พลันผลรายงานผลการออกเสียงประชามติออกมา จะเป็นวิกฤติหรือโอกาสของประเทศไทย

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และเป็นผู้มีบทบาทเชื่อมองค์กรภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน ร่วมเป็นเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย

ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ถึงโจทย์ของประเทศสำหรับเตรียมรองรับสถานการณ์และปฏิรูปประเทศโดยพยายามสื่อไปถึงทุกๆฝ่าย เพื่อให้เห็นร่วมกัน ไม่ว่าผลจะออกมาคว่ำหรือหงาย รัฐธรรมนูญเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งทางกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถแบกโจทย์การปฏิรูปประเทศที่มีปมปัญหาอยู่มากมายได้

อย่าไปเอาทุกอย่างผูกมัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะโจทย์ของสังคมไทยมีมากกว่านั้นเยอะ

ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญไม่สามารถเป็นเครื่องมือวิเศษแก้ปัญหาทุกอย่างได้ ประเด็นนี้เป็นจุดที่ควรจะสื่อถึงกันและกัน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นชนวนเอาเป็นเอาตาย ถึงขั้นรัฐธรรมนูญต้องผ่านหรือไม่ผ่าน

ไม่เช่นนั้นรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นกับดักความขัดแย้งของสังคม

ฉะนั้นจะผ่านหรือไม่ผ่าน รัฐบาลประกาศย้ำเดินตามโรดแม็ป มีการเลือกตั้งตามเดิมปลายปี 2560

ผ่านหรือไม่ผ่าน สังคมไทยต้องมีโจทย์ร่วม ซึ่งเป็นผลที่หลายฝ่ายในสังคมเห็นสอดคล้องกัน เริ่มตั้งแต่การเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

ซึ่งจะต้องเตรียมความพร้อมและสะสางที่เห็นชัดเจน คือการปฏิรูปบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะวันนี้ กกต.ถูกสังคมตั้งคำถามถึงกรณีเตรียมความพร้อมการทำประชามติที่ถูกวิพากษ์ในทางลบ ถ้าจะไปจัดการเลือกตั้ง นับจากวันนี้ไป กกต.ต้องปรับเปลี่ยน ปฏิรูปวิธีการทำงานอย่างไรบ้าง

รวมถึงการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง การทำความเข้าใจกับประชาชนด้วยว่า จะทำอย่างไรให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกไปใช้สิทธิด้วยความเข้าใจ ทำอย่างไรจะให้มีกลไกการตรวจสอบการเลือกตั้งให้สุจริต เที่ยงธรรม

...

ก่อนไปถึงการเลือกตั้งปลายปี 2560 ยังนึกถึงโจทย์นี้ด้วยว่าจะมีพรรคการเมืองให้เลือกมากกว่าสองพรรคหรือไม่ เพราะสังคมไทยจะฝากอนาคตเอาไว้กับแค่สองพรรคการเมือง บางทีก็อึดอัด

ทั้งคู่ จะมีพรรคการเมืองที่มีบทบาทเป็นทางเลือกใหม่ และตอบโจทย์หลายเรื่องที่สองพรรคเดิมไม่ได้ตอบ

ขณะนี้นึกถึงพรรคการเมืองที่มีนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูป เช่น มีพรรคการเมืองเสนอตัวแก้ปัญหาพลังงาน สิ่งแวดล้อม ชูนโยบายเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค

การจัดทำ พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง จะต้องนำไปสู่การปฏิรูปพรรคการเมืองต่อไปได้

กลไกของรัฐ รัฐบาล คสช. และ กกต.จะมีส่วนทำให้เกิดพรรคการเมืองทางเลือกอย่างไร นายบัณฑูร บอกว่า สมมติรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ จะต้องมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับตามกลไกและกรอบเวลาที่กำหนดไว้

โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.-พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว.-พ.ร.บ.พรรคการเมืองและ พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องมีเนื้อหาสาระตอบโจทย์ของสังคม

ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองบริหารด้วยความโปร่งใส ทั้งในด้านการบริหารการใช้เงินทางการเมือง การบริหารภายในพรรคที่เป็นประชาธิปไตย เป็นตัวแทนของผลประโยชน์สาธารณะ เป็นสาระที่สังคมอยากจะให้เกิดขึ้น

ขอย้ำอีกครั้งว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน การปฏิรูปประเทศไทยต้องเดินหน้าต่อไปด้วย ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านก็เดินหน้าต่อตามกติการัฐธรรมนูญ ซึ่งมีกลไกและแผนกำหนดขั้นตอนไว้แล้ว

แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน โจทย์ก็ยังมีอยู่ แต่ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรให้เกิดผลสำเร็จก่อนการเลือกตั้ง การกำหนดจัดตั้งกลไกการปฏิรูปที่มีความต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ขณะเดียวกัน การจัดทำกฎหมายอื่นๆ ถ้ากรณีร่างรัฐธรรมนูญผ่านด่านประชามติ ก็ต้องจัดทำกฎหมายสำคัญตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ตามกรอบเวลา นอกเหนือจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ

เช่น พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการปฏิรูป พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินการของรัฐที่อาจส่งผลกระทบรุนแรง หรือรัฐมอบให้เอกชน ที่จะมีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่จะทำให้รัฐธรรมนูญเกิดความสมบูรณ์ในการบังคับใช้ ซึ่งต้องออกภายใต้กรอบเวลาที่กำหนด ขอยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโครงการดำเนินการที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนัดไว้ชัดเจนว่าหากทำกฎหมายไม่เสร็จภายในกรอบเวลาหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงที่รับผิดชอบต้องพ้นจากตำแหน่ง

