จากกรณีกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านบ้านบางใหญ่ หมู่ 4 ต.ทุ่งคา อ.เมือง จ.ชุมพร ร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชุมพร เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนถูกนายทุนอ้างเอกสารสิทธิ (น.ส.3) ในป่าชายเลนอ่าวทุ่งคา-สวี เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ฟ้องขับไล่ที่และรื้อทุบทำลายบ้าน ท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยของสาธารณชนทั่วไปที่มีที่ดิน (น.ส.3) ไปโผล่อยู่กลางป่าชายเลน ทั้งๆที่ชาวบ้านอาศัยทำกินมานานกว่า 20 ปี ยังไม่มีใครได้เอกสารสิทธิครอบครองแม้แต่รายเดียว ขณะเดียวกันกลุ่มชาวประมงได้รวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบางใหญ่ อ่าวทุ่งคาเพื่อทวงคืนผืนป่าธรรมชาติ ด้านนางชลธิชา เชิดชู นายทุนเจ้าของร้านอาหารทะเลชื่อดังอ้างว่าได้ น.ส.3 มาอย่างถูกต้องนั้น

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 8 มิ.ย.นายวิษณุ เซียงเจ็น อายุ 37 ปี รองประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบางใหญ่อ่าวทุ่งคา พร้อมด้วยแกนนำ 5 คน ได้เดินทางเข้าพบนายณภัทร สุวรรณเจริญ นิติกร ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชุมพร เพื่อทวงถามการตรวจสอบที่ดินเอกสารสิทธิ (น.ส.3) ดังกล่าวโดยนายณภัทรเปิดเผยว่า เรื่องนี้คณะกรรมการตรวจสอบกำลังดำเนินการอยู่ไม่ได้เงียบหายแต่อย่างใด ประกอบกับนายไมตรี ไตรติลานันท์ รอง ผวจ.ชุมพร ได้สั่งกำชับให้คณะกรรมการที่ทางจังหวัดตั้งขึ้นมาให้เร่งสรุปเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จภาย ในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนผลจะออกมาอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายที่ผ่านมาได้มีการประชุมไปแล้ว2 ครั้ง

ทางด้านนายรักพงษ์ บุญย่อย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร กล่าวว่า ขณะนี้ผลการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศได้ออกมาแล้ว ปรากฏว่าพื้นที่ที่เป็นกรณีพิพาทตามที่นางชลธิชา เชิดชู อ้างเอกสารสิทธิ (น.ส.3) นั้น ไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินมาก่อน แต่ทางอุทยานฯต้องหาหลักฐานอื่นๆมาประกอบด้วย เพราะเจ้าของที่ดินอ้างว่าที่ดินแปลงนี้เดิมเป็นสวนจากและเจ้าของเดิมมีอาชีพทำสวนจาก ดังนั้นจึงต้องสอบปากคำคนเฒ่าคนแก่ที่อยู่ในพื้นที่มาประกอบด้วย ส่วนเรื่องการย้ายคูบางตะบูนตามที่ระบุไว้ใน น.ส.3นั้นต้องหาชาวบ้านที่เชื่อถือได้มายืนยัน ส่วนจะตรวจสอบแล้วเสร็จตอนไหนนั้นยังบอกไม่ได้ เพราะต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ

...

นายวิษณุ เซียงเจ็น รองประธานกลุ่มอนุรักษ์ฯ เปิดเผยว่า มาถึงตอนนี้ชาวบ้านเริ่มไม่แน่ใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ เพราะผลการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศออกมาแล้วว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่เคยทำประโยชน์อะไรมาก่อน ทำไมถึงไม่ดำเนินการเพิกถอน เรื่องนี้คล้ายกับกรณีของนางเรณู มีอินทร์ ที่ถูกอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอน ส.ค.1 มาแล้ว เพราะอยู่ในเขตอุทยานฯ

“ชาวบ้านอาศัยอยู่ในบริเวณแห่งนี้มานานพร้อมๆกับนางชลธิชา แต่ไม่มีใครได้เอกสารสิทธิอะไรเลย ทุกคนยืนยันได้ว่าพื้นที่ตรงนี้เดิมเป็นพื้นที่ปลูกป่าโกงกาง ชาวบ้านหลายคนเคยไปรับจ้างปลูกป่ากับเจ้าหน้าที่สำนักงานป่าชายเลนในสมัยนั้นได้ค่าแรงคนละ 200 บาทต่อวัน ซึ่งทุกคนยังจำได้ดี แต่พอมาถึงวันนี้ ทำไมที่ดินแปลงนี้จึงมีเจ้าของครอบครองได้และเวลานี้รัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ชาวบ้านเองก็พร้อมให้ความร่วมมือ แต่ทำไมทำงานล่าช้า ชาวบ้านหวั่นเกรงว่าจะกลายเป็นมวยล้มต้มคนดู” นายวิษณุกล่าว

ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อสอบถามเจ้าของที่ดินและผู้เกี่ยวข้องแล้วแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งข่าวคืบหน้าจะนำเสนอต่อไป.