อาชีพเกษตรกรมักถูกสังคมมอง “ไร้เกียรติ ทำไปมีแต่จน เป็นชนชั้นล่าง” กลายเป็นที่มาของการทิ้งบ้านเกิดมาทำงานในเมือง คนรุ่นใหม่ไม่มีใครอยากจับอาชีพนี้ จนเกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย...แต่ไม่ใช่กับ กัญภัคณัฐ แท่งทองหลาง สาวแกร่งเมืองย่าโม ดีกรีปริญญาโท ทิ้งอาชีพมนุษย์เงินเดือน มาจับจอบ จับเสียมทำนา

“เดิมก็เหมือนกับวัยรุ่นต่างจังหวัดทั่วไป เข้ามาเรียนต่อปริญญาที่กรุงเทพฯ จบแล้วทำงานด้านการตลาดพร้อมกับเรียนปริญญาโท ได้เงินเดือนกว่า 30,000 บาท ปี 54 เริ่มหันมาสนใจด้านการเกษตร เพราะมองว่าน่าจะกลับบ้านมาดูแลพ่อแม่ ทำกินในที่ดินตัวเอง จึงเริ่มสมัครเข้าอบรมด้านการเกษตรที่หน่วยงานต่างๆจัดขึ้น”

จนพบคำตอบ...การทำเกษตรให้ยั่งยืนต้องเดินไปคู่กับการตลาดกัญภัคณัฐ แท่งทองหลาง เกษตรกรรุ่นใหม่ อ.จักราช จ.นครราชสีมา เล่าว่า หลังเข้าอบรมเกษตร พอเพียง เริ่มทดลองปลูกข้าว 4 ไร่ แต่ด้วยเจอแล้งจัด ไม่มีเวลาดูแลเพราะยังทำงานไปด้วย จึงไม่ประสบความสำเร็จ จากนั้นเริ่มใช้เวลาทดลองทำตามที่อบรมมา พร้อมกับหาความรู้เพิ่มเติมจากสื่อต่างๆจนคิดว่า...รู้พอ

...

ปี 57 ลาออกจากงานมาทำเต็มตัว เพิ่มพื้นที่ปลูกเป็น 16 ไร่ ลงข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ปี 58 เข้าร่วมโครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทำให้ได้รู้เพิ่มขึ้น และรู้จักเพื่อนเกษตรกรในเครือข่ายมากมาย ...เริ่มคิดพัฒนานำข้าวที่ปลูกเองมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หมี่โคราช ข้าวบรรจุถุง ข้าวกล้อง เครื่องสำอางจากข้าว และทำเกษตรผสมผสาน ปลูกผักสวนครัว

ด้วยเรียนและเคยทำงานด้านการตลาดมาก่อน จึงรวบรวมข้าว ซื้อขาย แลกเปลี่ยนวัตถุดิบ พันธุ์ข้าว ผลผลิตกับเครือข่ายเพื่อนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เคยอบรมด้วยกัน ทำการตลาดเน้นจุดขายปลูกเอง สีเอง แปรรูปเอง ปลอดสารเคมี ทำแพ็กเกจจิ้งใส่แบรนด์ของตัวเอง จนตั้ง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรพัฒนาจักราช จำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปผ่านเฟซบุ๊ก เน้นออกงานกับภาครัฐ เพื่อหาเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายในแต่ละจังหวัด

“เราจะไม่ขายข้าวเปลือกเด็ดขาดเพราะได้ราคาต่ำ ต่อไปเกษตรกรต้องไม่ใช่เพียงแค่ปลูกแล้วขาย แต่ต้องแปรรูป ทำตลาด คิดเองเป็น วิจัย เจรจาการค้าเป็น และจำเป็นต้องเข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อก้าวไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม ลดการใช้แรงงานคน ที่สำคัญต้องมุ่งสู่การค้าขายผ่าน โลกโซเชียล ซึ่งเราก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้เป้าหมายต่อไป เราจะมุ่งสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้”

แม้ตอนนี้จะมีรายได้ไม่มากเหมือนตอนกินเงินเดือน เพราะงานสร้างเครือข่ายการตลาดเพิ่งเริ่ม แต่เมื่อเทียบกับเกษตรกรเพื่อนบ้านที่ทำแค่ปลูกข้าว ขายเป็นข้าวเปลือกได้เงินแค่ กก.ละ 10-15 บาท...ต่างกับ กัญภัคณัฐ แปรรูปสี ทำการตลาดขายเอง ได้ราคา กก.ละ 40-45 บาท มูลค่าต่างกัน 3 เท่าตัว.


กรวัฒน์ วีนิล