สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ILO จัดสัมมนาเตรียมรับแรงงานเวียดนามทะลักเข้าไทย เพื่ออุดช่องว่างปัญหาความไม่เป็นธรรม และการละเมิดสิทธิแรงงาน พร้อมอำนวยความสะดวกกับนายจ้างชาวไทย ขณะที่ ILO มองว่าไทยน่าจะเป็นประเทศนำร่อง
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2559 ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด การสัมมนาเพื่อส่งเสริมกระบวนการจัดหางานและจ้างงานที่เป็นธรรม ในการนำเข้าแรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย ซึ่งจัดโดย สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT ) ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
นายแม๊กซ์ ทูนอน (Max Tunon) ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การนำเข้าแรงงานข้ามชาตินายจ้างควรจะดูแลในเรื่องนำเข้าแรงงาน การย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งทั้ง 4 สัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ปัญหาที่พบตอนนี้ คือ ไม่ทราบความต้องการแรงงานว่ามีมากน้อยเท่าไร แต่ละสาขามีความต้องการเป็นอย่างไร ซึ่งจำนวนของแรงงานเป็นตัวหลักสำคัญในการนำไปพัฒนานโยบายการนำเข้าแรงงานที่ถูกต้องของแต่ละภาคส่วน
ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวอีกว่า การลงนามข้อตกลงเพื่อทำกรอบในการนำเข้าแรงงาน ทำให้เกิดการหารือระหว่างคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ซึ่ง ILO เห็นว่าการที่ ECOT (สภาองค์การนายจ้าง) ซึ่งเป็นตัวแทนฝั่งนายจ้างเป็นตัวแปรที่สำคัญในการหารือ และวางกรอบที่กว้างขึ้น เพื่อเป็นตัวให้ข้อมูลและนำไปสู่ภาคปฏิบัติในที่สุด
"การหารือทำให้มีการคุยกันทุกฝ่าย ให้เรารู้ถึงความต้องการของแรงงานว่าต้องการเข้ามาแบบไหน จะมาภายใต้ MOU หรือแบบถือบัตรสีชมพู รวมถึงการลักลอบเข้ามา ซึ่งจะทำให้เราได้ทราบถึงปัจจัยว่า อะไรที่ทำให้แรงงานตัดสินใจเข้ามาทำงานในช่องทางเหล่านั้น" ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าว
นายแม๊กซ์ กล่าว การทำค่าใช้จ่ายเป็นศูนย์ (ZERO FEE) สำหรับแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ซึ่งภายใต้อนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ก็มีกว่า 32 ประเทศ ที่ได้ลงสัตยาบรรณในเรื่องนี้ เช่น ยูเออี ซาอุฯ และอีกหลายๆ ประเทศ ที่ได้รับหลักการไปแล้ว ซึ่งเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นศูนย์ได้หรือไม่นั้น ภาคเอกชนก็ต้องเคลื่อนตัวด้วย โดยภาครัฐต้องมีส่วนเข้ามาสนับสนุนเพื่อไม่เป็นภาระของแรงงาน ซึ่งในภูมิภาคนี้ประทศไทยน่าจะเป็นตัวนำร่องในการทำให้เกิดค่าใช้จ่ายของแรงงานเป็นศูนย์ได้ โดยผลักภาระไปไว้ที่นายจ้าง เพราะนายจ้างเป็นผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเห็นได้จากภาคอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมอีเลกทรอนิกส์ โดยหากอุตสากรรมภาคเหล่านี้ทำได้ แรงงานก็จะไปสู่ตลาดอุตสาหกรรมนี้โดยอัตโนมัติ
...
