ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มตัว หลังจากต้องเผชิญอากาศร้อน ‘ตับแลบ’ อุณหภูมิทะลุปรอทสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสในช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมา จนถือเป็นสภาพอากาศร้อนจัด ชนิดที่คนไทยไม่เคยพบเจอมาก่อนเลยก็ว่าได้

สภาพอากาศร้อนจัด แห้งแล้ง ฝนไม่ตกต่อเนื่องติดต่อมาหลายเดือน ในไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอินเดีย จนห้วยหนองคลองบึงแห้งขอดเกือบทั้งประเทศ ไม่มีน้ำทำนาปลูกข้าว เป็นผลจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า เอลนีโญ แต่มาตอนนี้ สภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังจะเหวี่ยงไปอยู่อีกด้าน นั่นคือจะเกิดฝนตกหนักมากขึ้น อันเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์ ลานีญา  ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยก็กำลังเฝ้าระวังปรากฏการณ์ลานีญาอย่างใกล้ชิด

*มารู้จักปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา

การเกิดปรากฏการณ์ ลานีญา เป็นปรากฏการณ์ในสภาวะตรงข้ามกับ เอลนีโญ จึงทำให้มีชื่อเรียกต่างๆ กันหลายชื่อ อย่างเช่น ‘น้องของเอลนีโญ’ (El Nino’s Sister) หรือ ‘แอนติเอลนีโญ’ คือเป็นปรากฏการณ์ตรงข้ามกับ เอลนีโญ ขณะที่คำว่า ลานีญา เป็นคำทับศัพท์จากภาษาสเปน แปลว่า ‘เด็กหญิงเล็กๆ’ (แต่มีฤทธิ์ร้ายกาจนัก) แต่ เอลนีโญ หมายถึง ‘เด็กชาย’ แต่ถ้าเขียนนำด้วยอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ El Nino หมายถึง ‘บุตรพระคริสต์’

...

กรมอุตุนิยมวิทยาของไทย อธิบายถึงปรากฏการณ์เอลนีโญว่า เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติทางสมุทรศาสตร์ในซีกโลกใต้ ที่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างการหมุนเวียนของกระแสอากาศ กับกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก โดย ลานีญา เป็นปรากฏการณ์ตรงข้ามกับ เอลนีโญ นั่นคือ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลาง และตะวันออกของแปซิฟิก เขตศูนย์สูตร มีค่าต่ำกว่าปกติ เนื่องจากลมค้าตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังแรงมากกว่าปกติ จึงพัดพาผิวน้ำทะเลที่อุ่นจากตะวันออกไปสะสมอยู่ทางตะวันตกมากยิ่งขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าว ซึ่งเดิมมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระดับน้ำสูงกว่าทางตะวันออกอยู่แล้ว ยิ่งมีอุณหภูมิและระดับน้ำทะเลสูงขึ้นไปอีก ทำให้มีการก่อตัวของเมฆและฝน บริเวณด้านตะวันตกของแปซิฟิก เขตร้อน

ส่วนผลกระทบจากสองปรากฏการณ์นี้ มองเห็นภาพแบบง่ายๆ คือ ปรากฏการณ์​เอลนีโญ ทำให้เกิดฝนตกหนักในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ แต่จะทำให้เกิดความแห้งแล้งในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และขณะที่เกิดความแห้งแล้ง ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ขณะเดียวกันก็จะมีฝนตกหนักบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบริเวณชายฝั่งออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จะมีฝนตกชุกกว่าปกติ สำหรับปรากฏการณ์ ลานีญา เกิดขึ้นได้ทุก 2-3 ปี และปกติจะเกิดขึ้นนานประมาณ 9-12 เดือน แต่ก็มีบางครั้ง อาจปรากฏอยู่ได้นานถึง 2 ปี


**เอลนีโญไปแล้ว ที่กำลังมาคือ ลานีญา!!

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น สื่อยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ชี้ว่า จากการที่อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกในปีนี้ สูงสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา จึงทำให้เกิดผลกระทบที่กว้างและไกลกว่าที่เคยเกิดขึ้น! เพราะขณะที่ ผลจาก เอลนีโญ ทำให้สภาพอากาศในไทย ลาว กัมพูชา ร้อนแล้งจัดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ชาวอินเดียต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนเล่นงานเกือบทั้งประเทศ  แต่ขณะเดียวกันก็มีพายุฝนตกหนัก คลื่นโถมซัดชายฝั่งของรัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐฯ​ ทำให้เกิดดินทรุดอย่างน่ากลัว จนอพาร์ตเมนต์2-3หลังบริเวณนั้น เกือบจะร่วงหล่นจากหน้าผา 

...

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ความรุนแรงของปรากฏการณ์ เอลนีโญ ทางแปซิฟิกตะวันตกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ลดน้อยลงไปแล้ว พวกเราพอจะถอนหายใจด้วยความโล่งอกกันได้หรือยัง เพราะปรากฏการณ์เอลนีโญจะไม่กลับมาในอีก 2-7 ปีข้างหน้า? แต่คำตอบกลับเป็น อาจจะไม่ใช่!!

เนื่องจากเราต้องเผชิญหน้ากันต่อกับ ลานีญา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ในสภาวะตรงกันข้ามกับเอลนีโญ โดยจะเกิดฝนตกมากกว่าปกติ ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย เช่นเดียวกับ ฟิลิปปินส์ ก็จะมีฝนตกมากกว่าปกติเช่นกัน คาดว่าปรากฏการณ์ ลานีญา จะทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดสู่อินเดีย รุนแรงขึ้นด้วย

ดร.เอกุส ซานโตโซ นักวิทยาศาสตร์อาวุโส ประจำมหาวิทยาลัยนิว เซาต์ เวลส์ บอกกับนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า ปรากฏการณ์ลานีญาทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดพายุรุนแรง และไซโคลนถล่มทางชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย โดยปรากฏการณ์ลานีญาจะทำให้เกิดฝนตกมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อการทำการเกษตร แต่ก็มีเรื่องที่น่าห่วงกังวล คือ การเกิดน้ำท่วม

*ย้อนดูอดีต สหรัฐฯ เคยโดนเฮอริเคนถล่มยับ ขณะเกิดปรากฏการณ์ลานีญา

...

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ เผชิญกับพายุโซนร้อนหรือเฮอริเคน ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างน้อยที่สุด คือระดับพันล้านดอลลาร์ โดยพายุโซนร้อน หรือเฮอริเคน 5 ลูกในจำนวน 7 ลูกที่ถล่มสหรัฐฯ เกิดขึ้นระหว่างเกิดปรากฏการณ์ลานีญา ช่วงปี 2551-2554 โดยในจำนวนนี้ มีเฮอริเคนลูกหนึ่งที่ถล่มสหรัฐฯ ในปี 2551 สร้างความเสียหายถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 112 ราย

**ไทยเจอน้ำท่วม ระหว่างการเกิดลานีญาครั้งที่ผ่านมา

ซีเอ็นเอ็น ชี้ว่าปรากฏการณ์ ลานีญา ครั้งที่ผ่านมา เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ ตอนกลางปี 2553 และดำเนินต่อมาจนถึงปี 2555 โดยในปี 2554 ประเทศไทยเผชิญกับฝนตกหนัก ก่อให้เกิดปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ย ถึง 3 เท่า ซึ่งผลที่ตามมาคือ มีจังหวัดในประเทศไทยถูกน้ำท่วมมากถึง 75% ของพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งชาวกรุงเทพฯ ในหลายพื้นที่ต้องประสบภัยน้ำท่วมชนิดไม่เคยเจอมาก่อน ซึ่งน้ำท่วมในไทยคราวนี้ สร้างความเสียหายมหาศาลกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ และทำให้มีผู้เสียชีวิต 815 ราย

ในปี 2553 ปรากฏการณ์ลานีญา ยังทำให้เกิดน้ำท่วมในรัฐควีนส์แลนด์ ของออสเตรเลียด้วย ดับ 33 ศพ และเสียหายกว่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ‘การที่ผิวน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น มันเหมือนกับเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้กับการเกิดพายุ และการที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นก็ยังเสี่ยงที่จะเกิดสตอร์ม เสิร์จมากขึ้น ทำให้ชายฝั่งทะเลโดนกัดเซาะและน้ำท่วม’ ดร.ซานโตโซ กล่าวถึงผลที่ตามมาจากปรากฏการณ์ลานีญา

...

**เกิด เอลนีโญ แรงขนาดไหน ก็จะเกิด ลานีญา ตามมารุนแรงเท่านั้น

ดร.ซานโตโซ ชี้ว่า ความเสี่ยงของการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรง จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ลานีญารุนแรงตามมาเช่นกัน ซึ่งความกังวลของเขาก็คือทั้งรัฐบาล และภาคเอกชนในประเทศเหล่านี้ พร้อมจะรับมือกับปรากฏการณ์ลานีญากันแล้วหรือยัง? 

เรียกว่า เป็นเสียงเตือนจากนักวิทยาศาสตร์อาวุโส จากมหาวิทยานิว เซาต์ เวลส์ ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดปรากฏการณ์ ลานีญา ที่ก่อให้เกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมตามมา ขณะที่คนไทยและประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่งเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด แล้งจัดอย่างชนิดไม่เคยเจอะเจอมาก่อน จากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญกันมาแบบสดๆ ร้อนๆ..