หลังจาก ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้นำเสนอเรื่องราวประวัติความเป็นมาของโรงหนังสกาลาและลิโด ไปในสกู๊ป "ตัวไม่อยู่ ขอให้โรงหนังอยู่" ล้วงใจเจ้าของสกาลา รอวันอำลาหรือฉายต่อ? แล้วนั้น

ทีมข่าวฯ จึงขอตามติดในประเด็นที่กำลังเป็นที่พูดถึงของคอหนัง และแฟนๆ โรงหนังสกาลา ถึงกรณีการต่อหรือไม่ต่อสัญญาการให้เช่าพื้นที่ของจุฬาฯ ณ วันนี้ ขอสรุปได้บังเกิดขึ้นแล้ว จะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนนี้…

จุฬาฯ ยัน ต่อสัญญา ‘โรงหนังสกาลา’ อีก 3 ปี

จากที่ทีมข่าวฯ ได้พูดคุยกับคุณนันทา ตันสัจจา เจ้าของโรงหนังสกาลา เกี่ยวกับสัญญาการเช่าที่ดินของสกาลานั้น จะสิ้นสุดลงในเดือน ม.ค. 2560 และทางโรงหนังยังไม่ได้มีการต่อสัญญาใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึงยังไม่ทราบเรื่องว่าทางจุฬาฯ เจ้าของพื้นที่จะต่อสัญญาเช่าออกไปหรือไม่

จากข้อมูลข้างต้น ทีมข่าวฯ จึงได้สอบถามไปยังรองอธิการบดี ฝ่ายดูแลทรัพย์สิน ที่เพิ่งมารับตำแหน่งสดๆ ร้อนๆ นั่นคือ รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล โดยรองอธิการบดี เปิดเผยข้อมูลว่า ได้มีการประชุมของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ เรียบร้อยแล้ว ผลสรุปคือ ทางจุฬาฯ จะมีการต่อสัญญาเช่าให้แก่โรงหนังสกาลาต่อไปอีก 3 ปี จนถึงปี 2563 และในปีแรกจะคิดอัตราค่าเช่าเท่าเดิม ส่วนปีที่สองคิดอัตราเพิ่มขึ้น 5% และปีที่สามเพิ่มขึ้นประมาณ 5% ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างรอให้เจ้าของโรงหนังเข้ามาต่อสัญญา เพราะว่าสัญญายังไม่หมด จึงยังไม่ได้เข้ามาต่อ

...

3 ปีข้างหน้า ยังไม่มีแผนพัฒนาพื้นที่ เหตุผลจุฬาฯ ต่อสัญญาระยะสั้น

ทั้งนี้ รศ.ดร.วิศณุ ยังกล่าวต่อว่า พื้นที่บริเวณสยามสแควร์เป็นพื้นที่ใหญ่ ในอนาคตข้างหน้ามีแผนจะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ แต่ยังไม่มีแผนว่าจะพัฒนาเป็นอะไร รวมทั้งจะต้องเข้า พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปี ทางจุฬาฯ คาดว่าอีก 3 ปีจากนี้ ยังไม่ได้มีโครงการหรือแผนงานอะไรที่จะดำเนินการในเร็วๆ นี้ จึงตัดสินใจต่อสัญญาให้กับโรงหนังสกาลา โดยเป็นสัญญาระยะสั้น 3 ปี

“โซนซอยสกาลา ตอนนี้ยังไม่ได้มีแผนที่จะพัฒนาว่าเป็นอะไร เราต้องจ้างคนเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ก่อน ว่าจะทำอะไรเหมาะสมที่สุดสำหรับพื้นที่โซนนี้ แต่อย่าลืมว่าพื้นที่แบบนี้หาไม่ได้แล้ว เราก็อยากได้โครงการดีๆ มาพัฒนา แต่เร็วๆ นี้ ภายใน 3 ปี ยังไม่มีโครงการอะไร เพราะว่าโครงการนี้มันใหญ่เกินที่จุฬาฯ จะทำเอง เราก็ต้องเปิดโอกาสให้เอกชนมาเสนอแนวความคิดว่า คุณอยากจะเอาไปทำอะไรกัน ซึ่งก็คงต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปี” รองอธิการบดี ฝ่ายดูแลทรัพย์สิน ให้เหตุผลของการต่อสัญญา

...

