จากประสบการณ์ในสายงานทนายความ ปัญหาที่มักพบได้บ่อยๆ หลังจากที่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาแล้ว คือ การถูกคู่กรณีอีกฝ่าย “ข่มขู่ว่าจะฟ้องกลับ” หรือแจ้งความกลับ ข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน หากท่านเป็นฝ่ายถูกกระทำจริงๆ เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้กระทำความผิดจริงๆ ก็อย่าได้เกรงกลัวหรือหวั่นไหวครับ
การข่มขู่ว่า จะฟ้องกลับ หรือแจ้งความกลับ หรือในบางคดี มีการฟ้องกลับหรือแจ้งความกลับจริงๆ ลักษณะแบบนี้เป็นเพียง “สงครามจิตวิทยา” หรือ การสร้างอำนาจต่อรอง ทำให้อีกฝ่ายเกิดความกลัว สูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง บางคดีผู้เสียหายล้มเลิกการดำเนินคดีไปเพราะกลัวคำข่มขู่ก็มี ทั้งที่เป็นฝ่ายถูกกระทำหรือเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาตัวจริง
เมื่อท่านตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ตั้งสติให้ดีครับ อย่าได้เกรงกลัวกับคำข่มขู่ เมื่อได้แจ้งความร้องทุกข์ไปแล้ว ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนครับ ตัดการรับรู้ข่าวสารทุกช่องทาง เพื่อไม่ให้จิตใจหวั่นไหว โดยเฉพาะโลกโซเชียลมีเดีย ท่านไม่ควรไปให้ราคากับนักเลงคีย์บอร์ด อย่าไปสนใจ อย่าไปอ่าน ทำให้เสียเวลา เสียสุขภาพจิตเปล่าๆ พึงระลึกเสมอว่า “คุกมีไว้ขังคนเลว” นักเลงคีย์บอร์ดไม่ได้ต่างอะไรกับเม็ดกรวดในรองเท้าครับ เม็ดกรวดอาจจะสร้างความรำคาญให้กับเท้าไปวันๆ แต่ทำอันตรายอะไรเราไม่ได้เลย
กรณีแบบนี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วครับ โดยสรุปคือ ข้อความที่ผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ย่อมไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาตามที่ผู้เสียหายแจ้ง และพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหา หรือศาลยกฟ้องด้วยเหตุลักษณะคดี หรือมีข้อกฎหมายยกเว้นให้กระทำได้โดยชอบก็ตาม หรือกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ต้องหากระทำความผิดจริง (คำพิพากษาฎีกาที่ 1050/2514) ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่ผู้เสียหายแจ้งนั้นเป็นความเท็จ
...
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5236/2549 ข้อความที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตรงตามสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่จำเลยแจ้งความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์ทั้งสองจะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะการแจ้งความย่อมหมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองตามที่จำเลยแจ้ง และพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีโจทก์ทั้งสองก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความเท็จ
บทความต่อไป ผมจะนำเสนอข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน โดยลูกหนี้นำโฉนดที่ดินมาวางเป็นประกันการกู้ยืมเงิน แต่ต่อมาลูกหนี้ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า โฉนดที่ดินสูญหาย พร้อมกับนำบันทึกประจำวันดังกล่าวไปขอออกโฉนดฉบับใหม่ที่สำนักงานที่ดิน ปัญหาคือ เจ้าหนี้จะเป็นผู้เสียหายพิเศษในคดีอาญาหรือไม่ สามารถฟ้องเองได้หรือไม่ และจะสามารถดำเนินการทางกฎหมายกับลูกหนี้ได้อย่างไร
สำหรับใครที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook: ทนายเจมส์ LK