“เก๋ เลเดอเรอร์” นัดเข้าชี้แจง ก.ล.ต. 23 ส.ค.นี้ พร้อมเปิดแถลงข่าวหลังชี้แจงเสร็จ มั่นใจไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ระบุเหตุระดมเงินทุนเพราะไม่ต้องการเป็นหนี้แบงก์ ตั้งใจระดมเงินเพียง 15 ล้านบาท และยอมรับความเสี่ยงในการขายผลิตภัณฑ์ครีมในเครือบริษัทที่นั่งแท่นเป็นซีอีโอเอง ลูกค้าไม่ต้องมารับผิดชอบ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายธุรกิจ ชี้การระดมทุนประชาชนเอาเงินไปลงทุนซื้อครีมของบริษัทตัวเอง อาจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ เตือนประชาชนอย่าโลภ ตรวจสอบข้อมูลการลงทุนให้ดี ชี้มีบทเรียนในอดีตมากมาย
ความคืบหน้ากรณีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน ออกมาตรวจสอบการระดมทุนของนางสาวอรปภัตร จันทรสาขา หรือที่รู้จักกันในสังคมโซเชียลว่า “ไฮโซ ม่านฟ้า” ที่เปิดบริษัทระดมทุน โดยให้ผลตอบแทนสูงถึง 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จนสุดท้าย “ไฮโซม่านฟ้า” ประกาศยกธงยอมรูดม่านยุติโครงการดังกล่าวไปแล้ว แต่ยังคงมีอีกรายคือ นางสาวกันยกร ศุภการค้าเจริญ หรือที่รู้จักกันดีในนาม “เก๋ เลเดอเรอร์” สาวสวยอดีตผู้เข้าประกวดนางงามหลายเวที ที่ดำเนินธุรกิจใกล้เคียงกัน ยังประกาศเดินหน้าระดมเงินฝากร่วมลงทุน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 18 ส.ค.หลังได้รับการเปิดเผยจาก “เก๋ เลเดอเรอร์” ว่า ตนได้รับหนังสือจากสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา และได้นัดเข้าไปชี้แจงและให้รายละเอียดกับ ก.ล.ต.ในวันที่ 23 ส.ค.ที่จะถึงนี้ หลังจากชี้แจง ก.ล.ต.เสร็จแล้ว ตนจะนัดแถลงข่าวกับสื่อมวลชนถึงรายละเอียดทั้งหมดทันที โดย ก.ล.ต.ได้สอบถามมาหลายประเด็น และให้ไปชี้แจงถึงรายละเอียดการทำธุรกรรมต่างๆว่า เงินที่ได้มาจากประชาชนที่นำมาลงหุ้นกับบริษัทนั้น ได้นำไปทำอะไร มีการโยกย้ายเงินไปลงทุนในธุรกิจที่ไม่สุจริตหรือผิดกฎหมายหรือไม่ หลอกลวงประชาชนหรือไม่ มีการปันผลหรือให้ผลตอบแทนผู้ลงทุนอย่างไร เงินมาจากส่วนไหน มีการนำเงินทุจริตมาฟอกเงิน หรือไม่ โดยให้ชี้แจงที่มาที่ไปของเงินที่ได้มาทั้งหมด และที่จ่ายออกไปทั้งหมด ซึ่งตนได้เตรียมเอกสาร และสัญญาที่ทำกับผู้มาลงทุน รวมทั้งรูปถ่ายไว้ทั้งหมดแล้ว รวมทั้งบัญชีการเงินทั้งหมด ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่า เงินที่ได้มาไม่ได้เอาไปลงทุนอะไรที่ผิดกฎหมาย
...
“เราพร้อมนำเอกสารหลักฐานไปชี้แจงและยืนยันกับ ก.ล.ต.ว่า เราไม่ได้เอาเงินที่ประชาชนเอามาฝากเราลงทุน ไปทำธุรกิจผิดกฎหมาย และไม่ได้เป็นการฟอกเงิน ธุรกิจในเครือเรามีสินค้าเยอะหลายตัว ยืนยันไม่ได้มีธุรกิจสีเทาและไม่ได้เอาเงินไปลงทุนในธุรกิจที่ผิดกฎหมาย” เก๋ เลเดอเรอร์ กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า เงินที่ได้มานำไปลงทุนอะไรจึงสามารถให้ผลตอบแทนผู้ลงทุนได้โดยไม่มีความเสี่ยงและการันตีจ่ายปันผลทุกเดือน “เก๋ เลเดอเรอร์” อธิบายว่า เก๋จะนำเงินที่คนมาฝากไว้ไปลงทุนซื้อสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ครีมในเครือของบริษัท “เลเดอเรอร์ ไทยแลนด์” ที่ตนเองเป็นซีอีโออยู่ โดยทำสัญญาเรียกว่า “สัญญาฝากร่วมลงทุน” โดยเงินลงทุนขั้นต่ำ 100,000 บาท ได้ผลตอบแทน 5,000 บาท ภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยจะจ่ายเงินต้นและปันผลคืนพร้อมกันทุกเดือนจนครบ 6 เดือน และตนก็จะนำผลิตภัณฑ์ครีมเหล่านี้ไปกระจายขายเอง โดยที่ผู้ลงเงินไม่ต้องเอาไปขายหรือมารับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น เราจะจัดการให้ทั้งหมด พอครบ 6 เดือน ก็ถือว่าหมดสัญญา
