สำนวน “เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว”

หมายถึง ทุกสิ่งที่เรา กระทำ ล้วนส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและโลกใบนี้ไม่มากก็น้อย...กำลังเป็นเรื่องจ่อคอหอยที่คนไทยไม่อาจละเลย

เพราะผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ (Climate Change) ได้เริ่มสำแดงเดชบ่อยครั้งและทวีความรุนแรง ไม่ว่า แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม น้ำแล้ง หรือ ภัยหนาว ไม่ได้เป็นความบังเอิญ แต่เกิดขึ้นอย่างมีที่มาที่ไปทุกเรื่อง ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบแบบหมัดน็อก ต่อวิถีชีวิตของคนยุคนี้

เป็นที่ทราบกันดีว่า Climate Change เกิดจากปริมาณก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFd) และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) เป็นต้น ถูกปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมในปริมาณมากจนเกินสมดุลของธรรมชาติ

ก๊าซวายร้ายเหล่านี้ไม่เพียงเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Effect) ยังทำให้อุณหภูมิบนพื้นผิวโลกสูงขึ้น หรือที่เรียกกันว่า ภาวะโลกร้อน (Global Warming) จะลดปัญหานี้ได้ ก็ต่อเมื่อคนทั้งโลกต้องร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเหล่านั้น

แต่ในความเป็นจริง แทนที่จะช่วยกันลดก๊าซเหล่านั้น คนส่วนใหญ่ กลับทำตัวสวนทาง...

ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มจำนวนประชากร ที่ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน เช่น ความต้องการใช้พื้นที่ทำการเกษตร ความต้องการน้ำ อากาศ แร่ธาตุ พลังงาน และอื่นๆเพิ่มขึ้น แต่ขาดการวางแผนจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทรัพยากรธรรมชาติ จึงเต็มไปด้วยมลพิษและสารปนเปื้อน

การขยายตัวของเมือง หรือ การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมรวมถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มผลผลิต เช่น ใช้ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ล้วนเป็นเหตุให้ระบบนิเวศตามธรรมชาติพังพินาศ เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมากมาย

...

หรือแม้แต่ ค่านิยมไม่เหมาะสม ซึ่งมีต้นตอมาจากการยึดติดในความหรูหรา ฟุ่มเฟือย ความมักง่าย การเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น หรือชอบทำตัวมีอำนาจเหนือธรรมชาติในบางเรื่อง...เหล่านี้ล้วนเป็นตัวการซึ่งก่อ
ให้เกิดภัยพิบัติต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น

สังเกตได้จากสถานการณ์มลพิษในประเทศไทย เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา หรือเมื่อปี 2557 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่า ทั่วประเทศมี ขยะชุมชน เกิดขึ้นทั้งสิ้นถึง 26.19 ล้านตันต่อปี หรือเฉลี่ยวันละประมาณ 71,778 ตัน

ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเฉลี่ยวันละ 70 กว่าล้าน กก. เมื่อ 2 ปีที่แล้วถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์เพียง 4.82 ล้านตันต่อปี หรือแค่ 18.32% เท่านั้น

แม้ว่าอีก 7.88 ล้านตันต่อปี หรือ ประมาณ 31% ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง แต่ยังเหลือขยะที่ยังไม่ได้รับการจัดการอีกไม่ต่ำกว่า 13.49 ล้านตันต่อปี และตกค้างสะสมทั่วประเทศอีกถึง 14.8 ล้านตันต่อปี

กรณีไฟไหม้บ่อขยะ นอกจากก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ชุมชนที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตร โดยรอบบ่อขยะ ยังได้รับสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่เกินค่ามาตรฐานประมาณ 20 เท่า พร้อมฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก (350 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) สูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 30 เท่า เปลี่ยนอากาศบริเวณนั้นให้เป็นมลพิษ

ปัญหาก็คือ ทุกขั้นตอนในการกำจัดขยะ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น

กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกกฎระเบียบการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปออกข้อบัญญัติท้องถิ่น จัดการขยะมูลฝอย เร่งรัดการกำจัดขยะตกค้างในพื้นที่ให้หมดไป โดยการลดและคัดแยกขยะมูลฝอย ส่งกำจัดอย่างถูกหลักวิชาการ

ทั้งยังรวมกลุ่มพื้นที่และจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม โดยใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสาน และส่งเสริมให้เอกชนลงทุนในการจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งได้ดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอย
ของประเทศ (พ.ศ.2559-2564) ร่วมกับกระทรวงทรัพย์ มหาดไทย และอุตสาหกรรม

แต่ดูเหมือนปัญหาขยะล้นเมืองไทย...มิได้จางหายไปแต่อย่างใด

พิษณุ แสนประเสริฐ รองอธิบดีกรมอนามัย ในฐานะผู้ได้รับรางวัล “บุคคลดีเด่น ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม” ประจำปีนี้ (Princess Environmental Health Award 2016) บอกว่า

“วิถีชีวิตเปลี่ยน เทคโนโลยีก็เปลี่ยน นักอนามัยสิ่งแวดล้อมต้องคิดเชื่อมโยงเรื่องสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพให้ได้ การมองความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ ยังคงใช้ 3 องค์ประกอบหลัก คือ การมองถึง
แหล่งที่มา ช่องทางการรับสัมผัส และตัวผู้รับสัมผัส ซึ่งต้องมีข้อมูลวิชาการที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้”

พิษณุยกตัวอย่างเหตุการณ์ในอดีต ต้องย้อนมองว่าผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นมาจากอะไร จากนั้นมองเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันว่าเรามีวิธีการรับมืออย่างไร และมองไปถึงเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยว่า เราได้วางแผนเพื่อเตรียมการรองรับและป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างไร

“โครงการสาธารณสุขรวมใจ รณรงค์ลดโลกร้อน ด้วยการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เป็นแนวทางหนึ่งที่กรมอนามัยได้เชิญชวนให้สถานบริการสาธารณสุขในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมโครงการ โดยมุ่งเน้นให้สถานบริการสาธารณสุขดำเนินกิจกรรมลดโลกร้อนด้วยการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสถานบริการภายใต้กลยุทธ์หลัก GREEN & CLEAN เป็นแบบอย่างแก่ประชาชน

ทั้งในเรื่องการจัดการมูลฝอย และการใช้ประโยชน์จากของเสีย การลดใช้พลังงาน โดยใช้ค่า Carbon Footprint เป็นตัววัดประสิทธิภาพการลดก๊าซเรือนกระจก ภายใต้แนวคิดที่ว่า การคัดแยกขยะที่ต้นทาง หรือนำขยะบางอย่างหมุนเวียนกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ นอกจากช่วยลดโรคร้าย ยังช่วยคลายโลกร้อนได้ด้วย

...

เมื่อปีที่แล้วมีสถานบริการสาธารณสุขที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ต้นแบบลดโลกร้อน รวมทั้งสิ้น 23 แห่งทั่วประเทศ ยกตัวอย่างที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลุโบะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นหนึ่งในนั้น มีกิจกรรมรณรงค์เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยน่าสนใจหลายกรณี

เช่น หลายครั้งที่มีการประชุม หรืออบรมชาวบ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุข จะใช้วิธี สั่งอาหารมาเป็นหม้อ แล้วแบ่งใส่จานจัดเลี้ยง แทนการสั่งอาหารที่บรรจุมาในกล่องโฟม น้ำดื่ม ที่มีให้บริการ ก็ใช้แก้วน้ำทั่วไปที่สามารถทำความสะอาดใหม่ได้ แทนการใช้แก้วน้ำพลาสติก แบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งช่วยลดปริมาณขยะจากโฟมและพลาสติกได้คราวละเป็นจำนวนมาก

สำหรับ ผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นโรคเรื้อรัง จะใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก ในการมารับบริการยาแต่ละครั้ง มีการนำแกลลอนบรรจุยาและขวดยาพลาสติกที่ใช้แล้ว นำไปใส่ขยะติดเชื้อ ของมีคม และเข็มฉีดยา ผ้าปูที่นอนที่
เลิกใช้แล้วก็ไม่ทิ้ง แต่นำมาทำความสะอาดและใช้ซ้ำทำเป็นผ้าเช็ดมือในหน่วยบริการ

นอกจากนี้ยังได้นำครุภัณฑ์ที่ชำรุด จากการถูกลอบวางระเบิด เช่น เครื่องชั่งน้ำหนักที่ชำรุดจากแรงระเบิด มาดัดแปลงทำเป็นเครื่องออกกำลังกายให้แก่ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ รวมทั้งใช้รถยนต์ที่ชำรุดจากการถูกลอบวางระเบิด ดัดแปลงไปทำเป็นที่ปลูกสมุนไพร และตกแต่งอย่างสวยงาม เป็นต้น

กรณีตัวอย่างของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลุโบะสาวอ ภายใต้แนวคิด สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย นอกจากทำให้แทบไม่เหลือขยะสักชิ้นให้เห็น ยังเป็นต้นแบบที่ดีที่คนไทยทั้งประเทศ
สมควรเอาอย่าง.