นักวิทยาศาสตร์ขององค์การอวกาศยุโรปตัดสินใจตัดการสื่อสารกับหุ่นยนต์ ฟิเล ซึ่งถูกส่งไปสำรวจดาวหาง 67พี เมื่อราว 2 ปีก่อนแล้ว หลังจากไม่ได้รับสัญญาณจากหุ่นยนต์ตัวนี้มานาน 1 ปี...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันพุธที่ 27 ก.ค. ทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอวกาศยุโรป (อีซา) ตัดสินใจตัดการสื่อสารกับหุ่นยนต์ 'ฟิเล' ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์ลงจอดแบบนุ่มนวลบนดาวหาง '67พี' หรือ 'ชูริวมอฟ-เกราซิเมนโก' เมื่อเดือน พ.ย. 2014 แล้ว หลังไม่ได้รับการติดต่อจากหุ่นยนต์ตัวนี้ตั้งแต่เดือน ก.ค. ปีก่อน

หลังจากนี้ ยานโรเซตตา ซึ่งเป็นยานแม่ของหุ่นยนต์ฟิเล จะปิดระบบสนับสนุนทางไฟฟ้า ซึ่งหมายความว่าโรเซตตาจะไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับหุ่นยนต์ฟิเลได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ยานโรเซตตาจะยังคงโคจรรอบดาวหาง 67พี ต่อไปจนถึง 30 ก.ย. ซึ่งเป็นวันที่ศูนย์ควบคุมของอีซา จะบังคับยานลำนี้พุ่งชนพื้นผิวของดาวหาง และใช้โอกาสนี้เก็บภาพระยะใกล้และข้อมูลต่างๆ

ทั้งนี้ ภารกิจของฟิเลหลังลงจอดบนดาวหาง 67พี เมื่อเดือน พ.ค. 2014 คือการเก็บรวบรวมข้อมูลของดาวหางดวงนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยหุ่นยนต์ตัวนี้จะบันทึกและส่งภาพกลับมายังโลก

ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หุ่นยนต์ฟิเลและยานโรเซตตาได้พัฒนาความสัมพันธ์บนเครือข่ายสังคมออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งสองต่างแลกเปลี่ยนข้อความเกี่ยวกับสถานที่ใหม่ๆ, ภาพทิวทัศน์ใหม่ๆ, แหล่งพลังงาน และสภาพอากาศเย็นจัด และในข้อความสุดท้ายของฟิเล มันขอให้ชาวโลกส่งโปสการ์ดจากโลกไปให้ด้วย ซึ่งมีผู้ลงภาพบอกลาหุ่นยนต์ฟิเลผ่านทวิตเตอร์มากมายภายใต้แฮชแท็ก #GoodbyePhilae


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

...