ตั้งแต่ปี 2556 ที่มีข่าวว่าจะยกเครื่องกฎหมายเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรปี 2524 โดยพบว่ามีหลายข้อที่ขัดกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และเรื่องการห้ามต่างด้าวเช่าที่ดิน รวมทั้งการกำหนดบทลงโทษอย่างชัดเจน ณ บัดนี้ พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 59 ที่ผ่านมา ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ที่เพิ่งผุดขึ้นมาว่ามีการแก้ไขตรงไหน อย่างไรในฉบับเก่าบ้าง และแตกต่างกันอย่างไร!?
4 เหตุผลสำคัญ ยกเครื่องก.ม.เช่าที่ดินเกษตร
นางเปรมจิต สังขพงษ์ รองเลขาธิการสํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ได้อธิบายถึงเหตุผลในในการแก้ไข พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 โดยมี 4 ประการสำคัญ ดังต่อไปนี้
ข้อแรก พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มีการบังคับใช้มานานกว่า 35 ปีแล้ว และบทบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจหรือข้อเท็จจริงในทางสังคมของประเทศในปัจจุบัน
ข้อสอง มีที่ดินทิ้งร้างเยอะ เนื่องจากระยะเวลาการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนานเกินไป โดยตามพ.ร.บ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 กำหนดระยะเวลาการเช่าต้องไม่น้อยกว่า 6 ปี ทำให้ผู้ให้เช่า (เจ้าของที่ดิน) มักจะไม่อยากให้เช่า เพราะจะผูกพันเรื่องระยะเวลา หรือหากจะขายก็ต้องให้ผู้เช่าเป็นคนพิจารณาก่อนว่าจะซื้อไม่ซื้อ
...
ข้อสาม การกำหนดข้อห้ามคนต่างด้าวเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมไว้ให้กับเกษตรกรชาวไทย เพราะฉบับเก่าไม่ชัดเจน และไม่มีบทลงโทษ
ข้อสี่ การปรับปรุงโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คชก.) ซึ่งเดิมจะมี คชก.จังหวัด กับ คชก. ตำบล แต่ในพ.ร.บ.ฉบับใหม่ ก็จะมีการเพิ่ม ‘คชก.อำเภอ’ ขึ้น นอกจากนี้ ยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ของนายอำเภอ ให้สำรวจว่ามีนาที่ทิ้งร้างไว้ ไม่ได้ให้เช่าในพื้นที่ที่รับผิดชอบแค่ไหน เพื่อที่จะนำมาจัดให้เกษตรกรให้ใช้ประโยชน์ด้วย ก็เป็นการกำหนดหน้าที่เพิ่มขึ้นของนายอำเภอ

ก.ม.ใหม่ ต่างด้าวถือหุ้นได้ไม่เกิน 25%
การคุ้มครองพื้นที่ทางเกษตรกรรมซึ่งสงวนไว้ให้กับบุคคลสัญชาติไทยนั้น ถือเป็นเหตุผลสำคัญในการแก้ไข พ.ร.บ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ด้วย ฉะนั้น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จึงมีกฎหมายห้ามต่างด้าวเข้ามาเช่าที่ดินครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังมีบทลงโทษที่ถือว่าค่อนข้างหนัก และมีผลต่อหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการให้ต่างด้าวเช่าที่ดิน
มาตรา 5/2 กำหนดเอาไว้ว่า “ห้ามมิให้คนต่างด้าวเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรม หรือดําเนินการ ไม่ว่า ด้วยวิธีการใดเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้” โดยอธิบายความหมายของบุคคลต่างด้าวไว้ว่า
บุคคลธรรมดา ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เว้นแต่
(ก) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน ซึ่งได้รับการสํารวจจัดทําทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ หรือได้รับสถานะเป็นคนที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกําหนด รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร
(ข) คนไทยพลัดถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร
(ค) บุคคลที่นายอําเภอมีหนังสือรับรองว่าอยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติไทยเพื่อการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