ด้าน ดร.อารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การนำเข้าแรงงานภายใต้บันทึกความเข้าใจทวิภาคี MOU ระหว่างไทยกับเวียดนาม ว่าหาก MOU นำไปสู่ภาคปฏิบัติแล้วจะทำให้เราทราบภึงความต้องการทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อทำให้ปัญหาการลักลอบเข้ามาทำงานลดลง ซึ่งกรณีที่ทำกับเวียดนามนั้น จะเป็นตัวอย่างในการนำร่องการนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องตามหลักสากล โดยภาคการก่อสร้างในบ้านเราทุกวันนี้ เวียดนามไม่ได้อยู่ในระบบการก่อสร้าง เพราะบ้านเขาก็มีความต้องการเช่นกัน โดยภาคก่อสร้างเป็นแรงงานระดับล่าง แต่หากเป็นแรงงานฝีมือ อัตราค่าจ้างก็จะผันตามระดับฝีมือ ที่ผ่านมา แรงงานเวียดนามไม่ได้สนใจในการทำงานภาคก่อสร้างนี้ในบ้านเรา เพราะอุตสาหกรรมก่อสร้างบ้านเขาก็มีความต้องการไม่น้อย และค่าจ้างของเขาก็อยู่ในอัตราที่สูง รายละเอียดตรงนี้เขาต้องการความชัดเจนตรงค่าแรงงานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาฝีมือ โดยความต้องการของไทยในขณะนี้เรามีความต้องการในการก่อสร้างในระบบราง และโครงการก่อสร้างในต่างประเทศ ตรงนี้นายจ้างฝั่งเวียดนามก็จะนำข้อมูลกับไปหารือกับแรงงานฝั่งเขา การที่เราจะนำร่องการจัดส่งแรงงานตามเอ็มโอยูนี้เราต้องมีความชัดเจนในเรื่องสัญญาจ้าง และค่าบริการต่างๆ
"ในภาคการก่อสร้างที่ผ่านมาเราเปิดให้ลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว ไม่มีแรงงานชาวเวียดนามมาลงทะเบียนเลย ความมุ่งหวังของเราก็คือหากเวียดนามเข้ามาก็จะอยู่ในภาคของการประมง ซึ่งการว่าจ้างที่จะให้เกิดความเป็นธรรมก็จะต้องฝึกอบรมก่อนเข้ามาทำงาน และมีตัวแทนที่ชัดเจนทั้งสองฝ่าย ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามกรอบ ภายในกรกฎาคมนี้ จะมีการพูดคุยกันอีกครั้ง และในต้นเดือนกันยายน แรงงานชุดแรกก็น่าจะเดินทางเข้ามาทำงานได้" อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
ขณะที่ นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าการสัมมนาในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริม และสร้างความเข้าใจต่อกระบวนการจัดหางาน และจ้างงานแรงงานเวียดนามที่เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยตาม MOU ที่ประเทศไทยและเวียดนามได้ลงนามร่วมกันไปแล้ว โดยการสัมมนาจะระบุถึงกลไกการติดตามและส่งต่อ กรณีการจัดหางานที่ไม่เป็นธรรม และการละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งนำไปสู่เป้าหมายร่วมกันเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการด้านแรงงานให้ถูกต้อง ได้มาตรฐาน ขจัดปัญหาหลอกลวง และการเอารัดเอาเปรียบเพื่อประโยชน์ของแรงงานต่างด้าว และนายจ้าง ผู้ประกอบการ รวมทั้งเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า แรงงานต่างด้าวเป็นต้นทุนที่สำคัญในระบบการผลิต แรงงานที่มีคุณภาพย่อมส่งเสริมให้การผลิตได้คุณภาพ มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ การที่จะได้มาซึ่งแรงงานต่างด้าวที่มีคุณภาพนั้น ประกอบด้วยปัจจัยหลายประการ ทั้งกระบวนการนำเข้าที่ถูกต้องตามกฎหมายสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน สิทธิ และสวัสดิการที่มีความเหมาะสม และเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการเข้าถึงบริการของรัฐ เร่งสร้างโอกาส อาชีพ และรายได้ที่มั่นคงแก่ผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งหมายรวมถึงแรงงานข้ามชาติที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ อันนำมาสู่นโยบายของกระทรวงแรงงานในการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ
...