คอหนังออกโรงป้อง! จุฬาฯ ยันไม่มีผลต่อการตัดสินใจต่อสัญญา

จากการที่มีคอหนังของสกาลา ออกโรงปกป้องจนถึงขั้นมีการให้ร่วมลงชื่อในเว็บ Change.org ร้องเรียนผู้บริหารจุฬาฯ ให้เก็บโรงภาพยนตร์สกาลาเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมและแหล่งอ้างอิงของแผ่นดิน รวมถึงยังมีแฟนๆ โรงหนัง ต่างแสดงความคิดเห็น ขอให้เก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์ต่อไปนั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่เกิดขึ้น มีผลต่อการตัดสินใจต่อสัญญาเช่ากับทางโรงหนังสกาลาหรือไม่อย่างไร

รศ.ดร.วิศณุ ตอบคำถามในประเด็นนี้อย่างชัดเจนว่า การออกมาแสดงความคิดเห็นหรือเรียกร้องของคอหนังนั้น ไม่ได้มีผลในการตัดสินใจ แต่ทางจุฬาฯ เองก็รับฟังความคิดเห็นต่างๆ เพื่อนๆ หลายคนก็บอกว่าอยากให้โรงหนังสกาลายังคงอยู่ต่อไป เพราะมีความผูกพัน ซึ่งก็รับฟังความเห็นไว้

อย่างไรก็ดี ยังไม่อยากให้มองไปที่สกาลาเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้มองพื้นที่โดยรวมทั้งหมดว่าสังคมกรุงเทพฯ จะได้อะไรจากพื้นที่ตรงนี้บ้าง จึงไม่อยากให้คนโฟกัสแค่สยามสแควร์ แต่จุฬาฯ ยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่อีกหลายแห่ง อย่างเช่น สามย่าน สวนหลวง เป็นต้น

...

อนาคต ‘สกาลา’ อยู่หรือไป ขึ้นอยู่กับเอกชนที่จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่

ทีมข่าวฯ ถามต่อว่า เป็นไปได้หรือไม่? หากหมดสัญญาแล้ว จุฬาฯ จะเก็บโรงหนังสกาลาไว้และบริหารงานเอง รศ.ดร.วิศณุ นิ่งคิดชั่วครู่ ก่อนให้คำตอบว่า เมื่อมองไปยังอนาคตข้างหน้า ยังไม่ทราบว่า​ โรงหนังสกาลา จะยังอยู่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับแนวความคิดของบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นผู้พัฒนารายใหม่ที่เข้ามาลงทุนปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า ส่วนจะมองว่าโรงหนังสกาลาเป็นจุดเสริมขึ้นมา หรือจำเป็นต้องรื้อออกก็ขึ้นอยู่กับผู้พัฒนา แต่อย่างไรก็ตาม มองว่ายังมีเวลาที่จะหาข้อมูลหรือพูดคุยกันอีกนาน อย่างน้อย 3 ปีจากนี้ไป

แนวคิดจุฬาฯ สร้างคุณค่าให้พื้นที่ เม็ดเงินเรื่องรอง

ด้วยความที่ว่า จุฬาฯ เองเป็นเจ้าของพื้นที่ตรงนั้น อยากจะเข้าไปพัฒนาสกาลาให้เป็นประวัติศาสตร์โรงหนังต่อไปหรือไม่? รศ.ดร.วิศณุ ให้ความเห็นว่า “ต้องยอมรับกันก่อนว่า สกาลาถึงขั้นที่เป็นประวัติศาสตร์หรือเปล่า ซึ่งผมมองว่าเป็นแค่คนกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่เป็นแบบวัดพระแก้วขนาดนั้น แต่แน่นอนว่าก็เป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงาม แต่สุดท้ายก็ต้องดูว่า มีคนที่ชื่นชอบมากน้อยแค่ไหน และคิดเห็นว่าอย่างไร มีคุณค่ามากน้อยขนาดไหน ซึ่งผู้พัฒารายใหม่เข้ามาก็ต้องสอบถามความคิดเห็นตลาด ดูว่าอยากให้คงไหมถ้าคงไว้จะเพิ่มมูลค่ากับการพัฒนาโดยรวมหรืออะไรหรือเปล่า”

...

นอกจากนี้ เป็นที่รู้กันว่าที่ดินย่านสยามสแควร์ถือว่ามีราคาสูง หลายคนจึงมองว่า หากจุฬาฯ พัฒนาพื้นที่ไปเป็นแบบอื่น อาจจะสร้างกำไรมากกว่านี้ก็ได้ รศ.ดร.วิศณุ มองว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีรายได้มากขึ้น แต่แนวคิดของจุฬาฯ คือ สร้างคุณค่า ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว ถึงแม้ว่าจะสำคัญแต่ก็คิดว่า น่าจะเป็นจุดประสงค์ที่สองรองจากการสร้างคุณค่าให้กับที่ดินและจัดกิจกรรมที่เหมาะสมมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้ติดต่อไปยังคุณนันทา ตันสัจจา ประธานโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ และเป็นเจ้าของโรงหนังสกาลา แต่คุณนันทายังไม่สะดวกให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้.

  • สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
    
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