร้อมทั้งด้านแปลงเกษตรกรรม แหล่งน้ำ สาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อนำไปจัดสรรให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินตามแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

โดยจะจัดให้ในรูปของ “สหกรณ์การเกษตร” คาดว่า...จะสามารถยึดที่ดินคืนทั่วประเทศได้ประมาณ 100,000 ไร่

การดำเนินขั้นต่อไป ผืนดินที่คืนมานี้จะได้รับการปรับปรุงพัฒนาที่ดิน จัดสรรขนาดที่ดินโดยพิจารณาจากสภาพที่ดิน...แปลงไหนดินดีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ก็อาจจะจัดสรรให้รายละ 5 ไร่ แปลงไหนไม่สมบูรณ์ก็อาจพิจารณาให้มากกว่านั้น ส่วนการคัดเลือกเกษตรกรให้ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินเป็นอำนาจในระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

การยึดคืนที่ดินที่ถือครองโดยผิดกฎหมายนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดกำหนดให้เสร็จตามกรอบเวลา 129 วัน เชื่อมั่นว่าจะทำการยึดคืนได้สำเร็จและจะนำมาจัดสรรให้เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินได้ทันภายใน 1 ปี

“เพราะถ้าหากไม่สามารถดำเนินการได้เสร็จภายในรัฐบาลนี้ ที่ดินที่ยึดคืนมาได้นี้จะถูกผู้ครอบครองที่ดินย้อนกลับไปครอบครองแบบเอาคืน” สรรเสริญ ว่า

“การยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก. ครั้งนี้เป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สุขครั้งใหญ่ของบรรดาเกษตรกรผู้ยากไร้ของแผ่นดินและของพระองค์ท่าน...ผมเชื่อว่าความสุขของพระองค์ท่าน คือการได้เห็นเกษตรกรและพสกนิกรของพระองค์มีความสุข จึงใคร่ขอให้ผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ซึ่งรวมถึงฝ่ายผู้ครอบครองที่ดินโดยมิชอบโปรดช่วยกันผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี เพื่อทดแทนพระคุณของพระองค์ท่าน”.