นิติบุคคลที่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
นิติบุคคลที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย และมีลักษณะดังต่อไปนี้
(ก) บริษัทจํากัด หรือ บริษัทมหาชนจํากัด ที่มีผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย ถือหุ้นตั้งแต่ 25% ของทุนจดทะเบียน
(ข) ห้างหุ้นส่วนจํากัด หรือ ห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนแล้ว ที่มีผู้เป็นหุ้นส่วนที่ไม่มี
สัญชาติไทยลงหุ้นมีมูลค่าตั้งแต่ 25% ของทุนทั้งหมด
(4) ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มีผู้เป็นหุ้นส่วนเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย
(5) สมาคมรวมทั้งสหกรณ์ที่มีสมาชิกเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยตั้งแต่ร้อยละ 25 ของสมาชิกทั้งหมด
หรือดําเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของผู้ไม่มีสัญชาติไทยโดยเฉพาะ หรือเป็นส่วนใหญ่
(6) มูลนิธิที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของผู้ไม่มีสัญชาติไทยโดยเฉพาะ หรือเป็นส่วนใหญ่
...
ยกเว้น 1.คนต่างด้าวที่เช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมโดยอาศัยสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี
หรือมีความผูกพันตามพันธกรณี และให้เป็นไปตามบทบัญญัติและเงื่อนไขของสนธิสัญญานั้น ซึ่งอาจรวมถึงการให้สิทธิคนไทยและวิสาหกิจของคนไทยเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศสัญชาติของคนต่างด้าวนั้นเป็นการต่างตอบแทนด้วย
2.คนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้ได้รับการส่งเสริมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนสําหรับการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
นางเปรมจิต กล่าวว่า หากเป็นโดยทั่วไป นิติบุคคลต่างด้าว จะต้องถือหุ้นไม่เกิน 49% แต่ พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 2) 2559 ฉบับใหม่นั้น จะบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ถือหุ้นที่ไม่ใช่สัญชาติไทย จะต้องถือหุ้นได้ไม่เกิน 25% หากเกินให้ถือว่าเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ซึ่งถือว่าจำนวนหุ้นน้อยมาก ค่อนข้างรัดกุมมากกว่า


...
‘นอมินี’ มีหนาว! กำหนดบทลงโทษหนัก
ทีมข่าวฯ ถามถึงช่องโหว่ การให้นอมินีถือหุ้นแทน หรืออาจจะใช้คนไทยถือหุ้นบุริมสิทธิ์ก็จะทำให้ต่างด้าวเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้แล้ว นางเปรมจิต อธิบายในเรื่องนี้ว่า ได้เพิ่มบทกำหนดโทษขึ้นในกฎหมายใหม่ ซึ่งกฎหมายเก่าไม่มี โดย
ในมาตรา 65/1 เจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองที่ดิน รายใดให้บุคคลอื่นเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมโดยรู้อยู่แล้วว่าบุคคลดังกล่าวเป็นคนต่างด้าว หรือเป็นผู้แทนของคนต่างด้าว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
มาตรา 65/2 คนต่างด้าว ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 5/2 หรือใช้ให้ผู้มีสัญชาติไทยดําเนินการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมแทนตน ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 ถึง 1,000,000 บาท
ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่ไม่ใช่คนต่างด้าว ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ความช่วยเหลือสนับสนุน หรือดําเนินการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวได้เช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรม อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 5/2 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
มาตรา 65/3 ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดซึ่งต้องรับโทษตามมาตรา 65/1 หรือมาตรา 65/2 เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทําความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการ หรือการกระทําของบุคคลใดหรือไม่สั่งการ หรือไม่กระทําการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทําของกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้นๆ ด้วย
...

ช่องโหว่ ก.ม. ภาครัฐ รับ ตรวจนอมินียาก เว้นแต่ปรากฏข้อเท็จจริง
ทีมข่าวฯได้ตั้งคำถามว่า มีวิธีการสังเกตนอมินีคนไทยมาเช่าที่ดินหรือไม่นั้น นางเปรมจิต กล่าวว่า ตอนที่มีการจดทะเบียนให้ดูจากหลักฐานที่เอามาจดทะเบียน แต่หลังจากนั้น เท่าที่เคยคุยกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็ยังไม่มีวิธีการตรวจสอบที่ชัดเจน แต่อาจจะออกไปติดตามดูในเรื่องของคนที่ได้รับประโยชน์ เรื่องของการลงทุนในพื้นที่
ทีมข่าวฯ ถามต่อว่า เมื่อไม่มีการวิธีการตรวจสอบที่ชัดเจน จะทำอย่างไร นางเปรมจิต กล่าวต่อว่า ตอนที่ประชุมร่างแก้ไขกฎหมายเรื่องนี้ ทางกรรมาธิการได้สอบถามว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นนอมินี เพราะการมาจดทะเบียนต้องมาอย่างถูกต้องอยู่แล้ว หากมีการเพิ่มทุนเพิ่มหุ้นของคนต่างด้าวก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้ เว้นเสียแต่ว่ามีการปรากฏข้อเท็จจริงขึ้นมา เจ้าหน้าที่รัฐจึงจะเข้าไปดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนอมินี ซึ่งเป็นช่องโหว่ของการบังคับใช้กฎหมายอยู่

ผอ.ไบโอไทย เผย ก.ม.ใหม่ เอื้อเจ้าของที่ดิน มากกว่า เกษตรกร
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ได้เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถึงกฎหมายการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฉบับใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้ว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ผู้ให้เช่า (เจ้าของที่ดิน) มากกว่าเกษตรกร โดยมีการลดเวลาการให้เช่าพื้นที่เพื่อเกษตรกรรมลง จากสัญญาเดิมที่กำหนดไว้อย่างน้อย 6 ปี เหลือเพียง 2 ปี เพื่อจูงใจให้ผู้ให้เช่าปล่อยที่ดินให้ชาวนาเช่าง่ายขึ้นเพราะมีระยะเวลาสั้น และลดปัญหาประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน หรือที่ดินถูกปล่อยทิ้งร้าง ซึ่งข้อเสนอนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ให้เช่า เรื่องการให้เช่าทำง่ายขึ้น
ขณะที่ ปัจจุบันกฎหมายควรจะคุ้มครองชาวนามากกว่าผู้ให้เช่า ดูจากตัวเลขสถิติของกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า มีชาวนาอยู่ 5.8 ล้านครัวเรือน และในจำนวนนี้ 45% เป็นผู้เช่าพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งคิดว่าปัญหาเรื่องการปล่อยที่ดินทิ้งร้างน่าจะแก้ไขด้วยวิธีอื่น เช่น การเพิ่มภาษีที่ดิน เพื่อให้เจ้าของที่ดินปล่อยที่ให้เช่า


แก้ปัญหาต่างชาติเช่าที่รัดกุม แต่ยังพบช่องโหว่
นายวิฑูรย์ ยอมรับว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่นั้น แก้ไขให้มีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของการควบคุมต่างชาติในการเข้ามาเช่าที่ โดยกฎหมายอื่นต่างด้าวถือหุ้นไม่เกิน 50% แต่กฎหมายการเช่าที่ดินฉบับใหม่นั้น ตั้งเพดานต่างชาติถือหุ้นไว้ต่ำมาก คือ 25% และมีบทลงโทษทั้งปรับและจำคุกชัดเจน ทั้งต่างชาติ ผู้ให้เช่า และนอมินี รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้มีการเช่า แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องโหว่ให้บริษัทนิติบุคคลจำนวนมากใช้วิธีเหล่านี้หลบเลี่ยงกฎหมาย ได้แก่
1.ต่างชาติถือหุ้น 49% ที่เหลือให้นอมินีถือหุ้นแทน 51% วิธีนี้บริษัทก็สามารถดำเนินไปได้ เพียงแค่จ่ายค่าตอบแทนขอใช้ชื่อก็ทำได้
2.ต่างชาติถือหุ้น 49% แต่ให้ผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทยกลายเป็นผู้ถือหุ้นที่ไม่มีสิทธิ์ในการบริหารหรือที่เรียกว่า หุ้นบุริมสิทธิ์ แต่ส่วนใหญ่จะใช้กับกฎหมายที่ห้ามต่างชาติถือหุ้นเกิน 49% ก็จะมีคนถือหุ้นที่ไม่มีสิทธิ์บริหาร ฉะนั้น ต่างชาติที่ถือ 49% และมีคนไทยที่ถือหุ้นบุริมสิทธิ์ประมาณ 10% ก็ทำให้หุ้นอยู่กับต่างชาติ 59% ต่างชาติถือหุ้นใหญ่สุดสามารถบริหารได้.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

- สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