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า พลังทางสังคมจะกดดันผู้ออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ได้อย่างไร ให้นำไปสู่การปฏิรูประบบการเลือกตั้ง พรรคการเมืองและปฏิรูปด้านอื่นๆ นายบัณฑูร บอกว่า ขณะนี้พลังของสังคม ภาคประชาคม นักวิชาการ องค์กรเอกชน ภาคธุรกิจ ไม่ต้องการเห็นประเทศไทยเข้าสู่จุดอับ จุดติดขัด

ฉะนั้นพลังสังคมจะออกมาเห็นร่วมกันเรียกร้องผลักดันและเฝ้าจับตามอง เพื่อผลักดันกฎหมายที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างแบบนี้

ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ต้องกลับไปสู่โจทย์การปฏิรูป โดยเฉพาะการปฏิรูปที่ยังค้างอยู่ จะเดินต่อไปอย่างไรก่อนการเลือกตั้ง และจะออกแบบกลไกการปฏิรูปที่ทำให้เกิดการต่อเนื่องอย่างไรในรัฐธรรมนูญฉบับถัดไป เพราะการปฏิรูปต้องทำเป็นกระบวนการ และการปฏิรูปวันนี้พอผ่านไปอีกระยะหนึ่งก็จะมีโจทย์ใหม่ๆตามมา

สิ่งเหล่านี้ถ้าจะเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถัดไปหน้าตาเป็นอย่างไร โจทย์อย่างนี้จะตามมาอีก

โจทย์ที่สำคัญของสังคมไทยอีกข้อ คือกระบวนการสร้างความปรองดอง ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน เรามีโจทย์ร่วมการคลี่โจทย์การบ้านประเทศ

ทั้งการเลือกตั้งปี 2560 การปฏิรูปเพื่อหลุดพ้นปัญหาความเหลื่อมล้ำ การสร้างความปรองดอง ยุทธศาสตร์ชาติ จากที่พูดคุยกับพรรคการเมืองในหลายเวทีพบว่า พรรคการเมืองไม่ได้ปฏิเสธเรื่องกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ

ไม่เช่นนั้นพอเราเปลี่ยนรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่ต่อเนื่อง แม้แต่รัฐบาลชุดเดียวกันพอเปลี่ยนรัฐมนตรีก็เปลี่ยนนโยบาย แต่ยุทธศาสตร์ชาติถ้ามีเหตุผลจำเป็นจริงก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้

การทำยุทธศาสตร์ชาติในขณะที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญ อาจจะหยิบร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อเดินต่อได้หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนี้ต้องยึดหลักการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง เพราะยุทธศาสตร์หลักพื้นฐานคือยุทธศาสตร์ของคนทั้งชาติ ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ของรัฐบาล

ฉะนั้นกระบวนการให้คนในชาติร่วมเป็นเจ้าของจะต้องทำต่อ โดยยึดปรัชญาตรงนี้ให้ได้ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องทำ ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน

ขอย้ำว่าก่อนการเลือกตั้งสิ่งที่ควรทำเพื่อให้การปฏิรูปเกิดความก้าวหน้า ซึ่งอาจจะทำได้ยากถ้าเป็นยุคหลังการเลือกตั้ง มีทั้งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตำรวจ อัยการ ระบบศาล ปฏิรูปการแก้คอร์รัปชัน ปฏิรูประบบราชการ

สิ่งเหล่านี้ควรทำหรือไม่ เพื่อให้คุ้มกับต้นทุนของประเทศไทยจ่ายไปจำนวนมาก ทั้งเลือดเนื้อ ชีวิต เวลาและโอกาสที่เราตกอยู่ในวังวนความขัดแย้ง

ถ้าเริ่มต้นปฏิรูป 3 เรื่องนี้มันอาจจะไม่สำเร็จทั้งหมด แต่จะเป็นฐานสำคัญทำให้การปฏิรูปในโจทย์อื่นๆตามมา จะเกิดการปฏิรูประยะกลาง 5 ปี และระยะยาวที่วางยุทธศาสตร์ชาติจะส่งแรงต่อไปได้

ต้องยอมรับว่า 3 เรื่องนี้เป็นปัญหาร่วมกันของทุกฝ่ายในสังคม พรรคการเมืองไหนเข้ามาก็ต้องจัดการกับปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ เป็นความหวังที่จะทำให้อนาคตของประเทศไทยเดินต่อไปได้ จะเป็นผลงานสำคัญที่คุ้มกับต้นทุนที่เราจ่ายไปในช่วงความขัดแย้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คุ้มกับประชาธิปไตยที่ชะงักไปใน 2 ปีกว่า

ขณะนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล คสช.ที่จะจัดลำดับความสำคัญ พุ่งเป้าไปที่ 3 เรื่องนี้ แม้ยังมีหลายเรื่องที่ต้องทำ

ทั้งหมดนี้อยากสื่อไปถึง คสช. รัฐบาลว่า สิ่งที่เสนอไปล้วนเป็นความเห็นของคนจำนวนมากในสังคมที่เห็นโจทย์เหล่านี้ร่วมกัน เป็นโจทย์ข้ามสี ข้ามฝ่าย ไม่ว่าสีการเมืองไหนก็เป็นโจทย์ร่วมกัน

ซึ่งจะเป็นทางออกจากกับดักความขัดแย้งที่สะสมเรื้อรัง และเป็นการสร้างสภาวะความปรองดองเกิดขึ้น ทั้งในมิติของสังคม เศรษฐกิจและการเมือง

เพราะเป็นการมองข้ามผลของการตัดสินว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน และโจทย์แบบนี้ตั้งต้นมาจากความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม

ซึ่งมันตอบโจทย์ปากท้องของประชาชน.

"ทีมการเมือง"