สหราชอาณาจักรเผยผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับบทบาทของพวกเขาในสงครามอิรัก โดยพบว่า อดีตนายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ ตัดสินใจเข้าร่วมสงครามด้วยข้อมูลข่าวกรองที่มีช่องโหว่ และการทำสงครามไม่ใช่ทางเลือกสุดท้าย...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับบทบาทของสหราชอาณาจักร (ยูเค) ในสงครามอิรัก ซึ่งใช้เวลาจัดทำมานานกว่า 7 ปี ได้รับการเปิดเผยออกมาแล้วเมื่อวันพุธที่ 6 ก.ค. โดยชี้ว่า โทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรียูเคในสมัยนั้น กล่าวเกินจริงในเรื่องภัยคุกคามจากซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอิรักผู้ล่วงลับไปแล้ว, ตัดสินใจเข้าร่วมสงครามด้วยข้อมูลข่าวกรองที่มีช่องโหว่ และยังมีวิธีแก้ปัญหาทางการทูตให้เลือกใช้อยู่

เซอร์ จอห์น ชิลคอต องคมนตรีและประธานคณะกรรมาธิการสอบสวนของคณะองคมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร เผยแพร่รายงานผลการสอบสวนที่หลายฝ่ายเฝ้ารอมานานนี้ ที่ศูนย์ประชุม ควีน เอลิซาเบธที่ 2 ในกรุงลอนดอน ของอังกฤษ โดยนายชิลคอตกล่าวถึงสงครามอิรักว่าเป็นการรุกรานซึ่งผิดอย่างมหันต์ และผลที่ตามมายังคงรู้สึกได้จนถึงทุกวันนี้

...

การใช้มาตรการทางทหารต่อซัดดัม ฮุสเซน อาจจำเป็น ณ จุดใดจุดหนึ่ง แต่ในช่วงที่บริเตนเข้าร่วมกองกำลังนานาชาตินำโดยสหรัฐฯ บุกอิรักเมื่อเดือน มี.ค. 2003 ซัดดัม ฮุสเซน เป็นภัยคุกคามที่ใกล้จะเกิดขึ้น แผนยุทธศาสตร์การสกัดกั้นที่มีอยู่ควรดำเนินต่อไป และชาติสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติส่วนใหญ่ก็สนับสนุนให้ยูเอ็นตรวจสอบและจับตาดูอิรักต่อไป

โทนี แบลร์ ได้รับการเตือนก่อนที่ยูเคจะตัดสินใจเข้าร่วมสงครามอิรักแล้วว่า สงครามครั้งนี้อาจทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพในภูมิภาค และทำให้เกิดการลุกฮือของลัทธิก่อการร้าย แต่เรื่องนี้ไม่ได้รับความสนใจ

ขณะที่รายงานผลการสอบสวนความยาว 2.6 ล้านคำนี้ไม่ได้ตัดสินว่า โทนี แบลร์ หรือรัฐมนตรีของเขา ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ แต่ชี้ให้เห็นความผิดพลาดมากมายในการตัดสินใจทั้งทางการเมืองและทางทหาร เช่น ผู้บัญชาการกองทัพยูเคหลายนายประเมินศักยภาพของตัวเองสูงเกินไป ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจที่เลวร้ายหลายครั้ง นอกจากนี้ยูเคยังมีเวลาเพียงไม่นาน ในการเตรียมทหาร 3 กองเพื่อส่งไปยังอิรัก ส่งผลให้ยุทโธปกรณ์ไม่ครบถ้วน

นโยบายการโจมตีอิรักของยูเค เกิดขึ้นโดยใช้การประเมินข้อมูลข่าวกรองที่มีช่องโหว่ และขาดหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงของอิรัก ท้าทายความชอบธรรมในการก่อสงครามและความน่าเชื่อถือของสหราชอาณาจักร ขณะที่แผนและการเตรียมการสำหรับอิรักหลังโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน ก็ไม่เพียงพออย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ หลังสงคราม รัฐบาลยูเครวมทั้งหน่วยงานข่าวกรองไม่เต็มใจที่จะยอมรับ และเปิดเผยต่อสังคมถึงความผิดพลาดในการเก็บรวบรวม, การวิเคราะห์, การให้เหตุผล และการนำเสนอ ข้อมูลข่าวกรองเรื่องอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงของอิรัก ทั้งที่หลักฐานชี้ความผิดปรากฏออกมามากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ หลังจากรายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมา โทนี แบลร์ ได้จัดงานแถลงข่าว ระบุว่า ตัวเขาเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดสำหรับการตัดสินใจโจมตีอิรัก และยอมรับในความล้มเหลวและความผิดพลาดของภารกิจนี้ "ผมแสดงความเศร้าโศก, เสียใจ และขอโทษ มากกว่าที่พวกคุณอาจจะรู้หรือเชื่อ ที่การประเมินข้อมูลข่าวกรองที่เกิดขึ้นก่อนเกิดสงครามนั้น ผิด" อย่างไรก็ตาม แม้นายแบลร์จะยอมรับทุกปัญหาที่เกิดจากการตัดสินใจโจมตีอิรัก แต่เขายังคงยืนยันว่า นี่เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และเชื่อว่าเรื่องนี้ทำให้โลกกลายเป็นที่ที่ดีและปลอดภัยยิ่งขึ้น

...

นายแบลร์ยังกล่าวอีกว่า หากซัดดัม ฮุสเซนยังคงครองอำนาจ อิรักอาจตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกยิ่งกว่านี้ และอาจกลายเป็นเหมือนประเทศซีเรียในช่วงอาหรับสปริง "ในความคิดของผม โลกกลายเป็นสถานที่ที่ดีขึ้นเมื่อไม่มีซัดดัม ฮุสเซน" และยืนยันว่า เหล่าทหารยูเคที่เข้าร่วมสงครามไม่ได้สละชีวิตอย่างเปล่าประโยชน์

อนึ่ง รายงานการสอบสวนเกี่ยวกับบทบาทของสหราชอาณาจักรในสงครามอิรัก หรือเรียกง่ายๆ ว่า รายงานชิลคอต (Chilcot Report) เกิดขึ้นตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ ในปี 2009 หลังจากได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากสังคมและรัฐสภา โดยเป็นการตรวจสอบการพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งดังกล่าว, สิ่งที่เกิดขึ้นในสงคราม และผลกระทบที่ตามมา ในช่วงปี 2001-2009 โดยในเบื้องต้นคาดว่า รายงานฉบับนี้จะใช้เวลาจัดทำประมาณ 1 ปี

แต่ในความเป็นจริง คณะกรรมาธิการสืบสวนใช้เวลาจัดทำนานถึง 7 ปี นานกว่าสงครามอิรักที่จบลงใน 6 ปี แบ่งเป็น 12 เล่ม ใช้งบประมาณในการจัดทำถึง 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