ทนายสงกานต์ พาคู่กรณี 'หญิงไก่' เข้าพบ สภาทนายความ ชี้กระบวนการยุติธรรมไทย มีข้อบกพร่องผิดพลาด น่าจะเพราะการกระจุกตัวของอำนาจการสืบสวน-สอบสวน ด้านนายกฯสภาทนายฯ ตั้งข้อสังเกต ตร.เรียกเงินประกันตัวสูงคนละ3ล้าน 

วันที่ 6 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความ ได้นำ น้องก้อย น.ส.ประภาวรรณ ใจกล้า เด็กนักเรียนมัธยมปลาย กับนายชูเกียรติ ใจกล้า บิดา กับนางสุกัลยา ศิริม่วง จำเลยคดีลักทรัพย์นายจ้างที่เพิ่งออกจากเรือนจำ กับน้องมีน น.ส.วนิชยา บุ้นสุนเฮง ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์ เข้าพบนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ เพื่อให้ช่วยเหลือทางกฎหมายอีกแรงหนึ่ง โดยนายเดชอุดม มอบให้นายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ทำการสอบข้อเท็จจริงทันที

นายเดชอุดม ได้พา นายสงกานต์ กับกลุ่มเหยื่อที่ถูกดำเนินคดีแถลงข่าว พร้อมเปิดเผยว่า คดีนี้เริ่มต้นเป็นกรณีนายจ้างหญิงได้ดำเนินคดีลักทรัพย์นายจ้างกับลูกจ้างและครอบครัว กับบุคคลอื่นๆ กลายเป็นหลายคดีที่การสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นได้เห็นว่ามีความเคลือบแคลงสงสัยเกิดขึ้น ไม่ว่าการดำเนินคดีกับนางสุกัลยา กับ น.ส.วนิชยา บางคนอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลและรับสารภาพไปแล้ว ถูกขังระหว่างพิจารณา 7 เดือน เรื่องลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทยซ้ำซาก

"ทางสภาทนายความ เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญและจะให้นายสงกรานต์ทำงานตามลำพังไม่ได้ เพราะเขาเป็นคนมีจิตอาสา จึงจัดคณะทำงานไปร่วมทำงานทั้งในชั้นสอบสวนชั้นอัยการชั้นศาล ทั้งในคดีอาญาและคดีค้ามนุษย์ หากข้อเท็จจริงไปถึงว่ามีการกลั่นแกล้งเป็นการละเมิดใครก็จะดำเนินคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนต่อไป"

นายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายก กล่าวว่า คดีนี้สภาทนายแบ่งเป็นสามสำนวนคือ คดีน้องก้อย คดีแม่น้องมีน และคดีหนูนา ที่ศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว ที่ต้องรือฟื้นคดีใหม่ โดยคดีน้องก้อย เป็นคดีที่ตนสอบข้อเท็จจริงเองแต่แรก พบว่าครอบครัวเขาร้องไห้ตลอดและพยายามขอพบพนักงานสอบสวนเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ทั้งที่หากไปจะถูกจับ โดยยังไม่มีความพร้อมเรื่องหลักทรัพย์ขอประกันตัว และได้ห้ามน้องก้อยว่าอย่าเพิ่งไปทำงาน เพราะการปรากฏตัวจะถูกจับ

...

"ทางทนายความจากสภาทนายความที่ดูแลเรื่องนี้แจ้งว่า พนักงานสอบสวนเรียกหลักทรัพย์สูงถึงคนละ 3 ล้านบาท รวมทั้งครอบครัวสามคน 9 ล้านบาท เป็นที่ผิดสังเกตคือ คดีนี้มีอัตราโทษไม่สูง แต่ทำไมถึงเรียกหลักทรัพย์สูง จนต้องหาทางแก้ด้วยเงินจากกองทุนยุติธรรม" นายสุนทร กล่าว

นายสงกานต์แถลงเพิ่มเติมว่า คดีนี้ในส่วนแม่น้องมีนรับสารภาพไปแล้ว ศาลอยู่ระหว่างสืบพยานประกอบคำรับ ดังนั้นคงต้องยื่นขอถอนคำให้การรับสารภาพ และต้องขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดสอบพยานเพิ่มเติมกับฝ่ายผู้ต้องหารายที่ยังไม่สั่งฟ้อง กับติดตามหาตัวหญิงชาวเขาอีก 7 คนที่ถูกดำเนินคดี ในส่วนการเตรียมคดีต่อสู้กับหญิงไก่ไม่อาจเปิดเผยได้

"สิ่งที่ต้องทำคือพิสูจน์ การที่หญิงไก่ให้ข้อมูลลูกจ้างลักทรัพย์ตนเอง แท้จริงแล้วหญิงไก่ไม่ได้มีทรัพย์สินมาก เห็นได้จากการมีคดีความติดตัวในหลายท้องที่ และคดีล้มละลาย ที่ผมกำลังจะสืบมาให้ได้ นอกจากนี้ จำนวนตัวเลขเงินที่สูญเสียก็พูดไม่ตรงกัน" นายสงกานต์ กล่าว 

นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทย มีข้อบกพร่องผิดพลาด น่าจะเกิดจากการกระจุกตัวของอำนาจการสืบสวนและสอบสวนไปรวมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สาเหตุเกิดขึ้นได้หลายประการ เช่น การรีบด่วนสรุป การไม่รับฟังพยานหลักฐานฝ่ายผู้ต้องหา การที่มีคดีล้นมือมาก หรืออาจมีการแทรกแซงการสอบสวน ไม่ว่าจะระดับล่างหรือระดับชาติ ระดับนักการเมือง ปัจจุบันกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 87 ยังมีปัญหาเรื่องการให้พนักงานสอบสวนขอขังผู้ต้องหาได้นานถึง 84 วัน

"หากต่อมาพนักงานสอบสวนมีความเห็นไม่ควรฟ้องและต้องปล่อยตัว เท่ากับคนไทยทุกคนมีสิทธิ์ถูกขังฟรี 84 วัน เราจะช่วยกันแก้ไขอย่างไร แม่น้องมีนถูกขังมานาน 7 เดือน พนักงานสอบสวนเรียกหลักทรัพย์สูง ต่อมาศาลให้ประกันตัวเพียง 1 แสนบาท ต่อไปสภาทนายความจะจัดทนายความสำนวนละ 2 คน ดูแลคดีนี้ และหากมีคดีอื่นและเกี่ยวพันกันจะจัดคณะทำงานชุดใหญ่ลงไปช่วยเหลือทุกจุด" นายเดชอุดม กล่าว.