นายสุเมธ ยังกล่าวอีกว่า การคุ้มครองแรงงานต่างด้าวทั้งระบบนั้น ต้องมุ่งเน้นทั้งการบริหารจัดการ การกำหนดมาตรฐาน การจ้างการป้องกันการลักลอบการทำงาน การบังคับใช้กฎหมาย การปรับระบบฐานข้อมูลการประชาสัมพันธ์ และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อให้แรงงานต่างด้าวทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างและแรงงาน ให้เข้าถึงการบริการได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง เน้นการดำเนินการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อเป้าหมายที่จะนำแรงงานกลุ่มนี้ไปสู่แรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างแท้จริง ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ซึ่งการสัมมนาจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการจัดหางาน และจ้างงานแรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย และจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้กระบวนการจ้างแรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานในประเทศไทยประสบความสำเร็จ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งระบบเศรษฐกิจ
ด้านนายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ECOT ในฐานะสมาชิกองค์การนายจ้างระหว่างประเทศ และตัวแทนภาคีฝ่ายนายจ้างของประเทศไทย ที่ทำงานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ได้รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในเรื่องนโยบายของรัฐบาลที่ได้ทำ MOU ร่วมกับรัฐบาลประเทศเวียดนาม เพื่อนำเข้าแรงงานในสาขาก่อสร้างและประมง ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิก ECOT เล็งเห็นว่า MOU ที่เพิ่งเริ่มนำสู่การปฏิบัตินี้อาจจะยังไม่สามารถตอบสนองปัญหาการขาดแคลนแรงงานของภาคธุรกิจได้ ECOT จึงได้ขอรับการสนับสนุนจาก ILO และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เพื่อจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการของภาคีฝ่ายนายจ้างครั้งนี้
"เราได้เชิญตัวแทนภาคธุรกิจ ภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญจาก ILO และ IOM มาร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ MOU นี้สามารถตอบสนองความต้องการของนายจ้างได้ โดยข้อสรุปที่ได้จากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จะได้นำเสนอกระทรวงแรงงาน เพื่อหาแนวทางไปสู่การปฏิบัติจริงในอนาคตอันใกล้นี้" ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าว
...
ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า การสัมมนาในวันนี้จะไปสู่การพูดคุยถึงความต้องการที่แท้จริงของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง แต่ทั้งนี้ก็ต้องนำข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบทั้งหมดขึ้นมาหารือกัน โดยเฉพาะความต้องการของแรงงานชาวเวียดนาม ที่ต้องการเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องในภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่กฎหมายของไทยเปิดช่องไว้ โดยเราเปิดช่องไว้เพียงอุตสาหกรรมการก่อสร้าง และประมง แต่ในข้อเท็จจริง แรงงานชาวเวียดนามมาฝังตัวอยู่ในภาคบริการของประเทศเราจำนวนมาก ถ้าเราเอามาทำให้ถูกต้อง ก็จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งแรงงานเองก็ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ผู้ประกอบการเองก็มีความชัดเจนว่าจะต้องทำอย่างไร เราต้องยอมรับว่าแรงงานเวียดนามนั้น เป็นแรงงานที่มีฝีมือ มีทักษะ เพราะเวียดนามเองมีการพัฒนาส่งเสริมทั้งทักษะและการศึกษา ซึ่งผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่เปิดโรงงานอยู่ที่เวียดนามเองเขาพอใจในการทำงานของคนเวียดนาม และเมื่อเขาเปิดโรงงานที่เมืองไทยเขาก็อยากได้แรงงานจากเวียดนาม แต่กฎหมายยังไม่เปิดช่อง ซึ่งเราก็จะนำข้อหารือในวันนี้ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนไปนำเสนอภาครัฐ.