กรมอนามัย เผย คนไทยดื่มนมน้อยมาก เฉลี่ยวันละ 14 ลิตร ต่ำกว่าในอาเซียนและทั่วโลกถึง 4-7 เท่า ผู้ชายเฉลี่ยสูง 169.5 ซม. ผู้หญิงเฉลี่ย 157.7 ซม. โดยเฉลี่ยดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว เท่านั้น ผู้ใหญ่ก็ควรดื่ม 1-2แก้วป้องกันกระดูกพรุน...


เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 59 นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยเนื่องในวันดื่มนมโลกว่า นมเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับทุกวัย เพราะมีโปรตีนคุณภาพดีและมีแคลเซียมในปริมาณสูง เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน โดยเฉพาะนมสดรสจืดมีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่านมที่มีการปรุงแต่งด้วยน้ำตาลและกลิ่น เนื่องจากมีแคลเซียมในปริมาณมาก ช่วยสร้างกระดูกที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กด้านความสูง

นอกจากนี้ ข้อมูลการศึกษาของสำนักโภชนาการกรมอนามัย ซึ่งนำเอานมโคสดแท้ นมปรุงแต่งรสหวาน และนมเปรี้ยว ปริมาณ 100 มิลลิลิตรเท่ากันมาเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการพบว่า นมโคสดแท้จะให้สารอาหารที่จำเป็น ได้แก่ โปรตีน 3.3 กรัม แคลเซียม 122 มิลลิกรัม วิตามินเอ 38 ไมโครกรัม วิตามินบี 2 0.21 มิลลิกรัม ขณะที่นมปรุงแต่งรสหวาน กลับให้สารอาหารที่จำเป็นน้อยกว่าคือ โปรตีน 2.3 กรัม แคลเซียม 101 มิลลิกรัม วิตามินเอ 38 ไมโครกรัม และวิตามินบี 2 0.20 มิลลิกรัม

ด้าน อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า จากผลสำรวจการบริโภคนมของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปี 2558 พบว่าคนไทยดื่มนมน้อยมาก เฉลี่ยคนละประมาณ 14 ลิตรต่อปี ในขณะที่อัตราการดื่มนมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ยคนละ 60 ลิตรต่อปี และทั่วโลกเฉลี่ยคนละ 103.9 ลิตรต่อปี หรือกล่าวได้ว่าอัตราดื่มนมคนไทยยังต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลก 4-7 เท่า ส่งผลให้เด็กไทยเมื่อมีอายุ 19 ปี มีความสูงเฉลี่ยไม่สูง โดยผู้ชายสูงเฉลี่ย 169.5 เซนติเมตร ผู้หญิงสูงเฉลี่ย 157.7 เซนติเมตร โดยมีผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการดื่มนมวันละประมาณ 2-3 แก้ว ร่วมกับกิจกรรมทางกายประเภทที่มีการยืดตัว เช่น ว่ายน้ำและเล่นบาสเกตบอล เป็นต้น และการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอเป็นการเพิ่มฮอร์โมนการเจริญเติบโตที่ส่งผลต่อการเพิ่มความสูงได้ ทั้งนี้ เด็กก่อนวัยเรียนควรนอนวันละ 10–13 ชั่วโมง วัยเรียนควรนอนวันละ 9-11 ชั่วโมง และวัยรุ่นควรนอนวันละ 8–10 ชั่วโมง

...

“ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องการสารอาหารเพิ่ม เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและชะลอการสูญเสียมวลกระดูก ป้องกันโรคกระดูกพรุน แนะนำให้ดื่มนมสดรสจืดวันละ 1-2 แก้ว ส่วนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ได้แก่ ภาวะอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ควรดื่มนมชนิดพร่องมันเนยหรือขาดมันเนย เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะไขมันเกิน ดื่มวันละ 1-2 แก้ว” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว.