คสช.วอนประชาชนใช้วิจารณญาณ ในการรับข่าวทางโซเชียลฯ เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิด ก.ม. เชื่อสังคมมองออก กลุ่มนักศึกษา ออกมาเคลื่อนไหว เชื่อมโยงการเมือง บ่งชี้เจตนาที่บริสุทธิ์หรือไม่

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยกรณีที่มีบางบุคคลกล่าวอ้างว่า ทาง คสช. ได้ปิดกั้นการแสดงความเห็น เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ว่า ขอให้ประชาชนบริโภคข่าวสารด้วยใช้วิจารณญาณ ในการรับข่าวสาร เพราะเป็นเรื่องที่ไม่จริง ทาง คสช. มีแต่เฝ้าระวังไม่ให้มีการกระทำใดๆ ที่ผิดกฎหมาย หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคม จะเห็นว่าปัจจุบันยังมีการเผยแพร่ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญจากบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองหรือนักวิชาการบางคนออกมาอย่างต่อเนื่อง มีหลากหลาย บางกรณีที่อาจดูสุ่มเสี่ยงผิดเงื่อนไขกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็จะใช้แนวทางพูดคุยทำความเข้าใจ ขอความร่วมมือ หรือการตักเตือน การใช้กฎหมายก็พยายามไม่ทำให้ภาพที่ออกมานั้นดูแข็งตึงจนเกินไป การอ้างถึงการถูกปิดกั้นนั้นจึงเป็นเรื่องที่มีบางคนพยายามสร้างกระแสบิดเบือน

พ.อ.วินธัย กล่าวต่อว่า อย่างกรณีสมาชิกพรรคการเมืองบางคนบางพรรค หรือแกนนำมวลชนบางคนบางกลุ่ม ก็เห็นมีการนำเสนอความคิดเห็นส่วนตัวผ่านช่องทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะผ่านช่องทางโซเชียลฯ ยังไม่เห็นใครไปห้ามทำนองปิดกั้นอะไร จนคนทั่วไปก็รู้ได้ว่า แต่ละบุคคลๆ นั้นใครคิดเห็นอย่างไร ในส่วนการแสดงออกของบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ที่ออกมาเคลื่อนไหว ในสถานที่ต่างๆ ที่เน้นจัดกิจกรรมลักษณะการรวมตัวกัน จนทำให้สังคมเริ่มมีข้อกังขาในเจตนาที่แท้จริง ประการแรก คือสถานะตัวตนที่แท้จริงในทางสังคม เพราะถ้าเป็นการจัดกิจกรรมกลุ่มนักศึกษา ซึ่งคนทั่วไปจะดูออกถึงพลังเจตนาบริสุทธิ์ที่ดูเป็นธรรมชาติ แต่ในหลายๆ กลุ่ม กลับพบความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงได้ของแต่ละบุคคลต่อบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง จึงทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยมาตลอดระยะหลัง อีกทั้งพฤติกรรมต่อการกระทำใดๆ ที่มักเกินขอบเขตของกฎหมาย ทั้งนี้อาจมุ่งหวังให้เจ้าหน้าที่ตอบกลับด้วยการบังคับใช้กฎหมาย หรือหวังจะหยิบยกสร้างประเด็นต่อเนื่องจากผลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เอาไปขยายผลเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือในมุมทางการเมือง แต่เชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่มองออก

...

"การแสดงความคิดเห็นสามารถทำได้หลากหลายวิธีและไม่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดเงื่อนไขของกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่ามีตัวอย่างให้เห็นๆ กันอยู่แล้ว แต่บางบุคคลบางกลุ่มก็ไม่เลือกที่จะใช้ จึงทำให้สังคมเข้าใจว่าน่าจะมีนัยอื่นแอบแฝง เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องดูแลให้สังคมสงบเรียบร้อย การบังคับใช้กฎหมายคงเป็นเครื่องมือหนึ่งของเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในสังคม ให้สังคมมีความสงบสุข แต่ก็จะใช้เมื่อจำเป็นและใช้อย่างระมัดระวังมาตลอด เพื่อไม่ให้ผู้ไม่หวังดีหยิบยกไปเป็นประเด็นเงื่อนไขเพิ่มเติม" โฆษก คสช. กล่าว