“ภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบ ใหม่”...ส่งผลกระทบต่อประชาชน ประเทศชาติ ยุคปัจจุบันยิ่งทวีความสลับซับซ้อน ...เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น...“การก่อการร้าย” “อาชญากรรมข้ามชาติ” “ภัยพิบัติทางธรรมชาติ” “ภัยจากโรคอุบัติใหม่”
วันนี้ “ความมั่นคงของชาติ” จึงไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะมิติด้านการทหาร หรืออำนาจอธิปไตยเท่านั้น หากแต่...ความมั่นคงของชาติยังเป็นรากฐานที่ครอบคลุมทุกบริบท ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของชนชาติไทย
ยังไม่นับรวมถึงปัญหาเรื้อรัง ปัญหา...ยาเสพติด คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ค้ามนุษย์ ปัญหาเกษตรกรผู้ยากจน...ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง การแก้ปัญหาผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อเป็นเช่นนั้น...การขับเคลื่อนให้ประเทศชาติมีความมั่นคงได้นั้น จึงต้องอาศัยองคาพยพทุกภาคส่วนของประเทศ “ภาคประชาชน”...จึงมีบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการแก้ปัญหา
“...ถ้าพี่น้องประชาชนรู้หน้าที่ มีจิตสำนึก มีค่านิยมตามขนบ ธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม ทุกคนมีความร่วมมือร่วมใจ มีความรักสมัครสมานสามัคคี ช่วยเหลือสนับสนุน ร่วมกันสอดส่องดูแลมิให้สิ่งไม่ดีไม่งามบังเกิดขึ้นในสังคมไทย ร่วมกันสรรค์สร้างสังคมไทยให้เกิดสันติสุขบนพื้นฐานความรับผิดชอบร่วมกัน”
พันเอกพีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้ข้อมูลว่า รอบปีที่ผ่านมา กอ.รมน. ได้มีการดำเนินการเสริมสร้าง พัฒนา สนับสนุนให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่างๆอย่างยั่งยืน
ยกตัวอย่างเช่น การดำเนินการจัดตั้งหมู่บ้าน...ชุมชนเข้มแข็งเอาชนะยาเสพติด 1,120 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 28 จังหวัดชายแดนทั่วประเทศ
...
“เพื่อพัฒนาศักยภาพพี่น้องประชาชนในระดับหมู่บ้าน ตำบล ให้มีระบบการเฝ้าระวัง...เฝ้าตรวจ ป้องกันภัยคุกคามรูปแบบใหม่ตามแนวชายแดน”
นอกจากนี้ยังร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน ติดตาม ตรวจสอบการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ 25 จังหวัดเป้าหมาย...มีชายแดนติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เพื่อจัดระบบ แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว...แรงงานค้ามนุษย์
กลไกสำคัญคือการพัฒนาเครือข่ายมวลชนในการเฝ้าระวังติดตามตรวจสอบสถานการณ์ “การก่อการร้าย” และ “อาชญากรรมข้ามชาติ” ในพื้นที่จังหวัดต่างๆทั่วประเทศ
ติดอาวุธให้ภาคประชาชนเครือข่ายมีความรู้ ความสามารถ มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบสถานการณ์ สามารถให้ข่าวสารสำคัญที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต่อไป
อีกภารกิจที่ต้องกล่าวถึงก็คือ ความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ
พลิกฟื้น...คืนผืนป่า ให้มีป่า 128 ล้านไร่ ในปี 2567
ท่ามกลางปัญหาสำคัญเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แน่นอนว่า กอ.รมน. พยายามดำเนินการแก้ปัญหาด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่เข้าด้วยกัน
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ที่สำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วในวันนี้ อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจตามโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตลอดจนการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดย “สันติวิธี”
มุ่งหมายให้ “สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้”...เป็น...“สังคมพหุวัฒนธรรม” ที่มีความเข้มแข็ง เปิดโอกาสให้กับผู้ที่คิดเห็นต่างจากรัฐที่มีหมายคดีความมั่นคง หมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และหมาย ป.วิฯอาญา ได้ออกมารายงานตัวเข้าโครงการพาคนกลับบ้าน เพื่อต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมของรัฐ
น่าสนใจว่า...ปัจจุบันมีผู้ออกมารายงานตัวแล้ว 3,933 คน จนนำไปสู่การรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็น “ชมรมพาคนกลับบ้าน” ทั้งหมด 37 ชมรม/อำเภอ ตลอดจนการฝึกอบรมวิชาชีพอีก 700 ราย
เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์สุดท้าย...การสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างยั่งยืนต่อไป
ฉายภาพด้านการศึกษา เพื่อติดอาวุธทางปัญญา กอ.รมน.ก็ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่” ประจำตำบลทั่วประเทศ รวม 7,424 แห่ง
เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เรียนรู้ ยึดนำแนวทางพระราชดำริฯ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามความเหมาะสม พื้นฐานของแต่ละชุมชน...เป็นอีกจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ
อีกก้าวเพื่อพัฒนาสรรค์สร้างคุณภาพสังคม ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภายใต้โครงการ “เพชรในตม” คัดเลือกเยาวชนที่มีฐานะยากจนในหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) ให้ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
มุ่งหมายที่จะสร้างผู้นำท้องถิ่นที่ประพฤติ ปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม เหมาะสมให้มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รักสถาบัน รักหมู่บ้าน และ...รักประชาชนร่วมชาติ
“เราจะคัดเลือกนักเรียนที่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี มีลักษณะผู้นำ มีวินัย และมีความรัก...ศรัทธาในวิชาชีพครู ที่สำคัญ...ต้องมีอุดมการณ์ที่จะพัฒนาท้องถิ่นชนบท”
“เพชรในตม” เริ่มมาตั้งแต่ปี 2529 ผ่านมาถึงวันนี้ 29 รุ่นแล้ว เฉลี่ยผู้เข้าได้รับคัดเลือกรุ่นละ 30-50 คน ปัจจุบันมีผู้จบการศึกษาและรับราชการครูอยู่ในภูมิลำเนาแล้วทั้งหมด 795 คน
น่าดีใจว่า...หลายคนเจริญก้าวหน้าในชีวิตรับราชการ อย่างเช่น ผศ.ดร.สมบัติ ท้ายเรือคำ วันนี้เป็นประธานบริหารหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ดร.กิตติทร โนนคู่เขตโขง อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
...
“กอ.รมน.” หรือ “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งอยู่ที่สวนรื่นฤดี ถนนนครราชสีมา เขตดุสิต กรุงเทพฯ โดยมี กอ.รมน.ภาค ทั้ง 4 ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด ทุกจังหวัด เป็นหน่วยงานระดับปฏิบัติงาน
ลักษณะการดำเนินงานหัวใจสำคัญคือยึดหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพื่อคลี่คลายปัญหา...“การบูรณาการ” ประสานการปฏิบัติกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การทำงานมีความสอดคล้อง
ลดช่องว่าง ขจัดความซ้ำซ้อน ช่วยเหลือสนับสนุนให้การทำงานของทุกหน่วยงานในทุกพื้นที่ของประเทศไปสู่ผลสัมฤทธิ์ตามนโยบาย... ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของรัฐ
ตั้งหวังกันว่าการดำเนินงานรอบทิศทางของ กอ.รมน. หากสามารถขับเคลื่อนพันธกิจต่างๆให้ประสบความสำเร็จได้โดยง่าย “สังคมไทย” ก็จะมีเสถียรภาพ มีสภาพแวดล้อมที่ดี...เอื้อต่อการพัฒนาประเทศให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน สืบไป.