จะต่อสัญญาใหม่ก็ได้ แต่หากผู้ลงทุนต้องการขายครีมด้วย ก็จะมีกำไรจากครีมที่ขายได้อีกส่วนหนึ่ง นอกเหนือจากผลตอบแทนที่ทำสัญญาการันตีดังกล่าว นอกจากนี้ในบางเดือนหรือบางช่วงที่เราขายครีมดี ก็จะเสนอผลตอบแทนมากกว่า 5,000 บาท สำหรับผู้เข้ามาร่วมลงทุนในช่วงนั้นๆ เช่น 6,000 หรือ 7,000 บาท ซึ่งเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้ทำสัญญากับผู้มาลงทุนในช่วงเดือนนั้น โดยให้ ผลตอบแทนแสนละ 6,000 บาท
“ผู้ลงทุนไม่ต้องมีความเสี่ยงใดๆ รอรับผลตอบแทนตามสัญญาอย่างเดียว ครีมจะขายได้หรือขายไม่ได้ เรารับผิดชอบเองทั้งหมด ซึ่งเก๋มีตัวแทน จำหน่ายที่ช่วยนำครีมไปขายอยู่แล้ว และขณะนี้มีผู้แทนจำหน่ายบางส่วนยังได้นำเงินมาฝากลงทุนกับเราด้วยหลายราย และคนที่นำเงินมาฝากหลายรายก็กลับมาช่วยเป็นตัวแทนจำหน่ายให้เราด้วย”
เก๋ เลเดอเรอร์ กล่าว พร้อมกันนี้ ยังระบุด้วยว่า การกำหนดอัตราผลตอบแทนที่ระดับดังกล่าวที่ถูกมองว่าสูงนั้น ได้มีการคำนวณความเสี่ยงไว้หมดแล้ว โดยหากขายครีมแบบลดราคาสุดๆ ในราคาซื้อ 1 แถม 1 ก็ยังคงมีกำไรขั้นต่ำสูงกว่าผลตอบแทนที่เราเปิดให้คนมาลงทุนที่แสนละ 5,000 บาท อย่างไรก็ตาม จะรับผู้ลงทุนที่ลงเงินขั้นต่ำ 100,000 บาท และสูงสุดไม่เกิน 4,000,000 บาทต่อ 1 รายเท่านั้น และตั้งใจจะระดมเงินทุนทั้งหมดของโครงการนี้เพียง 15 ล้านบาท
ส่วนความกังวลที่ว่าหากไม่สามารถขายผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้ามาร่วมลงทุนได้หมดนั้น เก๋ เลเดอเรอร์ ให้คำตอบว่า ถือเป็นความเสี่ยงของตนเองและบริษัท ลูกค้าไม่ต้องมารับผิดชอบ โดยตนได้พิจารณาแล้วว่า กรณีที่ธุรกิจไปต่อไม่ได้ เงินทองสินทรัพย์หรือสมบัติที่มีอยู่สามารถรองรับ หรือปิดความเสี่ยงตรงนี้ได้ ดังนั้น ตนจึงกล้าการันตีผลตอบแทนและความเสี่ยงให้กับผู้มาร่วมลงทุนได้
เมื่อถามอีกว่า ทำไมเมื่อต้องการเงินลงทุนตรงนี้ถึงไม่ไปกู้แบงก์ “เก๋ เลเดอเรอร์” ชี้แจงว่า ตนจำเป็นและไม่ต้องการไปเป็นหนี้แบงก์ มองว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้คือธุรกิจ มันคือธุรกิจที่เราจะได้ร่วมลงทุนกับผู้ที่ติดตามผลิตภัณฑ์เราอยู่
ด้านนายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายธุรกิจ กล่าวให้ความเห็นว่า การระดมทุนลักษณะนี้ อาจเข้าข่ายหรือมีลักษณะใกล้เคียงแชร์ลูกโซ่ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีสินค้าจริง หากมีการระดมทุน หรือเอาเงินประชาชนเข้าลงไปลงทุนจำนวนมาก และการเสนอให้ผลตอบแทนที่สูงมาก คล้ายกับการเอาเงินคนเก่ามาจ่ายคนใหม่ หรือหากไม่มีการซื้อขายผลิตภัณฑ์หรือสินค้าจริง หรือแม้จะมีการซื้อขายจริงแต่หากไม่มีคนซื้อหรือขายของไม่ได้ ก็อาจสร้างปัญหาให้กับผู้ที่เข้าไปร่วมใส่เงินในรายหลังๆ
“ดังนั้น อยากเตือนประชาชนหรือผู้ลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนก็ต้องพิจารณาข้อมูลธุรกิจให้ดีว่ามันเป็นไปได้จริงหรือไม่ อย่าโลภหรือเห็นแก่ผลตอบแทนที่สูง ซึ่งในอดีตก็มีบทเรียนให้เห็นจำนวนมาก แชร์ลูกโซ่ที่ก่อตัวเป็นขนาดใหญ่ขึ้นมีผู้เข้ามาร่วมจำนวนมาก มูลค่าของเงินที่เข้ามาลงทุนมีมูลค่าสูงขึ้น ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่โซ่ท้ายๆหลุด หรือขาดหรือไม่สามารถหาเงินมาให้คนหลังๆได้ทัน สุดท้ายกลายเป็นความเสียหายและเป็นคดีความฉ้อโกงมาแล้วจำนวนมาก” ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายธุรกิจกล่าว
...